แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ตาม ป.รัษฎากรอันเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับแก่โจทก์ขณะเกิดมูลกรณีนี้ ผู้มีเงินได้มีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้จากเงินได้พึงประเมินที่ได้รับในระหว่างปีภาษีที่ล่วงมาแล้วภายในเดือนมีนาคมทุก ๆ ปี และต้องยื่นแบบรายการเกี่ยวกับเงินได้พึงประเมินภายในกำหนดดังกล่าวด้วย ส่วนผู้ประกอบการค้าตามบัญชีอัตราภาษีการค้ามีหน้าที่ต้องเสียภาษีการค้าจากรายรับของตนทุกเดือนภาษี และต้องยื่นแบบแสดงรายการการค้าทุกเดือนภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไป ดังนี้ แสดงว่ามูลหนี้ค่าภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของแต่ละปีได้เกิดขึ้นตั้งแต่เดือนมีนาคมของปีถัดไปส่วนมูลหนี้ค่าภาษีการค้าก็ได้เกิดขึ้นแล้วทุกเดือนภาษี นับแต่วันสุดท้ายแห่งกำหนดเวลาให้ยื่นแบบแสดงรายการการค้า มูลหนี้ค่าภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของโจทก์สำหรับปี2521 และปี 2522 จึงเกิดขึ้นตั้งแต่เดือนมีนาคม 2522 และเดือนมีนาคม 2523ตามลำดับ ส่วนมูลหนี้ค่าภาษีการค้าของโจทก์สำหรับเดือนกันยายนและตุลาคม 2521ก็เกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 15 ของเดือนตุลาคมและพฤศจิกายน 2521 ตามลำดับ การที่โจทก์ยื่นแบบแสดงรายการไม่ถูกต้อง และเจ้าพนักงานประเมินของจำเลยที่ 1ได้เรียกตรวจสอบไต่สวน แล้วทำการประเมินตามแบบแจ้งการประเมินเอกสารหมาย ล.1 ถึง ล.3 และแจ้งไปยังโจทก์ในภายหลัง ซึ่งโจทก์ได้อุทธรณ์การประเมินและคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์วินิจฉัยให้ยกอุทธรณ์ของโจทก์ เป็นเรื่องให้โจทก์ชำระค่าภาษีอากรที่เกิดขึ้นแล้วให้ถูกต้องครบถ้วน หาใช่มูลหนี้ค่าภาษีเงินได้บุคคล-ธรรมดาและภาษีการค้าดังกล่าวเพิ่งเกิดขึ้น เมื่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์มีคำวินิจฉัย หรือเจ้าพนักงานประเมินได้แจ้งการประเมิน
แม้ พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 136 จะมิได้บัญญัติถึงผลของการยกเลิกการล้มละลาย ตามมาตรา 135 (3) และ (4) เอาไว้ แต่เมื่อพิจารณาถ้อยคำในมาตรา 135 (3) และ (4) ก็เห็นได้ว่าเมื่อศาลมีคำสั่งยกเลิกการล้มละลายด้วยเหตุตามอนุมาตราดังกล่าวแล้ว ลูกหนี้ย่อมหลุดพ้นหนี้สินไปทั้งหมดกรณีจึงไม่อาจนำมาตรา 77 ซึ่งเป็นบทบัญญัติเรื่องผลของการปลดจากการล้มละลายมาใช้บังคับได้ ไม่จำต้องวินิจฉัยว่าโจทก์มีพฤติการณ์ฉ้อฉลภาษีหรือไม่อีกต่อไป
เมื่อศาลมีคำสั่งยกเลิกการล้มละลายตามมาตรา 135 (3)โจทก์จึงหลุดพ้นจากหนี้สินทั้งหมด ซึ่งรวมทั้งหนี้ภาษีอากรตามฟ้อง จำเลยที่ 2 ไม่มีอำนาจสั่งยึดหรืออายัดและขายทอดตลาดทรัพย์สินของโจทก์นำเงินมาชำระหนี้ค่าภาษีอากรตาม ป.รัษฎากร มาตรา 12