คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 45/2547

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ป.รัษฎากรฯ มิได้ให้ความหมายของคำว่า มหาวิทยาลัยหรือชั้นอุดมศึกษาไว้เป็นพิเศษ ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานฯ มหาวิทยาลัย หมายถึง สถาบันอุดมศึกษาที่มีวัตถุประสงค์ให้การศึกษาด้านวิชาการและวิชาชีพชั้นสูงหลายสาขาวิชาหรือหลายกลุ่มสาขาวิชา เพื่อให้ประกาศนียบัตร อนุปริญญา ปริญญาและประกาศนียบัตรบัณฑิตแก่ผู้สำเร็จการศึกษา รวมทั้งดำเนินการวิจัยและให้บริการทางวิชาการแก่สังคม และทำนุบำรุงศิลปะและวัฒนธรรมของชาติ ส่วนคำว่าอุดมศึกษา หมายถึงการศึกษาในระดับสูงกว่ามัธยมศึกษา เมื่อคำนึงถึงเจตนารมณ์ของมาตรา 47 แห่ง ป.รัษฎากรฯ แล้ว กฎหมายประสงค์จะแบ่งเบาภาระภาษีให้แก่ผู้มีเงินได้ซึ่งมีบุตรที่ไม่ได้เป็นผู้เยาว์และอายุยังไม่เกิน 25 ปี แต่กำลังศึกษาอยู่ในมหาวิทยาลัยหรือสถาบันการศึกษาใด ๆ ในระดับที่สูงกว่ามัธยมศึกษา อันเป็นการส่งเสริมให้ประชาชนในประเทศมีระดับการศึกษาสูงขึ้น
สำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภาเป็นสถาบันที่เนติบัณฑิตยสภาก่อตั้งขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อประสิทธิ์ประสาทและส่งเสริมการศึกษานิติศาสตร์และความรู้ความชำนาญในการประกอบวิชาชีพทางกฎหมายโดยเฉพาะ โดยมีคณะกรรมการอำนวยการศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภาซึ่งแต่งตั้งโดยอาศัยอำนาจตามข้อบังคับเนติบัณฑิตยสภาฯ ที่ออกโดยอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.เนติบัณฑิตยสภาฯ มาตรา 8 โดยคุณสมบัติของผู้ที่จะสมัครเป็นนักศึกษาของสำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภาจะต้องเป็นผู้ที่สอบไล่ได้ปริญญาตรีทางนิติศาสตร์และเมื่อสอบความรู้ชั้นเนติบัณฑิตได้จะได้รับประกาศนียบัตรเป็นเนติบัณฑิต จึงเห็นได้ชัดเจนว่า แม้สำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภาจะมิใช่มหาวิทยาลัย แต่ก็เป็นสถาบันการศึกษาในระดับที่สูงกว่ามัธยมศึกษา ดังนั้น สำนักอบอมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภาจึงเป็นชั้นอุดมศึกษาตามความหมายของมาตรา 47 แห่ง ป.รัษฎากรฯ แล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ ฉบับลงวันที่ 27 ธันวาคม 2544 และให้จำเลยคืนเงินจำนวน 1,376 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงินจำนวนดังกล่าวแก่โจทก์
จำเลยให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า “มีปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ประการแรกว่า สำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภาเป็นมหาวิทยาลัยหรือชั้นอุดมศึกษาตามความหมายของมาตรา 47 แห่งประมวลรัษฎากรหรือไม่ เห็นว่า ประมวลรัษฎากรมิได้ให้ความหมายของคำว่า มหาวิทยาลัยหรือชั้นอุดมศึกษาไว้เป็นพิเศษ ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 มหาวิทยาลัย หมายถึง สถาบันอุดมศึกษาที่มีวัตถุประสงค์ให้การศึกษาในด้านวิชาการและวิชาชีพชั้นสูงหลายสาขาวิชาหรือหลายกลุ่มสาขาวิชา เพื่อให้ประกาศนียบัตร อนุปริญญา ปริญญาและประกาศนียบัตรบัณฑิตแก่ผู้สำเร็จการศึกษา รวมทั้งดำเนินการวิจัยและให้บริการทางวิชาการแก่สังคมและทำนุบำรุงศิลปะและวัฒนธรรมของชาติ ส่วนคำว่า อุดมศึกษา หมายถึงการศึกษาในระดับสูงกว่ามัธยมศึกษา เมื่อคำนึงถึงเจตนารมณ์ของกฎหมายมาตรานี้แล้ว เห็นว่า กฎหมายประสงค์จะแบ่งเบาภาระภาษีให้แก่ผู้มีเงินได้ซึ่งมีบุตรที่ไม่ได้เป็นผู้เยาว์และอายุยังไม่เกิน 25 ปี แต่กำลังศึกษาอยู่ในมหาวิทยาลัยหรือสถาบันการศึกษาใด ๆ ในระดับที่สูงกว่ามัธยมศึกษาอันเป็นการส่งเสริมให้ประชาชนในประเทศมีระดับการศึกษาสูงขึ้น สำหรับสำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภานั้นเป็นสถาบันที่เนติบัณฑิตยสภาก่อตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อประสิทธิ์ประสาทและส่งเสริมการศึกษานิติศาสตร์และความรู้ความชำนาญในการประกอบวิชาชีพทางกฎหมายโดยเฉพาะ โดยมีคณะกรรมการอำนวยการศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภาซึ่งแต่งตั้งโดยอาศัยอำนาจตามข้อบังคับเนติบัณฑิตยสภา พ.ศ.2507 ที่ออกโดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติเนติบัณฑิตยสภา พ.ศ.2507 มาตรา 8 โดยคุณสมบัติของผู้ที่จะสมัครเป็นนักศึกษาของสำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภาจะต้องเป็นผู้ที่สอบไล่ได้ปริญญาตรีทางนิติศาสตร์และเมื่อสอบความรู้ชั้นเนติบัณฑิตได้จะได้รับประกาศนียบัตรเป็นเนติบัณฑิต จึงเห็นได้ชัดเจนว่าแม้สำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภาจะมิใช่มหาวิทยาลัยแต่ก็เป็นสถาบันการศึกษาในระดับที่สูงกว่ามัธยมศึกษา ดังนั้น สำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภาจึงเป็นชั้นอุดมศึกษาตามความหมายของมาตรา 47 แห่งประมวลรัษฎากรแล้ว โจทก์จึงมีสิทธิหักลดหย่อนบุตรสำหรับนางสาวปรียพรได้ คำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ในส่วนที่วินิจฉัยว่าโจทก์ไม่มีสิทธิหักลดหย่อนบุตรสำหรับนางสาวปรียพรและโจทก์ต้องเสียภาษีเงินได้เพิ่มเติมและเงินเพิ่มรวมเป็นเงิน 639.37 บาท จึงไม่ชอบ โจทก์มีสิทธิเรียกเงินค่าภาษีเพิ่มเติมและเงินเพิ่มจำนวน 1,376 บาท พร้อมดอกเบี้ยที่ได้ชำระให้แก่จำเลยไปแล้วคืนได้พร้อมดอกเบี้ย แต่ดอกเบี้ยต้องไม่เกินจำนวนภาษีอากรที่ได้รับคืนตามมาตรา 4 ทศ วรรคสอง แห่งประมวลรัษฎากร…”
พิพากษากลับ ให้เพิกถอนคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ เลขที่ สภ.2/7260/ป.4/1/45/94 ฉบับลงวันที่ 27 ธันวาคม 2544 เฉพาะในส่วนที่ให้เรียกเก็บเงินภาษี 375 บาท และเงินเพิ่มอีก 264.37 บาท รวมเป็นเงิน 639.37 บาท จากโจทก์สำหรับภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาปีภาษี 2539 ให้จำเลยคืนเงินจำนวน 1,376 บาท ที่โจทก์ชำระเป็นค่าภาษีเงินได้ตามการประเมินพร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยจะชำระเสร็จ แต่ไม่เกินจำนวนเงินภาษีที่ได้รับคืน

Share