คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8806/2549

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 340 วรรคสอง, 340 ตรี ประกอบมาตรา 83 จำคุก 6 ปี ให้เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นส่งจำเลยไปฝึกและอบรมแทน มีกำหนด 2 ปี ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 337 วรรคสอง (2) ประกอบมาตรา 83 ให้ส่งจำเลยไปฝึกและอบรมแทน มีกำหนดขั้นต่ำ 6 เดือน ขั้นสูง 1 ปี กรณีเป็นการแก้ไขเฉพาะบทลงโทษและแก้ไขระยะเวลาฝึกและอบรมซึ่งไม่ใช่โทษตาม ป.อ. มาตรา 18 จึงเป็นการแก้ไขเล็กน้อยและต้องถือว่าศาลล่างทั้งสองพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกินห้าปี ต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง ประกอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2534 มาตรา 124 ที่จำเลยฎีกาว่า พยานโจทก์มีส่วนได้เสียในคดี รับฟังไม่ได้ว่าจำเลยกระทำความผิดฐานกรรโชกทรัพย์ เป็นการโต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์ภาค 9 อันเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง จึงต้องห้ามฎีกาตามบทกฎหมายดังกล่าว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340, 340 ตรี, 33 ริบมีดดาบของกลาง และให้จำเลยคืนหรือชดใช้เงินจำนวน 60 บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340 (ที่ถูกมาตรา 340 วรรคสอง), 340 ตรี ประกอบมาตรา 83 ขณะกระทำผิดจำเลยอายุ 17 ปีเศษ จึงลดมาตราส่วนโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 76 จำคุก 9 ปี ทางพิจารณาของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา เป็นเหตุบรรเทาโทษ เห็นสมควรลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 6 ปี อาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2534 มาตรา 104 (2) ให้เปลี่ยนโทษจำคุกจำเลยเป็นส่งจำเลยไปฝึก (ที่ถูกฝึกและอบรม) ที่ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนเขต 9 (จังหวัดสงขลา) มีกำหนด 2 ปี นับแต่วันพิพากษา ริบมีดดาบของกลาง และให้จำเลยคืนหรือชดใช้เงินจำนวน 60 บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 9 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวพิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 337 วรรคสอง (2) ประกอบมาตรา 83 ขณะกระทำความผิดจำเลยอายุ 17 ปีเศษ เห็นสมควรลดมาตราส่วนโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 76 กึงหนึ่ง จำคุก 1 ปี 6 เดือน ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 หนึ่งในสาม คงจำคุก 1 ปี อาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2534 มาตรา 104 (2) ให้เปลี่ยนโทษจำคุกจำเลยเป็นส่งจำเลยไปฝึกและอบรมที่ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนเขต 9 (จังหวัดสงขลา) มีกำหนดขั้นต่ำ 6 เดือน ขั้นสูง 1 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340 วรรคสอง, 340 ตรี ประกอบมาตรา 83 จำคุก 6 ปี ให้เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นส่งจำเลยไปฝึกและอบรมที่ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนเขต 9 (จังหวัดสงขลา) มีกำหนด 2 ปี ศาลอุทธรณ์ภาค 9 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวพิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 337 วรรคสอง (2) ประกอบมาตรา 83 จำคุก 1 ปี ให้เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นส่งจำเลยไปฝึกและอบรมที่ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนเขต 9 (จังหวัดสงขลา) มีกำหนดขั้นต่ำ 6 เดือน ขั้นสูง 1 ปี กรณีเป็นการแก้เฉพาะบทลงโทษและแก้ไขระยะเวลาการฝึกและอบรมซึ่งไม่ใช่โทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 18 จึงเป็นการแก้ไขเล็กน้อยและต้องถือว่าศาลล่างทั้งสองพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกินห้าปี ต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคหนึ่ง ประกอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2534 มาตรา 124 ที่จำเลยฎีกาว่า โจทก์ไม่มีพยานบุคคลภายนอกซึ่งไม่มีส่วนได้เสียในคดี รับฟังไม่ได้ว่าจำเลยกระทำความผิดฐานกรรโชกทรัพย์ เป็นการโต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์ภาค 9 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวซึ่งล้วนเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง จึงต้องห้ามฎีกาตามบทกฎหมายดังกล่าว
พิพากษายกฎีกาจำเลย

Share