คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9373/2550

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตามสัญญาให้เช่าสถานีบริการ คู่สัญญาตกลงกันว่า ในกรณีผู้เช่าไม่ปฏิบัติตามสัญญาข้อหนึ่งข้อใด อันเป็นเหตุให้ ปตท. ได้รับความเสียหาย ปตท. จะมีหนังสือบอกกล่าวให้ผู้เช่าปฏิบัติให้ถูกต้องตามสัญญา หากผู้เช่าเพิกเฉยไม่ยอมปฏิบัติตามหรือปฏิบัติแล้วแต่ยังไม่ถูกต้อง ปตท. มีสิทธิบอกเลิกสัญญา ดังนั้น โจทก์ผู้ให้เช่าต้องปฏิบัติตามข้อสัญญาคือต้องมีหนังสือบอกกล่าวให้จำเลยผู้เช่าปฏิบัติให้ถูกต้องตามสัญญาหลังจากนั้นจึงบอกเลิกสัญญากับจำเลยได้ แต่ไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้มีหนังสือบอกกล่าวให้จำเลยปฏิบัติให้ถูกต้อง ในเอกสารหมาย จ.14 ก็ไม่มีข้อความให้จำเลยปฏิบัติให้ถูกต้องตามสัญญา หนังสือที่มีไปถึงจำเลยเป็นการบอกเลิกสัญญาที่ไม่ชอบด้วยข้อตกลงในสัญญาให้เช่าสถานีบริการ ต้องถือว่าสัญญาให้เช่าสถานีบริการยังไม่เลิกกัน โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องเรียกค่าเสียหายหรือค่าปรับจากจำเลยทั้งสองโดยอาศัยสัญญาฉบับนี้ได้ แม้จำเลยทั้งสองจะไม่ได้ให้การต่อสู้เรื่องอำนาจฟ้องของโจทก์ไว้ แต่เป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5), 246, 247 ศาลฎีกาหยิบยกขึ้นวินิจฉัยเองได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ศาลบังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 571,083.65 บาท และชำระดอกเบี้ยของต้นเงิน 384,533.40 บาท อัตราร้อยละ 2 ต่อเดือน นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสองให้การว่า ตามสัญญามีข้อตกลงว่ากรณีผิดสัญญาให้มีการใช้ราคาทรัพย์ ค่าปรับ แต่โจทก์กลับมาฟ้องให้จำเลยทั้งสองชำระค่าเช่า ค่าปรับและค่าธรรมเนียม จำเลยไม่อาจต่อสู้คดีได้ ฟ้องโจทก์จึงเป็นฟ้องเคลือบคลุม ข้อกำหนดในสัญญาที่โจทก์นำมาฟ้องเป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม การที่โจทก์เรียกให้จำเลยทั้งสองชำระดอกเบี้ยร้อยละ 2 ต่อเดือน เป็นอัตราดอกเบี้ยสูงเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด ดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมที่โจทก์ฟ้องให้จำเลยทั้งสองชำระเป็นโมฆะทั้งหมด โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องให้จำเลยทั้งสองชำระค่าปรับเนื่องจากจำเลยทั้งสองไม่ได้นำสินค้าโจทก์มาใช้ โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกให้จำเลยทั้งสองชำระค่าขาดประโยชน์ ค่าเสียหายของโจทก์เป็นเพียงประมาณการและโจทก์คิดค่าเสียหายเอาเองตามความพอใจ และเป็นความเสียหายที่โจทก์คาดเดาเอาเอง โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกค่าปรับจากจำเลยทั้งสอง จำเลยที่ 1 ค้างชำระค่าเช่าโจทก์เพียง 163,433.40 บาท และโจทก์คิดดอกเบี้ยจากค่าเช่าที่ค้างได้ในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี โจทก์ไม่มีสิทธิคิดค่าปรับค่าเช่าที่ค้างชำระอัตราร้อยละ 2 ต่อเดือน จำเลยที่ 1 จะต้องชำระค่าเช่าให้โจทก์เท่านั้น จำเลยที่ 1 ไม่อาจปฏิบัติตามคำรับรองเรื่องซื้อผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมได้เนื่องจากเหตุสุดวิสัย โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกค่าปรับและค่าธรรมเนียมจากจำเลยทั้งสอง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 23,433.40 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 12 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้อง (วันที่ 28 กันยายน 2544) เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 5,000 บาท เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้เท่าทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์อุทธรณ์
ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 3 บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ยื่นคำร้องขอเข้าสวมสิทธิเป็นคู่ความแทน โจทก์ จำเลยทั้งสองไม่ค้าน ศาลชั้นต้นอนุญาตให้ผู้ร้องเข้าดำเนินคดีแทนโจทก์ได้
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 100,000 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 12 ต่อปี นับแต่วันที่ 31 พฤษภาคม 2542 ไปจนกว่าจะชำระเสร็จ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องต้นว่า เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2541 จำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่าสถานีบริการกับโจทก์ โดยจำเลยที่ 1 ตกลงเช่าสถานีบริการน้ำมันซึ่งตั้งอยู่บนที่ดินหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 3182, 3183 เพื่อใช้ประกอบธุรกิจสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิง และจำเลยที่ 1 จะซื้อผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมของโจทก์ไปจำหน่ายในปริมาณเดือนละไม่น้อยกว่าที่ตกลงในสัญญา หากจำเลยผิดสัญญาจำเลยจะต้องชำระค่าปรับและดอกเบี้ยระหว่างผิดนัดให้โจทก์ ต่อมาโจทก์อ้างว่าจำเลยที่ 1 ผิดสัญญาไม่ชำระค่าเช่า และซื้อผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมไปจำหน่ายน้อยกว่าที่ตกลงกันไว้ โจทก์มีหนังสือบอกเลิกสัญญากับจำเลยและฟ้องให้จำเลยชำระค่าเช่า และเงินค่าปรับตามสัญญาแก่โจทก์ ก่อนจะวินิจฉัยฎีกาของโจทก์ว่า หลังจากโจทก์บอกเลิกสัญญาให้เช่าสถานีบริการกับจำเลยที่ 1 แล้ว จำเลยทั้งสองจะต้องชำระเงินให้โจทก์เพียงใด ศาลฎีกาเห็นควรหยิบยกข้อที่ว่า โจทก์บอกเลิกสัญญาให้เช่าสถานีบริการกับจำเลยที่ 1 โดยชอบแล้วหรือไม่ขึ้นวินิจฉัยก่อน ศาลฎีกาเห็นว่า ในสัญญาให้เช่าสถานีบริการที่โจทก์ทำกับจำเลยที่ 1 (เอกสารหมาย จ.7) ข้อ 15 วรรคสอง คู่สัญญาตกลงกันว่า “ในกรณีที่ผู้เช่าไม่ปฏิบัติตามสัญญาข้อหนึ่งข้อใด อันเป็นเหตุให้ ปตท. ได้รับความเสียหาย ปตท. จะมีหนังสือบอกกล่าวให้ผู้เช่าปฏิบัติให้ถูกต้องตามสัญญา หากผู้เช่าเพิกเฉยไม่ยอมปฏิบัติตามหรือปฏิบัติแล้วแต่ยังไม่ถูกต้อง ปตท. มีสิทธิบอกเลิกสัญญาและริบหลักประกันหรือเรียกร้องจากธนาคารผู้ออกหนังสือค้ำประกันสัญญาตามสัญญาข้อ 13 ได้…” ดังนั้น โจทก์ต้องปฏิบัติตามข้อ 15 แห่งสัญญาคือต้องมีหนังสือบอกกล่าวให้จำเลยปฏิบัติให้ถูกต้องตามสัญญาหลังจากนั้นจึงบอกเลิกสัญญากับจำเลยที่ 1 ได้ แต่ไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้มีหนังสือบอกกล่าวให้จำเลยที่ 1 ปฏิบัติให้ถูกต้อง ในเอกสารหมาย จ.14 ก็ไม่มีข้อความให้จำเลยที่ 1 ปฏิบัติให้ถูกต้องตามสัญญา หนังสือที่มีไปถึงจำเลยที่ 1 (เอกสารหมาย จ.14) เป็นการบอกเลิกสัญญาที่ไม่ชอบด้วยข้อตกลงในสัญญาให้เช่าสถานีบริการ ต้องถือว่าสัญญาให้เช่าสถานีบริการ (เอกสารหมาย จ.7) ยังไม่เลิกกัน โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องเรียกค่าเสียหายหรือค่าปรับจากจำเลยทั้งสองโดยอาศัยสัญญาฉบับนี้ได้ แม้จำเลยทั้งสองจะไม่ได้ให้การต่อสู้เรื่องอำนาจฟ้องของโจทก์ไว้ แต่เป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5), 246, 247 และเมื่อโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเสียแล้วฎีกาของโจทก์ก็ไม่จำต้องวินิจฉัยอีกต่อไป อนึ่ง ขณะที่บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ยื่นคำร้องขอเข้าสวมสิทธิเป็นคู่ความแทนโจทก์นั้นอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 3 ศาลชั้นต้นไม่มีอำนาจให้อนุญาต จึงให้เพิกถอนเสีย แต่เมื่อตามคำร้องของผู้ร้องนั้นได้แนบหนังสือรับรองและเอกสารที่เกี่ยวข้องมาท้ายคำร้องรับฟังได้ตามคำร้อง จำเลยทั้งสองไม่ค้าน ศาลฎีกาจึงเห็นสมควรอนุญาตให้ผู้ร้องเข้าดำเนินคดีแทนโจทก์ได้
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ.

Share