แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
แม้ศาลแรงงานจะฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์ประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้จำเลยซึ่งเป็นนายจ้างได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรงตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 119 (3) แต่เมื่อจำเลยมิได้ระบุเหตุดังกล่าวไว้ในหนังสือบอกเลิกสัญญาจ้าง จำเลยจึงยกเหตุตามมาตรา 119 ดังกล่าวขึ้นอ้างเพื่อปฏิเสธความรับผิดตามมาตรา 67 ไม่ได้ และยังต้องถือว่าจำเลยเลิกจ้างโดยโจทก์มิได้มีความผิดตามมาตรา 119 จำเลยจึงต้องจ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีและวันหยุดพักผ่อนประจำปีสะสมตามมาตรา 67 ให้แก่โจทก์
การพิจารณาว่าจำเลยจะต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า หรือจะต้องจ่ายค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมหรือไม่ เพียงใด นั้น จะต้องพิจารณาตาม ป.พ.พ. มาตรา 582 และมาตรา 583 หรือตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 49 แล้วแต่กรณี จะนำ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 17 วรรคสาม ที่ห้ามนายจ้างยกเหตุผลซึ่งมิได้ระบุไว้ในหนังสือบอกเลิกสัญญาจ้างขึ้นอ้างในภายหลังมาใช้เพื่อตัดสิทธิของนายจ้างมิให้ยกขึ้นต่อสู้ในส่วนของสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมด้วยไม่ได้ เมื่อโจทก์กระทำความผิดอย่างร้ายแรงตาม ป.พ.พ. มาตรา 583 และโจทก์ประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้นายจ้างได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรงตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 119 (3) จำเลยจึงไม่จำต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์ และการเลิกจ้างนี้ก็มิใช่การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชย ค่าจ้างค้างจ่าย เงินเพิ่มและดอกเบี้ยจำนวน 46,031,093.08 บาท และ 2,876,943.32 บาท ตามลำดับ พร้อมเงินเพิ่มและดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี จนกว่าจะชำระเสร็จ ให้จำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมและค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีพร้อมดอกเบี้ย จำนวน 616,825.98 บาท 3,289,738.54 บาท และ 280,998.59 บาท ตามลำดับ พร้อมดอกเบี้ยจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าจ้างค้างจ่ายจำนวน 177,100 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 20 ตุลาคม 2544 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และจ่ายค่าชดเชยจำนวน 2,833,600 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 16 ตุลาคม 2544 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ คำขออื่นให้ยก
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด โจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้างจำเลยเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2537 ครั้งสุดท้ายทำงานตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ ค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 354,200 บาท กำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันสิ้นเดือน ต่อมาวันที่ 16 ตุลาคม 2544 คณะกรรมการของจำเลยมีมติเลิกจ้างโจทก์แล้ววินิจฉัยว่า โจทก์ในฐานะกรรมการผู้จัดการของจำเลยซึ่งเป็นผู้มีอำนาจในการอนุมัติการจ่ายเงินเดือนของพนักงาน ย่อมมีหน้าที่ในการตรวจสอบหลักฐานเกี่ยวกับเงินเดือนให้ถูกต้องหากโจทก์ตรวจสอบหลักฐานโดยตลอด นายวุฒิชัย คงไม่สามารถกระทำความผิดยักยอกเงินของจำเลยไปได้ตั้งแต่ปี 2539 ถึงปี 2543 จำนวนประมาณ 50 ครั้ง เป็นเงินประมาณ 10,000,000 บาท การที่นายวุฒิชัยยักยอกเงินของจำเลยไปได้จึงถือเป็นความบกพร่องของโจทก์ อันถือได้ว่าเป็นการกระทำความผิดอย่างร้ายแรง ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 583 และยังถือได้ว่าโจทก์ประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้จำเลยซึ่งเป็นนายจ้างได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 119 (3) แต่จำเลยมิได้ระบุเหตุดังกล่าวไว้ในหนังสือเลิกจ้างจำเลยจึงไม่อาจยกเป็นข้อต่อสู้ที่จะไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยได้ ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 17 จำเลยไม่จ่ายค่าชดเชยโดยอ้างว่าโจทก์กระทำความผิด จึงไม่ใช่กรณีจงใจไม่จ่ายค่าชดเชยโดยปราศจากเหตุผลอันสมควร โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกเงินเพิ่ม คงมีสิทธิเรียกดอกเบี้ยระหว่างผิดนัดอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันเลิกจ้าง ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 9, 118 จำเลยยังค้างจ่ายค่าจ้างระหว่างวันที่ 1 ถึง 16 ตุลาคม 2544 จำเลยไม่จ่ายค่าจ้างเนื่องจากกรรมการชุดใหม่ของจำเลยเป็นชาวต่างประเทศซึ่งกฎหมายระบุว่า หากลูกจ้างกระทำความผิดร้ายแรงนายจ้างมีสิทธิไม่จ่ายค่าจ้างได้ การที่จำเลยไม่จ่ายค่าจ้างแก่โจทก์จึงไม่ใช่จงใจไม่จ่ายค่าจ้างโดยปราศจากเหตุผลอันสมควร โจทก์จึงมีสิทธิเรียกดอกเบี้ยระหว่างผิดนัดเพียงอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 20 ตุลาคม 2544 เป็นต้นไป ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 9, 70 โจทก์กระทำความผิดร้ายแรงประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้นายจ้างได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี วันหยุดพักผ่อนประจำปีสะสม และไม่ใช่การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหาย
ที่โจทก์อุทธรณ์ว่า หนังสือเลิกจ้างมิได้ระบุเหตุผลว่า โจทก์ประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้จำเลยได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง จำเลยจึงยกเหตุดังกล่าวขึ้นต่อสู้เพื่อไม่ต้องจ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี วันหยุดพักผ่อนประจำปีสะสมสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมไม่ได้นั้น เห็นว่า พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 67 บัญญัติว่า “ในกรณีที่นายจ้างเลิกจ้างโดยลูกจ้างมิได้มีความผิดตามาตรา 119 ให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีในปีที่เลิกจ้างตามส่วนของวันหยุดพักผ่อนประจำปีที่ลูกจ้างพึงมีสิทธิและรวมทั้งวันหยุดพักผ่อนประจำปีสะสมตามมาตรา 30” และมาตรา 17 วรรคสาม บัญญัติว่า “ในกรณีที่นายจ้างเป็นฝ่ายบอกเลิกสัญญาจ้าง ถ้านายจ้างไม่ได้ระบุเหตุผลใว้ในหนังสือบอกเลิกสัญญาจ้าง นายจ้างจะยกเหตุตามมาตรา 119 ขึ้นอ้างในภายหลังไม่ได้” คดีนี้แม้ศาลแรงงานกลางจะฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์ประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้จำเลยซึ่งเป็นนายจ้างได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 119 (3) แต่เมื่อจำเลยมิได้ระบุเหตุผลดังกล่าวไว้ในหนังสือบอกเลิกสัญญาจ้าง จำเลยจึงยกเหตุตามมาตรา 119 ดังกล่าวขึ้นอ้างเพื่อปฏิเสธความรับผิดตามมาตรา 67 ไม่ได้ และยังต้องถือว่าจำเลยเลิกจ้างโดยโจทก์มิได้มีความผิดตามมาตรา 119 จำเลยจึงต้องจ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีและวันหยุดพักผ่อนประจำปีสะสมตามมาตรา 67 ให้แก่โจทก์…
ที่โจทก์อุทธรณ์ขอให้จำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมด้วยนั้น เห็นว่า จำเลยจะต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้แก่โจทก์หรือไม่ เพียงใด เป็นเรื่องที่จะต้องพิจารณาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 582 และมาตรา 583 และจำเลยจะต้องจ่ายค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมหรือไม่ เป็นเรื่องที่จะต้องพิจารณาตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 49 จึงนำบทบัญญัติของพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 17 วรรคสาม ที่ห้ามนายจ้างยกเหตุผลซึ่งมิได้ระบุไว้ในหนังสือบอกเลิกสัญญาจ้างขึ้นอ้างในภายหลังมาใช้เพื่อตัดสิทธิของนายจ้างมิให้ยกขึ้นต่อสู้ในส่วนของสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมด้วยไม่ได้ เมื่อศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่าโจทก์กระทำความผิดอย่างร้ายแรงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 583 และโจทก์ประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้นายจ้างได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรงตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 119 (3) จำเลยจึงไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์ และการเลิกจ้างนี้ก็มิใช่การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม จำเลยจึงไม่จำต้องจ่ายค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมให้แก่โจทก์ อุทธรณ์ของให้โจทก์ข้อนี้ฟังขึ้นบางส่วน…
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยจ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีและวันหยุดพักผ่อนประจำปีสะสมจำนวน 242,036.66 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่16 ตุลาคม 2544 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง.