แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
บิดาโจทก์อนุญาตให้บิดาจำเลยที่ 1 ถึงที่ 9 ใช้ที่พิพาทสร้างโรงเรียนสอนศาสนาอิสลามมาตั้งแต่ประมาณปี 2487 จนกระทั่งบิดาโจทก์ถึงแก่ความตายในปี 2517 และเมื่อบิดาจำเลยที่ 1 ถึงที่ 9ถึงแก่ความตายในปี 2520 โจทก์ก็ยังอนุญาตให้จำเลยที่ 1 สอนศาสนาในที่พิพาทต่อไป เป็นการที่บิดาโจทก์และโจทก์อุทิศที่พิพาทให้ใช้เป็นโรงเรียนสอนศาสนาอิสลามตามหลักของศาสนาอิสลามทำให้ผู้ใดจะยึดถือครอบครองเป็นเจ้าของที่พิพาทไม่ได้ ที่พิพาทจึงเป็นที่ซึ่งใช้เพื่อสาธารณประโยชน์ของชาวมุสลิมและตกเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินทันทีที่บิดาโจทก์อุทิศให้ โดยไม่จำต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องขับไล่และเป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จำเลยที่ 1ที่ 2 และที่ 4 ถึงที่ 10 ไม่ได้ยกขึ้นต่อสู้ไว้ในคำให้การ ศาลก็ยกขึ้นวินิจฉัยได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 7621 และ 7622 ตำบลดอกไม้ อำเภอประเวศ กรุงเทพมหานครเมื่อปี 2489 นายนุด กริสและ บิดาโจทก์อนุญาตให้นายอุตส่าห์ ธรรมดีบิดาจำเลยที่ 1 ใช้ที่ดินทางด้านทิศเหนือเนื้อที่ประมาณ 2 ไร่ ปลูกสร้างโรงเรียนธรรมดีนูรู้ลอิสลามและบ้านเลขที่ 57 อยู่อาศัย กับปลูกต้นมะพร้าวในที่ดินดังกล่าว เมื่อนายอุตส่าห์ถึงแก่ความตายในปี 2520 จำเลยที่ 1ดำเนินกิจการโรงเรียนและครอบครองบ้านเลขที่ 57 ต่อมา พร้อมกับจำเลยที่ 2 ถึงที่ 9 โดยจำเลยที่ 10 ตั้งสำนักงานอยู่ที่บ้านเลขที่ 57 ด้วยโจทก์บอกให้จำเลยทั้งสิบออกจากที่ดินแล้วจำเลยทั้งสิบไม่ยอมออกทำให้โจทก์เสียหายเดือนละ 50,000 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสิบพร้อมบริวารรื้อถอนบ้านเลขที่ 57 อาคารโรงเรียนและต้นไม้ออกจากที่ดินของโจทก์และให้ใช้ค่าเสียหายเดือนละ 50,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยทั้งสิบและบริวารจะรื้อถอนบ้านอาคารโรงเรียนและต้นไม้ออกไปจากที่ดินของโจทก์
ระหว่างพิจารณาคู่ความแถลงร่วมกันว่า จำเลยที่ 3 ถึงแก่ความตายก่อน โจทก์ฟ้อง ศาลชั้นต้นสั่งจำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 3
จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ถึงที่ 10 ให้การว่า บิดาโจทก์ยกที่ดินให้บิดาจำเลยที่ 1 ถึงที่ 9 สร้างโรงเรียนสอนศาสนาอิสลามโดยถูกต้องตามหลักศาสนาอิสลาม ต่อมาบิดาจำเลยที่ 1 ถึงที่ 9 ปลูกสร้างอาคารโรงเรียนธรรมดีนูรู้ลอิสลามและบ้านเลขที่ 57 อยู่อาศัยและครอบครองที่พิพาทตลอดมาโดยไม่มีผู้ใดคัดค้านจนกระทั่งปี 2520 บิดาจำเลยที่ 1ถึงที่ 9 ถึงแก่ความตาย จำเลยที่ 1 ถึงที่ 9 ได้ครอบครองที่พิพาทต่อมาโดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของกว่า 10 ปีแล้วจำเลยที่ 1 ถึงที่ 9 ได้กรรมสิทธิ์แล้วโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่พิพาทและมีอำนาจฟ้องหรือไม่ โจทก์เบิกความว่าเมื่อประมาณปี 2484 ถึงปี 2487 บิดาโจทก์อนุญาตให้บิดาจำเลยที่ 1 ถึงที่ 9 อาศัยใช้ที่ดินประมาณ 1 ไร่ สร้างโรงเรียนสอนศาสนาอิสลาม แล้วช่วยกันสร้างโรงเรียนและบ้านพักครูขึ้น บ้านและโรงเรียนที่สร้างขึ้นนี้ไม่ได้สร้างขึ้นเพื่อเป็นกรรมสิทธิ์ของบิดาจำเลยที่ 1 ถึงที่ 9แต่สร้างขึ้นให้เป็นส่วนกลางของศาสนา และยังเบิกความอีกว่าชาวมุสลิมส่วนมากให้ใช้ที่ดินของตนสร้างมัสยิด สร้างสุสานและสร้างโรงเรียนสอนศาสนาที่ดินที่ให้สร้างนี้จะนำไปซื้อขาย จำหน่าย จำนอง จำนำ ไม่ได้ทั้งสิ้น โดยถือว่าเป็นที่ดินอยู่ในฟีซาบิลล่ะห์ คืออยู่ในแนวทางศาสนาอิสลาม ใครจะยึดถือเป็นเจ้าของไม่ได้หรือใครจะครอบครองเป็นเจ้าของก็ไม่ได้ จากคำเบิกความของโจทก์ดังกล่าว ศาลฎีกาเห็นว่า การที่บิดาโจทก์อนุญาตให้บิดาจำเลยที่ 1ถึงที่ 9 ใช้ที่พิพาทสร้างโรงเรียนสอนศาสนาอิสลามมาตั้งแต่ประมาณปี 2487จนกระทั่งบิดาโจทก์ถึงแก่ความตายในปี 2517 และเมื่อบิดาจำเลยที่ 1 ถึงที่ 9ถึงแก่ความตายในปี 2520 โจทก์ก็ยังอนุญาตให้จำเลยที่ 1 สอนศาสนาในที่พิพาทต่อไปนั้น เป็นการที่บิดาโจทก์และโจทก์อุทิศที่พิพาทให้ใช้เป็นโรงเรียนสอนศาสนาอิสลามตามหลักของศาสนาอิสลาม อันมีผลทำให้ผู้ใดจะยึดถือครอบครองเป็นเจ้าของที่พิพาทไม่ได้ ที่พิพาทจึงเป็นที่ซึ่งใช้เพื่อสาธารณประโยชน์ของชาวมุสลิมและตกเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินทันทีที่บิดาโจทก์อุทิศให้โดยไม่จำต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ เมื่อที่พิพาทตกเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1304(2)แล้ว โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ปัญหาข้อนี้ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่เห็นว่า เป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จำเลยที่ 1ที่ 2 และที่ 4 ถึงที่ 10 จะไม่ได้ยกขึ้นต่อสู้ไว้ในคำให้การ ศาลฎีกาก็หยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142(5)ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้ยกฟ้องนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน