แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินที่จำเลยที่ 1 พิมพ์ลายนิ้วมือไว้โดยไม่มีพยานรับรองลายพิมพ์นิ้วมือใช้บังคับจำเลยที่ 1 ไม่ได้ แต่โจทก์ผู้ซื้อได้วางมัดจำเป็นเงินไว้ซึ่งถือว่าเป็นการวางประจำตามกฎหมาย โจทก์จึงฟ้องบังคับคดีแก่จำเลยที่ 1 ให้โอนขายที่ดินให้โจทก์ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 456 วรรคสอง ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยทั้งสิบห้าวันร่วมกันโอนที่ดินให้โจทก์ตามสัญญาจะซื้อจะขายโดยไม่บังคับให้โจทก์ชำระเงินค่าที่ดินที่ค้างให้จำเลย ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 369 แม้จำเลยจะไม่อุทธรณ์ฎีกาในข้อนี้ ศาลฎีกาก็พิพากษาแก้ไขให้ถูกต้องได้ เพราะเป็นเรื่องการชำระหนี้ตามสัญญาต่างตอบแทน
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 นายเชย โพธิ์ศรี และนายชื่น โพธิ์ศรี ได้ร่วมกันทำสัญญาจะขายที่ดินโฉนดเลขที่ 1962ให้แก่โจทก์ในราคา 400,000 บาท โจทก์ได้วางมัดจำไว้250,000 บาท ส่วนราคาที่ดินที่เหลือ 150,000 บาท ตกลงกันว่าจะชำระในวันจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้โจทก์หลังจากจำเลยที่ 1ที่ 2 นายชื่น โพธิ์ศรี นายเชย โพธิ์ศรี ดำเนินคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 518-521/2520 หมายเลขแดงที่ 632-635/2520ของศาลชั้นต้นถึงที่สุด เมื่อคดีดังกล่าวถึงที่สุดแล้วจำเลยที่ 1ที่ 2 นายเชย โพธิ์ศรี และนายชื่น โพธิ์ศรี ไม่ไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้โจทก์ โจทก์ทวงถามหลายครั้ง จำเลยกับพวกก็เพิกเฉย ต่อมานายชื่น โพธิ์ศรี ถึงแก่กรรม จำเลยที่ 3 ที่ 4ที่ 5 ที่ 6 ที่ 7 และที่ 8 ซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมของนายชื่น โพธิ์ศรี ต้องร่วมกันรับผิดต่อโจทก์ และต่อมานายเชย โพธิ์ศรี ได้ถึงแก่กรรม จำเลยที่ 9 ที่ 10 ที่ 11ที่ 12 ที่ 13 ที่ 14 และที่ 15 ซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมของนายเชย โพธิ์ศรี ต้องร่วมกันรับผิดต่อโจทก์ ขอให้บังคับให้จำเลยทั้งสิบห้าคนร่วมกันโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 1962หากไม่ยอมโอนให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาของจำเลยหากนิติกรรมไม่เปิดช่องให้ทำการโอนได้ ให้จำเลยทั้งสิบห้าคนร่วมกันคืนเงินมัดจำจำนวน 250,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15ต่อปี นับแต่วันที่ 11 มกราคม 2521 ถึงวันฟ้องเป็นเวลา 7 ปี 7 เดือนเป็นจำนวน 284,375 บาท รวมเป็นเงิน 534,375 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ในต้นเงิน 250,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 3 ที่ 4 ที่ 8 ที่ 13 ที่ 14 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา ส่วนจำเลยที่ 2 ที่ 5 ที่ 10 ที่ 11 ที่ 12ที่ 15 ขาดนัดยื่นคำให้การ
จำเลยที่ 1 ที่ 7 และที่ 9 ให้การว่า จำเลยที่ 1 ไม่เคยตกลงจะขายที่ดินตามฟ้องให้โจทก์ สัญญาท้ายฟ้องจำเลยที่ 1 พิมพ์ลายนิ้วมือไม่มีพยานรับรองตามที่กฎหมายกำหนดจึงไม่ผูกพันจำเลยที่ 1 ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสิบห้าร่วมกันโอนขายที่ดินโฉนดเลขที่ 1962 ตำบลคลองด่าน อำเภอบางบ่อ จังหวัดสมุทรปราการ ให้โจทก์ หากจำเลยไม่ยอมโอนขายให้โจทก์ให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสิบห้าหากจำเลยไม่อาจโอนขายให้โจทก์ได้ ให้จำเลยร่วมกันคืนเงินมัดจำจำนวน 250,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 31 ธันวาคม 2523 อันเป็นวันที่ผลคดีที่นายชม โพธิ์ศรี ฟ้องจำเลยที่ 1 ที่ 2 นายเชย โพธิ์ศรีและนายชื่น โพธิ์ศรี ถึงที่สุด จนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่โจทก์คำขอนอกจากนี้ให้ยก ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยที่ 1 ที่ 7 และที่ 9 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 กับพวกได้ตกลงทำสัญญาซื้อขายและสัญญาจะซื้อขายหรือสัญญาวางมัดจำที่ดินพิพาทตามเอกสารท้ายฟ้องกับโจทก์จริง คงมีปัญหาที่จำเลยที่ 1อ้างว่าจำเลยที่ 1 พิมพ์ลายนิ้วมือในสัญญาดังกล่าวโดยไม่มีพยานรับรองลายพิมพ์นิ้วมือตามที่กฎหมายกำหนด สัญญาไม่ผูกพันจำเลยที่ 1 นั้นเห็นว่า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 456วรรคสอง บัญญัติว่า “อนึ่ง สัญญาจะขายหรือจะซื้อทรัพย์สินอย่างใด ๆดังว่ามานี้ก็ดี คำมั่นในการซื้อขายทรัพย์สินเช่นว่านั้นก็ดี ถ้ามิได้มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างหนึ่งอย่างใดลงลายมือชื่อฝ่ายผู้ต้องรับผิดเป็นสำคัญ หรือได้วางประจำไว้ หรือได้ชำระหนี้บางส่วนแล้วท่านว่าจะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่” ดังนี้ แม้สัญญาซื้อขายและสัญญาจะซื้อขายหรือสัญญาวางมัดจำที่จำเลยที่ 1 พิมพ์ลายนิ้วมือไว้จะใช้บังคับจำเลยที่ 1 ไม่ได้ก็ตาม แต่โจทก์ผู้ซื้อได้วางมัดจำเป็นเงินรวม 250,000 บาท ซึ่งถือว่าเป็นการวางประจำตามกฎหมายจำเลยที่ 1 กับพวกได้รับเงินมัดจำดังกล่าวไว้แล้วตามที่โจทก์นำสืบไว้ ซึ่งจำเลยที่ 1 ไม่ได้นำสืบแก้แต่ประการใด ฟังได้ว่าโจทก์ได้วางเงินมัดจำไว้จริง สำหรับจำเลยที่ 1 แม้สัญญาจะซื้อขายจะใช้บังคับไม่ได้ แต่ก็ได้มีการวางมัดจำไว้แล้ว ดังนั้นโจทก์จึงฟ้องบังคับคดีแก่จำเลยที่ 1 ได้ ทั้งนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 456 วรรคสอง จำเลยที่ 1จึงต้องผูกพันตามสัญญาและต้องโอนขายที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ตามฟ้อง…
สรุปแล้ว ฎีกาของจำเลยที่ 1 ที่ 7 และที่ 9 ฟังไม่ขึ้น แต่ที่ศาลล่างทั้งสองได้พิพากษาให้จำเลยทั้งสิบห้าร่วมกันโอนที่ดินให้โจทก์ตามสัญญาโดยไม่บังคับให้โจทก์ชำระเงินค่าที่ดินที่ค้างให้จำเลยไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 369 แม้จำเลยจะไม่อุทธรณ์ฎีกาในข้อนี้ ศาลฎีกาแก้ไขให้ถูกต้องได้เพราะเป็นเรื่องการชำระหนี้ตามสัญญาต่างตอบแทน”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้โจทก์ชำระเงินค่าที่ดิน จำนวน 150,000บาท ให้จำเลยด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ