คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 484/2556

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การประชุมคณะกรรมการกองทุนหมู่บ้านเป็นไปเพื่อการจัดทำประโยชน์สาธารณะต่าง ๆ แก่ชุมชนคนในหมู่บ้าน จำเลยและกรรมการซึ่งรวมทั้งพยานโจทก์จำเลยเข้ามาเป็นกรรมการดำเนินการร่วมกันก็ด้วยต่างมีจิตอาสา การพูดจาหามติกันในหมู่กรรมการก็เพื่อให้การดำเนินงานบรรลุวัตถุประสงค์ของกองทุนเป็นสำคัญ ในการประชุมเกี่ยวกับเรื่องงบประมาณกลางที่รัฐบาลจัดสรรมาให้ มีการเสนอในที่ประชุมว่าให้นำเงินดังกล่าวมาทำป้ายของกองทุนหมู่บ้าน ที่ประชุมได้แสดงความเห็นกันว่าไม่สามารถหาเงินส่วนใดของกองทุนหมู่บ้านมาเสริมได้ จำเลยซึ่งเป็นประธานที่ประชุมเสนอว่าปีกไม้เล้าไก่ของจำเลยมีให้ไปเลือกเอามาใช้ แต่เมื่อที่ประชุมทักท้วงว่าการเสนอของจำเลยไม่ถูกต้องจำเลยก็เงียบไป ตามพฤติการณ์ที่จำเลยพูดดังกล่าว เป็นการเสนอแนะโดยเจตนาจะแก้ไขปัญหาอุปสรรคที่เกิดขึ้นเท่านั้น ส่วนการที่จำเลยไปหาเสียงโดยการแจกแผ่นพับที่บ้านที่มีผู้อยู่อาศัย 5 คน ซึ่งบริเวณรอบ ๆ หมู่บ้านนั้นมืด มีคนพูดว่าถนนมันมืด ถ้าเป็น อ.บ.ต. แล้วให้เอาไฟมาติดตั้ง จำเลยบอกว่า เมื่อจำเลยเป็น อ.บ.ต. แล้วจะนำไฟแสงเทียนมาติดตั้งตามบริเวณหมู่บ้านโดยจะติดตั้งที่บริเวณเสาไฟฟ้าสาธารณะ ก็เป็นการหาเสียงทั่วไป มิใช่เสนอประโยชน์แก่บุคคลหนึ่งบุคคลใดโดยเฉพาะเจาะจง มิได้มีลักษณะเป็นการให้หรือเสนอจะให้ทรัพย์สินสิ่งใดเพื่อจูงใจให้ลงคะแนนเลือกตั้งแก่ตน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2545 มาตรา 4, 5, 57, 118 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 และสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งมีกำหนด 10 ปี
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2545 มาตรา 57, 118 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 จำคุกกระทงละ 1 ปี และปรับกระทงละ 20,000 บาท รวม 2 กระทง จำคุก 2 ปี และปรับ 40,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของจำเลยมีกำหนด 10 ปี
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ภาค 1 อนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยกระทำความผิดดังฟ้องทั้งสองกระทงตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 หรือไม่ สำหรับกระทงแรก โจทก์มีนางโสภา ซึ่งขณะเกิดเหตุได้รับแต่งตั้งจากคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดชัยนาทให้เป็นกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ประจำหมู่บ้าน ทางด้านประชาสัมพันธ์ และนายอนันศักดิ์ กับนางงามพิศ เป็นพยานเบิกความสรุปว่า กลางเดือนมิถุนายน 2546 เวลา 18 นาฬิกา มีการประชุมคณะกรรมการกองทุนหมู่บ้านท้องที่เกิดเหตุที่มีกรรมการ 9 คน โดยจำเลยเป็นประธานที่ประชุม และพยานทั้งสามซึ่งก็เป็นกรรมการได้ร่วมประชุมด้วย ในวันดังกล่าวเป็นการประชุมเกี่ยวกับเรื่องงบประมาณกลางของรัฐบาลที่จัดสรรมาให้ประมาณ 1,000 บาท มีการเสนอในที่ประชุมให้นำเงินดังกล่าวมาทำป้ายของกองทุนหมู่บ้าน ที่ประชุมได้แสดงความเห็นกันว่าไม่สามารถหาเงินส่วนใดของกองทุนหมู่บ้านมาเสริมได้ จำเลยจึงเสนอที่ประชุมว่าปีกไม้ที่เล้าไก่ของจำเลยมีให้ไปเลือกเอามาใช้ แต่ในที่ประชุมมีการทักท้วงว่าการเสนอของจำเลยไม่ถูกต้อง จำเลยก็เงียบไป ปัจจุบันกองทุนหมู่บ้านก็ยังไม่มีป้าย โดยโจทก์มีบันทึกคำให้การชั้นสอบสวนของพยานทั้งสามมาสนับสนุนคดี ส่วนจำเลยมีจำเลยและนางสมจิตร ผู้จดรายงานการประชุมกับนายสมาน กรรมการกองทุนหมู่บ้านที่เข้าร่วมประชุมด้วยเบิกความนำสืบว่าหลังจากที่มีการประชุมเสร็จแล้วว่าจะนำเงิน 1,000 บาท ดังกล่าวมาทำป้ายของกองทุนหมู่บ้าน ต่อมามีการพูดคุยกันในเรื่องเกี่ยวกับปีกไม้ จำเลยพูดว่าจะต้องหาปีกไม้มาทำป้าย ปีกไม้มีอยู่ที่ฟาร์มไก่ของจำเลยให้ไปดูเอา เมื่อจำเลยพูดจบมีผู้พูดขึ้นว่า กลัวจะผิดกฎหมายพระราชบัญญัติการเลือกตั้ง ที่ประชุมก็เงียบ เหตุที่จำเลยให้ไปดูปีกไม้ดังกล่าวก็โดยมีจุดประสงค์เพื่อประหยัดงบประมาณ ปัจจุบันยังไม่ได้จัดทำป้ายกัน ดังนี้ จึงรับฟังได้ตามคำพยานโจทก์ว่าหลังจากที่ประชุมกรรมการหมู่บ้านมีมติให้นำเงินประมาณ 1,000 บาท ที่ได้รับการจัดสรรจากรัฐบาลมาไปทำป้ายกองทุนหมู่บ้าน และปรากฏว่าเงินดังกล่าวไม่พอจัดทำ จำเลยได้พูดเสนอว่าปีกไม้ที่เล้าไก่ของจำเลยมีให้ไปเลือกเอามาใช้ แต่นางโสภาพยานโจทก์ทักท้วงว่าการเสนอดังกล่าวของจำเลยผิดกฎหมายเลือกตั้งจึงไม่มีการจัดทำตามมตินี้ เห็นว่า การประชุมคณะกรรมการกองทุนหมู่บ้านนั้นเป็นไปเพื่อการจัดทำประโยชน์สาธารณะต่าง ๆ แก่ชุมชนคนในหมู่บ้าน จำเลยและกรรมการซึ่งรวมทั้งพยานโจทก์จำเลยดังกล่าวเข้ามาเป็นกรรมการดำเนินการร่วมกันก็ด้วยต่างมีจิตอาสา การพูดจาหามติกันในหมู่กรรมการก็เพื่อให้การดำเนินงานบรรลุวัตถุประสงค์ของกองทุนเป็นสำคัญ ตามพฤติการณ์ที่จำเลยซึ่งเป็นประธานเป็นผู้นำพูดจาดังกล่าว ย่อมเห็นได้ว่าเป็นการเสนอแนะโดยเจตนาจะแก้ไขปัญหาอุปสรรคที่เกิดขึ้นเท่านั้น ดังได้ความจากคำเบิกความของนายอนันศักดิ์พยานโจทก์เองที่อธิบายว่า การที่จำเลยเสนอดังกล่าวก็เพื่อเป็นการประหยัดงบประมาณ แต่เมื่อมีผู้ทักท้วง จำเลยก็ไม่ได้นำปีกไม้มาทำป้ายดังกล่าว และแม้แต่นางโสภาเองซึ่งเป็นกรรมการการเลือกตั้งประจำหมู่บ้านด้วยก็มิได้ถือสาหาเอาเป็นข้อผิดกฎหมายนำไปร้องเรียนอย่างใดเลย ส่วนที่นางโสภาเบิกความต่อไปว่า จำเลยพูดด้วยว่าอย่าลืมกันเน้อ ซึ่งนางโสภาอธิบายแปลความหมายว่า เมื่อจำเลยให้ไม้กระดานหรือปีกไม้แล้ว ขอให้ไปลงคะแนนเสียงเลือกตั้งสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลแก่จำเลยด้วยนั้น พยานโจทก์ปากนายอนันศักดิ์ก็ดี นางงามพิศก็ดีต่างยืนยันว่าไม่ได้ยินว่าจำเลยพูดดังกล่าวด้วย เป็นอย่างเดียวกับพยานจำเลยทุกปากซึ่งรวมทั้งนายสมานผู้สมัครรับเลือกตั้งและได้คะแนนเลือกตั้งลำดับถัดจากจำเลยที่รับรองว่าจำเลยไม่ได้พูดเช่นนั้น เช่นนี้ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาว่าจำเลยกระทำความผิดกระทงแรกตามที่โจทก์ฟ้อง ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ส่วนการกระทำความผิดกระทงหลังซึ่งจำเลยนำสืบปฏิเสธว่าไม่ได้ไปหาเสียงนั้น โจทก์มีเพียงนางโสภาเบิกความว่า เหตุเกิดหลังจากการประชุมคณะกรรมการกองทุนหมู่บ้านประมาณ 2 ถึง 3 สัปดาห์ เวลาประมาณ 19 นาฬิกา จำเลยไปหาเสียงโดยการแจกแผ่นพับที่บ้านของพยานมีคนอยู่อาศัย 5 คน ซึ่งบริเวณรอบ ๆ หมู่บ้านนั้นมืด ปู่ของพยานพูดว่าถนนมันมืด ถ้าเป็น อบต. แล้วให้เอาไฟมาติดตั้ง จำเลยบอกว่า เมื่อจำเลยเป็น อบต. แล้วจะนำหลอดไฟมาติดให้ และตอนท้ายจำเลยพูดว่า อย่าลืมเลือกผมนะ แต่พยานตอบคำถามค้านของทนายจำเลยว่า ในขณะที่จำเลยไปหาเสียงนั้นที่บ้านของพยานยังไม่มีเสาไฟฟ้า บ้านของพยานยังพ่วงไฟฟ้าจากบ้านอื่นมาใช้ จำเลยพูดว่าจะนำไฟแสงเทียนมาติดตั้งตามบริเวณหมู่บ้านโดยจะติดตั้งที่บริเวณเสาไฟฟ้าสาธารณะ ซึ่งย่อมเห็นได้ว่าเป็นการหาเสียงทั่วไป มิใช่เสนอประโยชน์แก่พยานและคนในบ้านพยานโดยเฉพาะเจาะจงดังได้ความจากนางโสภาที่ตอบคำถามค้านทนายจำเลยแสดงความคิดเห็นต่อไปอีกว่า คำพูดของจำเลยดังกล่าวเป็นนโยบายของจำเลยเหมือนกับเป็นการหาเสียงทั่วไป โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ที่สำคัญขณะนั้นก็ยังไม่มีเสาไฟฟ้าสาธารณะบริเวณใกล้กับบ้านของนางโสภาด้วย ดังข้อความจริงที่นายอนันศักดิ์พยานโจทก์เองอีกปากซึ่งยืนยันว่า ก่อนการเลือกตั้งนั้น บ้านของนางโสภาต้องพ่วงไฟฟ้ามาใช้จากบ้านหลังอื่น เพราะขณะนั้นยังไม่มีเสาไฟฟ้าสาธารณะติดตั้ง ซึ่งสอดรับกับหลักฐาน คำร้องขอใช้ไฟฟ้าของนางโสภาที่เพิ่งไปยื่นขอใช้ในวันที่ 11 มกราคม 2548 บ่งบอกว่าการพูดจาหาเสียงดังกล่าวของจำเลยตามที่นางโสภาอ้าง มิได้มีลักษณะเป็นการให้หรือเสนอจะให้ทรัพย์สินสิ่งใดเพื่อจูงใจให้ลงคะแนนเลือกตั้งแก่ตน อันจะเป็นการกระทำความผิดในกระทงหลังตามที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาลงโทษจำเลยมา ซึ่งศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังขึ้น
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง

Share