คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 88/2536

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

โจทก์ถูกดำเนินคดีอาญาตามคำแจ้งความของจำเลย ดังนี้ เพียงแต่การที่ศาลยกฟ้องจะถือว่าจำเลยมีความผิดฐานแจ้งความเท็จเสมอไปนั้นไม่ได้ ต้องขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริงว่าการแจ้งความนั้นผู้แจ้งได้รู้ถึงสาระสำคัญและเข้าใจถึงการใช้สิทธิของตนโดยสุจริตหรือไม่ประกอบด้วย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90,91, 137, 172, 173, 180, 265 และ 268
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 137, 172, 177, 180, 265 และ 268 เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานแจ้งความเท็จ จำคุก 4 เดือนฐานเบิกความเท็จ จำคุก 8 เดือน ฐานแสดงพยานหลักฐานอันเป็นเท็จจำคุก 6 เดือน และฐานปลอมและใช้เอกสารปลอม จำคุก 6 เดือนรวมจำคุก 2 ปี
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์ในความผิดฐานเบิกความเท็จ แสดงพยานหลักฐานอันเป็นเท็จกับฐานปลอมและใช้เอกสารปลอมนอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำเลยฐานแจ้งความเท็จเพียงข้อหาเดียว และยกฟ้องข้อหาอื่น จำเลยฎีกาโดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ส่วนโจทก์ไม่ฎีกา คดีจึงขึ้นมาสู่การพิจารณาของศาลฎีกาเพียงประการเดียวว่า จำเลยมีความผิดฐานแจ้งความเท็จหรือไม่ ในข้อนี้ ข้อเท็จจริงในเบื้องแรกได้ความว่าเมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2530 จำเลยไปแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอหนองแค จังหวัดสระบุรี ว่าโจทก์ยืมรถไถนาของจำเลยไปใช้งาน แล้วไม่คืนรถไถนาให้ เป็นผลให้โจทก์ถูกพนักงานอัยการฟ้องในข้อหายักยอกทรัพย์ตามสำนวนคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 3411/2530 ของศาลชั้นต้น ผลของคดีศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องคดีถึงที่สุด จำเลยฎีกาว่า จำเลยไม่ได้กระทำความผิด พยานหลักฐานจำเลยรับฟังได้ว่าจำเลยซื้อรถไถนาคันพิพาทมาแล้วให้โจทก์ยืมไปเพื่อทำนาหาเงินมาชำระหนี้เงินกู้ซึ่งโจทก์กู้ไปจากจำเลยเป็นเงิน 25,000บาท เมื่อจำเลยทวงถามให้โจทก์ส่งมอบรถไถนาคืน โจทก์ไม่ยอมคืนให้การแจ้งความของจำเลยจึงไม่เป็นเท็จ จำเลยให้เหตุผลในฎีกาข้อหนึ่งว่าแม้จะมีการดำเนินคดีอาญากับโจทก์ตามคำแจ้งความของจำเลย และศาลยกฟ้องคดีถึงที่สุด มีรายละเอียดตามสำนวนคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 3411/2530 ก็ตาม การที่ศาลพิพากษายกฟ้องดังกล่าวมิได้หมายความว่าจำเลยจะต้องมีความผิดฐานแจ้งความเท็จด้วย ศาลฎีกาเห็นด้วยในข้อโต้แย้งนี้ แต่ก็มีความเห็นต่อไปว่าการที่ศาลยกฟ้องในบางกรณีก็จะถือไม่ได้ว่าจำเลยไม่มีความผิดฐานแจ้งความเท็จเสมอไปต้องขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริงว่าการแจ้งความเช่นนั้นผู้แจ้งได้รู้ถึงสาระสำคัญและเข้าใจถึงการใช้สิทธิของตนโดยสุจริตหรือไม่ ซึ่งข้อเท็จจริงในคดีนี้โจทก์นำสืบว่าเดิมจำเลยซื้อรถไถนาคันพิพาทมาจากผู้ขายในราคา 6,500 บาท ในวันเดียวกันนั้นเองโจทก์ได้ซื้อต่อจากจำเลยโดยให้เงินค่าซื้อรถไถนาจำนวน 2,000 บาท ส่วนเงินที่ค้างชำระอยู่อีก 4,500 บาท โจทก์ได้ชำระเป็นข้าวเปลือกให้แก่จำเลยในภายหลังครบจำนวนแล้ว ส่วนจำเลยนำสืบว่าโจทก์มาขอยืมรถไถนาแต่จำเลยมีรถไถนาสภาพเก่า ใช้งานไม่ได้ดี จึงไม่ให้โจทก์ยืมในวันที่ 10 กรกฎาคม 2528 จำเลยจึงไปซื้อรถไถนาคันใหม่จากนายบุญเสริฐ ฝ่าจันทร์ เจ้าของร้านนิพัทธ์พานิช ผู้ขายในราคา 6,500 บาท และให้โจทก์ยืมรถไถนาคันใหม่ไปในวันเดียวกันหลังจากนั้นประมาณต้นปี 2530 ซึ่งเป็นเวลาเกือบ 2 ปี จำเลยไปทวงรถไถนาคืน โจทก์ไม่ยอมคืนให้ ข้อนำสืบที่โต้แย้งกันดังกล่าว เห็นว่าการซื้อรถไถนาคันพิพาท รูปเรื่องน่าเชื่อว่าเป็นดังที่โจทก์นำสืบพยานหลักฐานมากกว่า ด้วยเหตุผลที่ว่าหากเป็นกรณีที่จำเลยให้โจทก์ยืมรถไถนาจริง จำเลยก็น่าจะให้ยืมรถไถนาคันเก่า เพราะการให้ยืมรถไถนานี้ จำเลยไม่ได้คิดผลประโยชน์ใด จำเลยเพียงแต่ให้เหตุผลว่าโจทก์เป็นหนี้เงินกู้จำเลยอยู่ ถ้าไม่มีรถไถนาและไปจ้างผู้อื่นไถนาจะเสียค่าใช้จ่ายสูง และไม่อาจชำระหนี้ให้จำเลยได้ ดังนั้นการที่โจทก์ให้ยืมรถไถนาคันใหม่เนื่องจากเหตุที่อ้างดังกล่าวจึงไม่สมเหตุผล และเมื่อพิจารณาการที่โจทก์ได้ครอบครองรถไถนาแล้วจะเห็นว่า ในวันที่จำเลยได้ซื้อรถไถนาจากผู้ขาย จำเลยก็มอบรถไถนาให้โจทก์เข้าครอบครองในวันเดียวกันนั้นเอง พฤติการณ์เช่นนี้จึงไม่ใช่เรื่องการยืมรถไถนากันตามปกติ ทั้งในวันที่ไปซื้อรถไถนาที่ตลาดอำเภอภาชี จังหวัดพระนครศรีอยุธยา นางสุดใจ กุ้งแก้วภรรยาจำเลยได้เบิกความไว้ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 3411/2530ของศาลชั้นต้น ที่โจทก์อ้างสำนวนเป็นพยานหลักฐานแล้ว ได้ความว่าในวันที่ 10 กรกฎาคม 2528 โจทก์มากู้เงินจำเลยไปซื้อรถไถนาและโจทก์จำเลยไปซื้อรถไถนาด้วยกันเพื่อให้โจทก์ได้เลือกชนิดหรือแบบของรถไถนาเอง ต่อมาจำเลยได้หักหนี้ค่าซื้อรถไถนา จำนวน 4,500 บาทจากค่าข้าวเปลือก 3 เกวียนเศษแล้ว เงินค่าข้าวเปลือกที่เหลืออีกประมาณ 5,000 บาท นำมาหักหนี้ในสัญญากู้ คำเบิกความของนางสุดใจดังกล่าวแม้จำเลยจะนำสืบนายแพทย์ชัยยัญญ์ สันติวงษ์ ว่านางสุดใจมีอาการประสาทหลอนและเป็นโรคพิษสุราเรื้อรัง เพื่อสนับสนุนว่านางสุดใจเบิกความไม่อยู่กับร่องกับรอยตามคำอ้างของจำเลย ไม่ควรแก่การรับฟังก็ตามก็ปรากฏว่านางสุดใจเบิกความไว้เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2530 แต่นายแพทย์ชัยยัญญ์ทำการตรวจรักษานางสุดใจเมื่อวันที่ 7 ถึง 9 กันยายน 2531 หลังจากนางสุดใจเบิกความไปแล้ว ทั้งคำเบิกความของนางสุดใจก็ได้ความและมีสาระดีไม่มีข้อผิดปกติเกี่ยวกับการรับรู้ของพยาน ที่จำเลยต้องการจะทำลายน้ำหนักคำเบิกความของนางสุดใจซึ่งเคยเป็นพยานในคดีอาญา ก็เพราะเป็นคำเบิกความที่ทำให้จำเลยเสียประโยชน์นั่นเอง ศาลฎีการับฟังคำเบิกความของนางสุดใจ ในคดีดังกล่าวมาประกอบการพิจารณาได้ดังนั้น เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยได้ขายรถไถนาต่อไปให้โจทก์แล้ว จำเลยย่อมตระหนักดีว่ารถไถนาเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ มูลเหตุที่จำเลยไปแจ้งความต่อพนักงานสอบสวน น่าจะเป็นเรื่องที่สืบเนื่องจากโจทก์ค้างชำระหนี้สินอื่นระหว่างกันและโจทก์ยังไม่ชำระให้เป็นอีกส่วนหนึ่ง การแจ้งความว่าโจทก์ยักยอกทรัพย์รถไถนาจึงเป็นความผิดฐานแจ้งความเท็จ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาคดีต้องกันมาว่าจำเลยมีความผิดฐานนี้ชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
จำเลยฎีกาเป็นข้อต่อไป ขอให้รอการลงโทษจำเลยนั้น เห็นว่าการแจ้งความเท็จของจำเลยมีลักษณะเป็นการร้ายแรงที่โจทก์อาจต้องได้รับโทษทางอาญาได้ เมื่อพิจารณาถึงฐานะของจำเลยซึ่งเป็นผู้ใหญ่บ้านในตำบลเดียวกับภูมิลำเนาของโจทก์ จำเลยควรปฏิบัติตนให้เป็นตัวอย่างและเป็นประโยชน์ในท้องถิ่น แต่กลับกระทำการในทางตรงกันข้ามอย่างไม่สมควร ที่ศาลอุทธรณ์ใช้ดุลพินิจลงโทษจำเลยโดยไม่รอการลงโทษเหมาะสมแก่รูปเรื่องแล้ว ไม่มีเหตุที่จะเปลี่ยนแปลงดุลพินิจเป็นอย่างอื่น ฎีกาของจำเลยในข้อนี้ฟังไม่ขึ้นอีกเช่นกัน”
พิพากษายืน

Share