แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
ในการพิพากษาคดีส่วนแพ่งศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญา ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 46 ปรากฏว่า ข้อเท็จจริงที่ฟังยุติในคดีส่วนอาญามีแต่เพียงว่าทั้งโจทก์และจำเลยต่างกระทำโดยประมาท แต่ผู้ใดประมาทมากกว่ากันไม่ปรากฏ ดังนั้น ในการดำเนินคดีแพ่งทั้งโจทก์และจำเลยย่อมสามารถนำสืบให้เห็นได้ว่าใครประมาทมากกว่ากัน และควรจะได้รับชดใช้ค่าเสียหายจากอีกฝ่ายหนึ่ง หรือไม่ เพียงใด เพราะคำพิพากษาคดีส่วนแพ่งต้องเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายอันว่าด้วยความรับผิดของบุคคลในทางแพ่ง โดยไม่ต้องคำนึงถึงว่าจำเลยต้องคำพิพากษาว่าได้กระทำความผิดหรือไม่ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 47 วรรคหนึ่ง และบทบัญญัติแห่งกฎหมายอันว่าด้วยความรับผิดของบุคคลในทางแพ่งในกรณีต่างฝ่ายต่างประมาททำให้เกิดเป็นมูลหนี้ละเมิดขึ้นนี้ ป.พ.พ. มาตรา 442 ให้นำบทบัญญัติแห่งมาตรา 223 มาใช้บังคับโดยอนุโลม ซึ่งมาตรา 223 วรรคหนึ่ง มีข้อสำคัญก็คือว่าความเสียหายได้เกิดขึ้นเพราะฝ่ายไหนเป็นผู้ก่อยิ่งหย่อนกว่ากันเพียงไร และมาตรา 438 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้ศาลวินิจฉัยเรื่องค่าสินไหมทดแทนตามควรแก่พฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิด ดังนั้น การที่จะสามารถเรียกร้องค่าเสียหายจากจำเลยได้จำเป็นที่โจทก์ต้องพิสูจน์ว่าฝ่ายจำเลยประมาทมากกว่าและโจทก์เสียหายจากการประมาทมากกว่านั้นอย่างไร เพียงใด ศาลชั้นต้นจึงเป็นศาลในคดีส่วนแพ่งมีอำนาจวินิจฉัยว่าโจทก์จำเลยใครเป็นฝ่ายประมาทมากกว่ากัน ไม่ขัดต่อคำพิพากษาในคดีส่วนอาญา ที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า จำเลยประมาทมากกว่า และเปรียบเทียบความร้ายแรงแห่งละเมิดที่โจทก์จำเลยต่างก่อขึ้นแล้วกำหนดค่าเสียหายให้โจทก์เป็นเงินรวม 29,500 บาท เป็นการดำเนินการตามอำนาจที่มีอยู่โดยชอบด้วยบทบัญญัติของกฎหมายแล้ว
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2544 เวลาประมาณ 13 นาฬิกา จำเลยขับรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน กค – 600 ปทุมธานี โดยประมาทเลี้ยวขวาอย่างรวดเร็วหน้าสถานสงเคราะห์บ้านกึ่งวิถี ตำบลรังสิต อำเภอธัญบุรี จังหวัดปทุมธานี โดยไม่ดูให้ปลอดภัยและไม่ให้สัญญาณใด เป็นเหตุให้โจทก์ซึ่งขับรถจักรยานยนต์คันหมายเลขทะเบียน กรุงเทพมหานคร 3 ฮ – 4315 ของโจทก์ ชนกับรถยนต์ที่จำเลยขับ โจทก์ได้รับบาดเจ็บกระดูกสะบ้าด้านขวาและกระดูกหน้าแข้งขวาหักต้องรักษาโดยการผ่าตัด เสียค่ารักษาพยาบาล 6,654 บาท รถจักรยานยนต์ของโจทก์ได้รับความเสียหายเสียค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซมเป็นเงิน 13,634 บาท โจทก์ซึ่งมีอาชีพรับจ้างก่อสร้างขาดรายได้ระหว่างรักษาตัวเป็นเงิน 90,000 บาท และขอเรียกค่าเสียหายจากการได้รับบาดเจ็บและขาไม่ปกติ 100,000 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 210,288 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 210,288 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่ใช่เจ้าของรถจักรยานยนต์คันหมายเลขทะเบียนกรุงเทพมหานคร 3 ฮ – 4315 เหตุเกิดจากความประมาทของโจทก์ฝ่ายเดียวที่เห็นอยู่ว่าจำเลยกำลังบังคับรถยนต์เลี้ยวขวาแต่ยังขับรถจักรยานยนต์เบียดแซงขึ้นมาโดยไม่ให้สัญญาณใดๆ ทำให้เฉี่ยวชนกับรถยนต์ของจำเลย ค่าซ่อมรถที่โจทก์เรียกร้องสูงเกินความจริง โจทก์ไม่ได้รับความเสียหายใดๆ อีกทั้งจำเลยไม่มีหน้าที่ต้องชำระค่าเสียหายให้โจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณาโจทก์และจำเลยแถลงรับข้อเท็จจริงกันว่าต่างถูกพนักงานอัยการฟ้องเป็นคดีอาญาต่อศาลชั้นต้นว่าขับรถด้วยความประมาท โจทก์และจำเลยให้การรับสารภาพ ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาให้ลงโทษทั้งโจทก์และจำเลยแล้ว คู่ความแถลงขอสืบพยานเฉพาะประเด็นค่าเสียหายเพียงประการเดียว
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 29,500 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 15 มีนาคม 2545) เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความให้ 3,000 บาท เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้เป็นยุติในชั้นฎีกาว่า เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2544 จำเลยขับรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน กค – 600 ปทุมธานีเฉี่ยวชนกับรถจักรยานยนต์คันหมายเลขทะเบียน กรุงเทพมหานคร 3 ฮ – 4315 ที่โจทก์ขับ บนถนนเข้าการเคหะรังสิต คลองหก ตำบลรังสิต อำเภอธัญบุรี จังหวัดปทุมธานี ต่อมาพนักงานอัยการฟ้องทั้งจำเลยและโจทก์เป็นคดีอาญาต่อศาลชั้นต้นทั้งจำเลยและโจทก์ให้การรับสารภาพ ศาลชั้นต้นปรับจำเลย 2,500 บาท และปรับโจทก์ 500 บาท คดีอาญาดังกล่าวถึงที่สุดแล้ว
มีปัญหาต้องวินิจฉัยเพียงข้อกฎหมายตามฎีกาของโจทก์ว่า ศาลอุทธรณ์ภาค 1 มีอำนาจวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยหรือไม่ จำเลยอุทธรณ์ว่า คำพิพากษาคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 2739/2545 ของศาลชั้นต้นที่วินิจฉัยว่าทั้งจำเลยและโจทก์ซึ่งถูกฟ้องเป็นจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในคดีดังกล่าวต่างให้การรับสารภาพว่าได้กระทำโดยประมาท ศาลพิพากษาลงโทษปรับทั้งจำเลยและโจทก์โดยคดีไม่มีการสืบพยาน ย่อมไม่อาจถือได้ว่าใครเป็นฝ่ายประมาทมากกว่ากัน โจทก์จึงไม่มีอำนาจเรียกค่าเสียหายจากจำเลยได้ ที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าจำเลยประมาทมากกว่าและกำหนดค่าเสียหายให้จำเลยชดใช้แก่โจทก์ 29,500 บาท จึงไม่ชอบ พิเคราะห์แล้วอุทธรณ์ดังกล่าวของจำเลยเป็นอุทธรณ์ในข้อกฎหมายว่า เมื่อศาลในคดีส่วนอาญาได้วินิจฉัยแล้วว่าทั้งโจทก์และจำเลยต่างกระทำโดยประมาทโดยมิได้วินิจฉัยว่าใครประมาทมากกว่ากัน ศาลในคดีส่วนแพ่งย่อมต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาเช่นนั้น ไม่มีอำนาจที่จะวินิจฉัยว่าจำเลยประมาทมากกว่าแล้วกำหนดให้จำเลยใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ เห็นว่า แม้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 46 จะบัญญัติว่า ในการพิพากษาคดีส่วนแพ่งศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาดั่งที่จำเลยอ้าง แต่ในกรณีคดีนี้ข้อเท็จจริงที่ฟังยุติในคดีส่วนอาญาคงมีแต่เพียงว่า ทั้งโจทก์และจำเลยต่างกระทำโดยประมาท แต่ผู้ใดประมาทมากกว่ากันไม่ปรากฏ ดังนั้น ในการดำเนินคดีแพ่งทั้งโจทก์และจำเลยย่อมสามารถนำสืบให้เห็นได้ว่าใครประมาทมากกว่ากัน และควรจะได้รับชดใช้ค่าเสียหายจากอีกฝ่ายหนึ่งหรือไม่ เพียงใด เพราะประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 47 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า คำพิพากษาคดีส่วนแพ่งต้องเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายอันว่าด้วยความรับผิดของบุคคลในทางแพ่ง โดยไม่ต้องคำนึงถึงว่าจำเลยต้องคำพิพากษาว่าได้กระทำความผิดหรือไม่ และบทบัญญัติแห่งกฎหมายอันว่าด้วยความรับผิดของบุคคลในทางแพ่งในกรณีต่างฝ่ายต่างประมาททำให้เกิดเป็นมูลหนี้ละเมิดขึ้นนี้ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 442 วางหลักไว้ให้นำบทบัญญัติแห่งมาตรา 223 มาใช้บังคับโดยอนุโลม ซึ่งมาตรา 223 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า ถ้าฝ่ายผู้เสียหายได้มีส่วนทำความผิดอย่างใดอย่างหนึ่งก่อให้เกิดความเสียหายด้วยไซร้ ท่านว่าหนี้อันจะต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ฝ่ายผู้เสียหายมากน้อยเพียงใดนั้น ต้องอาศัยพฤติการณ์เป็นประมาณ ข้อสำคัญก็คือว่าความเสียหายนั้นได้เกิดขึ้นเพราะฝ่ายไหนเป็นผู้ก่อยิ่งหย่อนกว่ากันเพียงไร และมาตรา 438 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า ค่าสินไหมทดแทนจะพึงใช้โดยสถานใดเพียงใดนั้นให้ศาลวินิจฉัยตามควรแก่พฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิด ดังนั้น การที่จะสามารถเรียกร้องค่าเสียหายจากจำเลยได้ ย่อมเป็นความจำเป็นของโจทก์ที่ต้องพิสูจน์ว่าฝ่ายจำเลยประมาทมากกว่าและโจทก์เสียหายจากการประมาทมากกว่านั้นอย่างไร เพียงใด ที่ศาลชั้นต้นรับฟังพยานหลักฐานของโจทก์จำเลยแล้ววินิจฉัยว่าจำเลยประมาทมากกว่า และเมื่อพิจารณาเปรียบเทียบความร้ายแรงแห่งละเมิดที่โจทก์จำเลยต่างก่อขึ้นและค่าเสียหายที่โจทก์เรียกร้องแล้วกำหนดค่าเสียหายให้โจทก์เป็นเงินรวม 29,500 บาท เป็นการดำเนินการตามอำนาจที่มีอยู่โดยชอบด้วยบทบัญญัติของกฎหมายแล้ว ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยข้อกฎหมายว่าศาลชั้นต้นซึ่งเป็นศาลในคดีส่วนแพ่งมีอำนาจวินิจฉัยว่าโจทก์จำเลยใครเป็นฝ่ายประมาทมากกว่ากันไม่ขัดต่อคำพิพากษาในคดีส่วนอาญา จึงเป็นคำวินิจฉัยที่ชอบแล้ว แต่ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยต่อไปว่า ตามพยานหลักฐานโจทก์และจำเลยมีความประมาทไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยแล้วพิพากษายกฟ้องโจทก์นั้น เป็นการก้าวล่วงเข้าไปวินิจฉัยในปัญหาข้อเท็จจริงในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลชั้นต้น ซึ่งได้ยุติไปแล้วตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นเพราะศาลชั้นต้นกำหนดค่าเสียหายให้แก่โจทก์เพียง 29,500 บาท ซึ่งไม่เกินห้าหมื่นบาท เมื่อโจทก์มิได้อุทธรณ์เพื่อให้ได้รับค่าเสียหายมากขึ้น ทุนทรัพย์จำนวนดังกล่าวจึงเป็นทุนทรัพย์ในชั้นอุทธรณ์ที่ห้ามมิให้คู่ความอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 224 วรรคหนึ่ง ศาลอุทธรณ์ภาค 1 จึงไม่มีอำนาจวินิจฉัยประเด็นข้อนี้ ฎีกาของโจทก์ส่วนนี้ฟังขึ้น”
พิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ในส่วนที่วินิจฉัยข้อเท็จจริงให้บังคับคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความให้ 600 บาท