คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5237/2540

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ยื่นฟ้องอุทธรณ์ว่า ตามที่ศาลชั้นต้นกำหนดให้จำเลยที่ 2 ใช้ค่าขาดประโยชน์จากการใช้ทรัพย์เดือนละ1,500 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะส่งมอบรถยนต์คืนหรือใช้ราคาแทน โจทก์ไม่เห็นพ้องด้วย ขอให้ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ไขให้จำเลยที่ 2 ใช้ค่าขาดประโยชน์จากการใช้ทรัพย์เป็นเดือนละ 4,500 บาท มิได้อุทธรณ์ว่าให้สิ้นสุดลงตั้งแต่เมื่อใด ส่วนจำเลยที่ 2 ไม่ยื่นอุทธรณ์ ประเด็นค่าขาดประโยชน์จากการใช้ทรัพย์ที่ศาลอุทธรณ์ควรจะวินิจฉัยก็คือสมควรจะให้จำเลยที่ 2 ชดใช้ในอัตราใดระหว่างตั้งแต่1,500 บาท ถึง 4,500 บาท แต่ไม่มีประเด็นให้วินิจฉัยเรื่องวันที่สิ้นสุดของการชดใช้ค่าขาดประโยชน์จากการใช้ทรัพย์ ต่อมาศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยว่า อัตราค่าชดใช้ที่โจทก์ขอมานั้นสูงเกินไปส่วนอัตราค่าชดใช้ที่ศาลชั้นต้นกำหนดให้นั้นต่ำเกินไป จึงกำหนดให้จำเลยที่ 2 ใช้ในอัตราเดือนละ 3,000 บาท ซึ่งเป็นประเด็นอยู่ในคำฟ้องอุทธรณ์จึงชอบแล้ว แต่ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยเพิ่มเติมต่อไปอีกว่าการที่ศาลชั้นต้นกำหนดให้จำเลยที่ 2 ชดใช้ค่าขาดประโยชน์จากการใช้ทรัพย์นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจำเลยที่ 2 จะส่งมอบรถยนต์คืนหรือใช้ราคาแทนนั้นนานเกินไปเพราะมิได้กำหนดระยะเวลาไว้เห็นสมควรกำหนดให้ชดใช้ค่าขาดประโยชน์จากการใช้ทรัพย์นับจากวันฟ้องไปเพียงอีก 2 เดือน ข้อนี้เป็นการวินิจฉัยเกินจากคำฟ้องอุทธรณ์ เพราะไม่มีผู้ใดอุทธรณ์ประเด็นเรื่องวันที่ของการสิ้นสุดชดใช้ค่าขาดประโยชน์จากการใช้ทรัพย์ ทั้งมิใช่เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลอุทธรณ์จะยกขึ้นวินิจฉัยเองไม่ได้ คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในข้อนี้จึงไม่ชอบ สมควรแก้ไขให้จำเลยที่ 2 ใช้ค่าขาดประโยชน์อันเกิดจากการใช้ทรัพย์นับจากวันฟ้องจนกว่าจะส่งมอบรถยนต์คืนหรือใช้ราคาแทน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์จากโจทก์ในราคา 336,432 บาท ตกลงผ่อนชำระ 48 งวด งวดละ 7,009 บาทต่อเดือน เริ่มงวดแรกวันที่ 3 สิงหาคม 2535 งวดต่อไปทุกวันที่ 3 ของเดือนถัดไปจนกว่าจะครบ มีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมหลังทำสัญญาจำเลยที่ 1ผิดนัดตั้งแต่งวดที่ 19 สัญญาเช่าซื้อจึงเลิกกัน แต่จำเลยที่ 1ยังคงครอบครองใช้รถยนต์ของโจทก์ต่อไป ทำให้โจทก์ขาดประโยชน์จากการใช้ทรัพย์เดือนละ 4,500 บาท เมื่อนับถึงวันฟ้องเป็นเวลา 11 เดือน รวมเป็นเงิน 49,500 บาท และจำเลยที่ 1 ยังต้องใช้ราคารถยนต์อีก 200,000 บาท ขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนในสภาพเรียบร้อยใช้การได้ดีแก่โจทก์ ถ้าคืนไม่ได้ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ราคาเป็นเงิน 140,000 บาทและให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าขาดประโยชน์จากการใช้ทรัพย์เป็นเงิน 96,000 บาท และอีกเดือนละ 6,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจำเลยทั้งสองจะส่งมอบรถยนต์คืนหรือใช้ราคา
ระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้น โจทก์ขอถอนฟ้องจำเลยที่ 1ศาลชั้นต้นอนุญาตให้ถอนฟ้องจำเลยที่ 1 ให้จำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 1 เสียจากสารบบความ
จำเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 2 ส่งมอบรถยนต์หมายเลขทะเบียน ผ-6647 นครปฐม คืนแก่โจทก์ ในสภาพใช้การได้ดี หากส่งมอบคืนไม่ได้ให้ใช้ราคาแทนเป็นเงิน 140,000 บาท ให้จำเลยที่ 2 ใช้ค่าขาดประโยชน์จากการใช้ทรัพย์ 16,500 บาท และอีกเดือนละ 1,500 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะส่งมอบรถยนต์คืนหรือใช้ราคาแทน
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 2 ใช้ค่าขาดประโยชน์จากการใช้ทรัพย์ 33,000 บาท และเดือนละ3,000 บาท อีก 2 เดือน นับจากวันฟ้อง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ประเด็นข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์มีว่า ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นข้อที่ให้จำเลยที่ 2 ใช้ค่าขาดประโยชน์จากการใช้ทรัพย์ซึ่งศาลชั้นต้นให้ใช้เดือนละ 1,500 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะส่งมอบรถยนต์คืนหรือใช้ราคาแทน เป็นให้ใช้เดือนละ 3,000 บาทนับถัดจากวันฟ้องมีกำหนด 2 เดือน นั้น เป็นคำพิพากษาชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 240 วรรคแรก บัญญัติว่า ศาลอุทธรณ์มีอำนาจที่จะวินิจฉัยคดีโดยเพียงแต่พิจารณาฟ้องอุทธรณ์คำแก้อุทธรณ์ เอกสารและหลักฐานทั้งปวงในสำนวนความซึ่งศาลชั้นต้นส่งขึ้นมาคดีนี้ โจทก์ยื่นฟ้องอุทธรณ์ว่า ตามที่ศาลชั้นต้นกำหนดให้จำเลยที่ 2 ใช้ค่าขาดประโยชน์จากการใช้ทรัพย์เดือนละ 1,500 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะส่งมอบรถยนต์คืนหรือใช้ราคาแทน โจทก์ไม่เห็นพ้องด้วย ขอให้ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ให้จำเลยที่ 2 ใช้ค่าขาดประโยชน์จากการใช้ทรัพย์เป็นเดือนละ 4,500 บาท มิได้อุทธรณ์ว่าให้สิ้นสุดลงตั้งแต่เมื่อใด ส่วนจำเลยที่ 2 ไม่ยื่นอุทธรณ์ประเด็นค่าขาดประโยชน์จากการใช้ทรัพย์ที่ศาลอุทธรณ์ควรจะวินิจฉัยก็คือสมควรจะให้จำเลยที่ 2 ชดใช้ในอัตราใดระหว่างตั้งแต่ 1,500 บาท ถึง 4,500 บาท แต่ไม่มีประเด็นให้วินิจฉัยเรื่องวันที่สิ้นสุดของการชดใช้ค่าขาดประโยชน์จากการใช้ทรัพย์ต่อมาศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยว่า อัตราค่าชดใช้ที่โจทก์ขอมานั้นสูงเกินไป ส่วนอัตราค่าชดใช้ที่ศาลชั้นต้นกำหนดให้นั้นต่ำเกินไปจึงกำหนดให้จำเลยที่ 2 ใช้ในอัตราเดือนละ 3,000 บาท ซึ่งเป็นประเด็นอยู่ในคำฟ้องอุทธรณ์จึงชอบแล้ว แต่ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยเพิ่มเติมต่อไปอีกว่า การที่ศาลชั้นต้นกำหนดให้จำเลยที่ 2 ชดใช้ค่าขาดประโยชน์จากการใช้ทรัพย์นัดถัดจากวันฟ้องจนกว่าจำเลยที่ 2จะส่งมอบรถยนต์คืนหรือใช้ราคาแทนนั้นนานเกินไปเพราะมิได้กำหนดระยะเวลาไว้ เห็นสมควรกำหนดให้ชดใช้ค่าขาดประโยชน์จากการใช้ทรัพย์นับจากวันฟ้องไปเพียงอีก 2 เดือน ข้อนี้เป็นการวินิจฉัยเกินจากคำฟ้องอุทธรณ์ เพราะไม่มีผู้ใดอุทธรณ์ประเด็นเรื่องวันที่ของการสิ้นสุดชดใช้ค่าขาดประโยชน์จากการใช้ทรัพย์ทั้งมิใช่เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลอุทธรณ์จะยกขึ้นวินิจฉัยเองไม่ได้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในข้อนี้จึงไม่ชอบ สมควรแก้ไขให้ถูกต้อง
พิพากษาแก้เป็นว่า ค่าขาดประโยชน์อันเกิดจากการใช้ทรัพย์หลังจากวันฟ้อง ให้จำเลยที่ 2 จนกว่าจะส่งมอบรถยนต์คืนหรือใช้ราคาแทน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share