คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 428/2553

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

จำเลยทั้งสามกับพวกร่วมกันมาในที่เกิดเหตุ โดยจำเลยที่ 1 ใช้อาวุธมีดทำจากใบเลื่อยยาวถึง 1 เมตร ฟันบริเวณแสกหน้าของผู้เสียหายที่ 1 แต่ผู้เสียหายที่ 1 ใช้มือรับไว้ จึงทำให้เอ็นนิ้วนางและนิ้วก้อยของผู้เสียหายที่ 1 ขาด ทั้งยังมีบาดแผลที่ศีรษะด้านขวาลึกเกือบถึงกระดูก หากมาพบแพทย์ไม่ทันต้องเสียเลือดมากและอาจถึงแก่ความตายได้ และจำเลยที่ 2 ใช้อาวุธปืนปากกายิงผู้เสียหายที่ 2 ถึง 2 นัด แต่กระสุนปืนด้าน จำเลยที่ 3 ใช้กระถางต้นไม้ทุ่มใส่ผู้เสียหายที่ 2 ได้รับบาดเจ็บที่สะโพกขวา พฤติการณ์การกระทำของจำเลยทั้งสามมีเจตนาร่วมกันที่จะทำร้ายผู้เสียหายทั้งสองโดยไม่ได้แบ่งแยกว่าแต่ละคนจะแบ่งแยกกันทำร้ายผู้เสียหายทั้งสองคนใดเป็นการเฉพาะเจาะจง แต่เป็นเรื่องที่จำเลยทั้งสามมีเจตนายอมรับผลที่เกิดจากการกระทำของแต่ละคน จึงมีความผิดฐานเป็นตัวการร่วมกันพยายามฆ่าผู้เสียหายทั้งสอง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 80, 83, 91, 288, 371 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิ
จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 ประกอบมาตรา 80, 371, 83 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 8 ทวิ วรรคสอง, 72 วรรคหนึ่ง, 72 ทวิ วรรคสอง (ที่ถูก ประกอบด้วยประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83) การกระทำของจำเลยทั้งสามเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันให้เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานพยายามฆ่าผู้อื่น จำคุกคนละ 10 ปี ฐานมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำคุกคนละ 1 ปี ฐานพาอาวุธปืนและอาวุธมีดไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาตและไม่มีเหตุสมควร เป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน ฯ ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกคนละ 1 ปี รวมจำคุกคนละ 12 ปี จำเลยทั้งสามให้การรับสารภาพในชั้นจับกุมเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกคนละ 8 ปี
จำเลยทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
จำเลยทั้งสามฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…สำหรับความผิดฐานร่วมกันมีอาวุธปืนและฐานร่วมกันพาอาวุธปืนและอาวุธมีดไปในเมือง หมู่บ้านหรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาตและโดยไม่มีเหตุสมควร ศาลชั้นต้นลงโทษจำคุกกระทงละ คนละ 8 เดือน ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน จึงต้องห้ามมิให้จำเลยทั้งสามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงในข้อหาดังกล่าวตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้ คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสามว่า จำเลยทั้งสามกระทำผิดฐานร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่นหรือไม่ โจทก์มีผู้เสียหายทั้งสอง นายยศธิศักดิ์ และนายดอนเป็นพยานเบิกความว่า ขณะที่พยานโจทก์ดังกล่าวนั่งดื่มสุราบริเวณที่เกิดเหตุจำเลยทั้งสามกับพวกอีก 1 คน วิ่งเข้ามาบริเวณที่ผู้เสียหายทั้งสองกับพวกนั่งอยู่โดยจำเลยที่ 1 ถือมีดมาถึงตะโกนถามว่า ใครเก๋าวะ แล้วจำเลยที่ 1 ใช้มีดฟันที่ใบหน้าของผู้เสียหายที่ 1 แต่ผู้เสียหายที่ 1 ใช้มือขวารับไว้ จึงถูกฟันบริเวณใบหน้าและมือผู้เสียหายที่ 1 ล้มคว่ำลงกับพื้น หลังจากนั้นจำเลยที่ 1 ใช้มีดฟันบริเวณไหล่ด้านหลังผู้เสียหายที่ 1 อีก 1 ครั้ง แต่ไม่เข้าเนื่องจากผู้เสียหายที่ 1 ใส่เสื้อหนาและจำเลยที่ 2 ถือปืนปากกายิงใส่ผู้เสียหายที่ 2 เสียงดังแชะ เนื่องจากกระสุนปืนไม่ลั่น จำเลยที่ 2 เปลี่ยนลูกกระสุนปืนใหม่ยิงมาทางผู้เสียหายที่ 2 อีก แต่กระสุนปืนไม่ลั่น จำเลยที่ 3 ใช้กระถางต้นไม้ทุ่มมาถูกสะโพกด้านขวาของผู้เสียหายที่ 2 ได้รับบาดเจ็บ ส่วนพวกของจำเลยทั้งสามอีกคนหนึ่งใช้ขวดสุราขว้างมายังกลุ่มผู้เสียหายทั้งสองแต่ไม่ถูกผู้ใด เห็นว่า พยานโจทก์ดังกล่าวเบิกความสอดคล้องต่อเนื่องเชื่อมโยงกันมีเหตุผลยืนยันว่า จำเลยทั้งสามกับพวกอีกคนหนึ่งร่วมกันทำร้ายผู้เสียหายทั้งสองโดยจำเลยที่ 1 ใช้มีดเป็นอาวุธฟันผู้เสียหายที่ 1 ที่บริเวณใบหน้าและมือ จำเลยที่ 2 ใช้ปืนปากกายิงใส่ผู้เสียหายที่ 2 แต่กระสุนปืนไม่ลั่น แล้วจำเลยที่ 2 ได้เปลี่ยนลูกกระสุนปืนใหม่แล้วยิงใส่ผู้เสียหายที่ 2 อีก แต่กระสุนปืนไม่ลั่น ส่วนจำเลยที่ 3 เป็นผู้ใช้กระถางต้นไม่ทุ่มใส่สะโพกข้างขวาของผู้เสียหายที่ 2 ได้รับบาดเจ็บ พยานโจทก์ดังกล่าวเห็นจำเลยทั้งสามในระยะใกล้จากแสงไฟบริเวณที่เกิดเหตุ โดยเฉพาะผู้เสียหายที่ 2 รู้จักจำเลยทั้งสามกับพวกมาตั้งแต่เป็นเด็กทั้งยังมีบ้านพักอาศัยอยู่ที่บ้านพักคนงานของบริษัทอารีย์อภิรักษ์ จำกัด จึงเชื่อว่าเห็นและจำจำเลยทั้งสามได้ ที่จำเลยทั้งสามฎีกาบาดแผลของผู้เสียหายที่ 1 มีลักษณะขอบเรียบน่าจะเกิดจากอาวุธมีด ไม่น่าจะเกิดจากบาดแผลที่ถูกอาวุธทำจากใบเลื่อย ซึ่งมีลักษณะบาดแผลจะลุ่ยขอบไม่เรียบนั้น เห็นว่า พยานโจทก์ทั้งสี่ปากดังกล่าว เบิกความว่าจำเลยที่ 1 ใช้อาวุธมีดที่ทำขึ้นจากใบเลื่อยฟันใส่ผู้เสียหายที่ 1 ไม่ได้ยืนยันว่าใช้ใบเลื่อยฟันใส่ผู้เสียหายที่ 1 และไม่ได้ยืนยันว่ามีดที่ทำขึ้นจากใบเลื่อยดังกล่าวมีลักษณะของฟันเลื่อยเหลืออยู่ ดังนั้น อาวุธมีดที่ทำจากใบเลื่อยที่ใช้ฟันจึงน่าจะมีความคมและมีบาดแผลเป็นขอบเรียบตรงตามคำเบิกความนายแพทย์ภาดล แพทย์ผู้ตรวจผู้เสียหายที่ 1 ประกอบรายงานผลการตรวจชันสูตรบาดแผลว่าลักษณะบาดแผลที่นิ้วเป็นบาดแผลขอบเรียบน่าจะเกิดจากใบมีดคม คำเบิกความของพยานโจทก์ดังกล่าวจึงไม่เป็นพิรุธ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยทั้งสามกับพวกร่วมกันมาในที่เกิดเหตุ โดยจำเลยที่ 1 ใช้อาวุธมีดทำจากใบเลื่อยยาวถึง 1 เมตร ฟันบริเวณแสกหน้าของผู้เสียหายที่ 1 ทำให้เอ็นนิ้วนางและนิ้วก้อยของผู้เสียหายที่ 1 ขาด ทั้งยังมีบาดแผลที่ศีรษะด้านขวาลึกเกือบถึงกระดูก หากมาพบแพทย์ไม่ทันต้องเสียเลือดมากและอาจถึงแก่ความตายได้และจำเลยที่ 2 ใช้อาวุธปืนปากกายิงผู้เสียหายที่ 2 ถึง 2 นัด แต่กระสุนปืนด้าน จำเลยที่ 3 ใช้กระถางต้นไม้ทุ่มใส่ผู้เสียหายที่ 2 ได้รับบาดเจ็บที่สะโพกขวา พฤติการณ์การกระทำของจำเลยทั้งสามมีเจตนาร่วมกันที่จะทำร้ายผู้เสียหายทั้งสองโดยไม่ได้แบ่งแยกว่าแต่ละคนจะแบ่งแยกกันทำร้ายผู้เสียหายทั้งสองคนใดเป็นการเฉพาะเจาะจง แต่เป็นเรื่องที่จำเลยทั้งสามมีเจตนายอมรับผลที่เกิดจากการกระทำของแต่ละคน จึงมีความผิดฐานเป็นตัวการร่วมกันพยายามฆ่าผู้เสียหายทั้งสอง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาลงโทษจำเลยทั้งสามในความผิดดังกล่าว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยทั้งสามฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง สำหรับความผิดฐานพาอาวุธปืนไปในเมือง หมู่บ้านหรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาต และฐานพาอาวุธมีดไปในเมือง หมู่บ้านหรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควร เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาว่าความผิดทั้งสองฐานดังกล่าวเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน ฯ ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 นั้น ไม่ถูกต้อง ปัญหาดังกล่าวแม้จะไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นฎีกา แต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกาจึงมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา 225 แต่เมื่อโจทก์มิได้อุทธรณ์และฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามเพิ่มขึ้น จึงไม่อาจแก้ไขโทษที่ลงแก่จำเลยทั้งสามได้ เพราะจะเป็นการพิพากษาเพิ่มเติมโทษจำเลยทั้งสามต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 212 ประกอบด้วยมาตรา 225 ศาลฎีกาแก้ไขให้ถูกต้องโดยไม่เพิ่มโทษจำเลยทั้งสาม”
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 371 อีกกระทงหนึ่ง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1

Share