คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 299/2545

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ศาลชั้นต้นฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์ได้ทราบถึงการตายของจำเลยที่ 1 ตั้งแต่วันที่ 11 มกราคม 2536 เมื่อโจทก์อุทธรณ์โจทก์ไม่ได้อุทธรณ์โต้แย้งว่าคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นดังกล่าวถูกต้องหรือไม่อย่างไร ปัญหาที่ว่าโจทก์ได้ทราบถึงการตายของจำเลยที่ 1 เมื่อใดจึงเป็นอันยุติไปแล้วตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นเมื่อทุนทรัพย์พิพาทกันในชั้นฎีกาไม่เกินสองแสนบาท ซึ่งต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 248 วรรคหนึ่ง ฎีกาของโจทก์ที่ว่า โจทก์เพิ่งทราบถึงการตายของจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 9 เมษายน 2540 นอกจากจะเป็นฎีกาในข้อเท็จจริงอันต้องห้ามแล้วยังเป็นฎีกาในข้อที่โจทก์มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามมาตรา 249 วรรคหนึ่ง อีกด้วย
อายุความไม่ใช่สภาพแห่งข้อหา โจทก์จึงไม่ต้องกล่าวมาในฟ้องว่า คดีของโจทก์ไม่ขาดอายุความเพราะเหตุใด ดังนั้นที่โจทก์ฎีกาว่า หลังจากจำเลยที่ 1 ถึงแก่ความตาย จำเลยที่ 2 ได้ทำหนังสือรับสภาพหนี้ไว้ต่อโจทก์คดีโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 ไม่ขาดอายุความจึงมิใช่เรื่องฎีกานอกฟ้องนอกประเด็น

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทมหาชน จำกัด ประกอบการธนาคารพาณิชย์ เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2535 จำเลยที่ 1ได้ขอเปิดบัญชีออมทรัพย์เลขที่ 123-1-02099-7 และได้ทำสัญญากู้กรุงไทยธนวัฏไว้ต่อโจทก์ สาขาปากเกร็ด วงเงิน 107,000 บาท ยอมเสียดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 16.5 ต่อปี หากมีการเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยจำเลยที่ 1 ยอมให้โจทก์คิดดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด กำหนดชำระดอกเบี้ยเป็นรายเดือน และหากนายจ้างของจำเลยที่ 1ไม่นำเงินเดือนหรือเงินรายได้อื่นใดเข้าบัญชีเงินฝากของจำเลยที่ 1 เมื่อใดยอมให้โจทก์บอกเลิกสัญญาและเรียกให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ที่ค้างชำระทั้งหมดได้ทันที มีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมหลังทำสัญญาจำเลยที่ 1 ผิดนัด ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน112,610.59 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 18 ต่อปี ของต้นเงิน94,563.26 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

ระหว่างพิจารณา ความปรากฏต่อศาลชั้นต้นว่าจำเลยที่ 1 ถึงแก่ความตายก่อนโจทก์ฟ้องคดีนี้ ศาลชั้นต้นจึงมีคำสั่งให้เพิกถอนคำสั่งที่รับฟ้องจำเลยที่ 1 แล้วมีคำสั่งใหม่เป็นไม่รับฟ้องกับจำหน่ายคดีในส่วนของจำเลยที่ 1 ออกจากสารบบความ

จำเลยที่ 2 ให้การว่า ฟ้องโจทก์ไม่บรรยายให้แจ้งชัดว่าจำเลยที่ 1เบิกถอนเงินไปจากโจทก์ครั้งสุดท้ายเมื่อใด เป็นต้นเงินจำนวนเท่าใด และมีการคิดคำนวณดอกเบี้ยอย่างไร ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเพราะโจทก์มิได้ฟ้องทายาทของจำเลยที่ 1 ภายใน 1 ปี นับแต่วันที่โจทก์ทราบถึงการตายของจำเลยที่ 1 คดีโจทก์ขาดอายุความ จำเลยที่ 2มิได้ยินยอมด้วยในการที่โจทก์ผ่อนเวลาชำระหนี้ให้จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิด และโจทก์ไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 18 ต่อปี ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2535 จำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญากู้กรุงไทยธนวัฏต่อโจทก์ในวงเงิน107,000 บาท โดยมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันและยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม ตามสัญญากู้และสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.3 และจ.4 ตามลำดับ และปรากฏตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นฉบับลงวันที่ 24 มิถุนายน 2540 ว่า จำเลยที่ 1 ได้ถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2535 และโจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์2540 มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ในประเด็นที่ว่า คดีโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ โจทก์ฎีกาว่า โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์2540 โจทก์เพิ่งทราบถึงการตายของจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 9 เมษายน 2540ซึ่งเป็นวันที่จำเลยที่ 2 ยื่นคำให้การ ดังนั้น จึงต้องถือว่าโจทก์ฟ้องไม่เกิน1 ปี นับแต่ทราบว่าจำเลยที่ 1 ถึงแก่ความตาย คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความนั้น เห็นว่า เกี่ยวกับปัญหาข้อเท็จจริงที่ว่าโจทก์ได้ทราบถึงการตายของจำเลยที่ 1 เมื่อใดนั้น ศาลชั้นต้นวินิจฉัยฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์ได้ทราบถึงการตายของจำเลยที่ 1 ตั้งแต่วันที่ 11 มกราคม 2536 เมื่อโจทก์อุทธรณ์โจทก์ไม่ได้อุทธรณ์โต้แย้งคัดค้านว่าคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นดังกล่าวไม่ถูกต้องหรือไม่อย่างไร ปัญหาข้อเท็จจริงที่ว่าโจทก์ได้ทราบถึงการตายของจำเลยที่ 1 เมื่อใดจึงเป็นอันยุติไปแล้วตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นว่าโจทก์ได้ทราบถึงการตายของจำเลยที่ 1 ตั้งแต่วันที่ 11 มกราคม 2536เมื่อทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาไม่เกินสองแสนบาท ซึ่งต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในข้อเท็จจริง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 248 วรรคหนึ่ง ฎีกาของโจทก์ดังกล่าวข้างต้นนอกจากจะเป็นฎีกาในข้อเท็จจริงอันต้องห้ามแล้วยังเป็นฎีกาในข้อที่โจทก์มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค 2 ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง อีกด้วยศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย ส่วนที่โจทก์ฎีกาว่าหลังจากจำเลยที่ 1 ถึงแก่ความตาย จำเลยที่ 2 ได้ทำหนังสือรับสภาพหนี้ไว้ต่อโจทก์ตามเอกสารหมาย จ.14 คดีโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 จึงไม่ขาดอายุความนั้น ปัญหาข้อนี้ ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ยังไม่ได้วินิจฉัยให้ โดยเห็นว่าโจทก์มิได้บรรยายมาในคำฟ้อง เป็นเรื่องนอกฟ้องนอกประเด็น ศาลฎีกาเห็นว่า อายุความไม่ใช่สภาพแห่งข้อหา โจทก์จึงไม่จำต้องกล่าวมาในคำฟ้องว่าคดีของโจทก์ไม่ขาดอายุความเพราะเหตุใด ฎีกาของโจทก์ข้อนี้จึงมิใช่เรื่องฎีกานอกฟ้องนอกประเด็น เมื่อศาลล่างทั้งสองยังมิได้วินิจฉัยในปัญหาข้อนี้และคดีนี้ต้องห้ามมิให้ฎีกาในข้อเท็จจริง จึงเห็นสมควรย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษาใหม่ในปัญหาดังกล่าวก่อนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 243(1) ประกอบมาตรา 247”

พิพากษายกคำพิพากษาศาลล่างทั้งสอง ให้ศาลชั้นต้นพิจารณาในปัญหาดังกล่าวข้างต้นแล้วพิพากษาใหม่

Share