แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 134 วรรคหนึ่ง บัญญัติถึงผลของคำสั่งปิดคดีว่าเป็นเพียงให้ระงับการจัดการต่าง ๆ ตามที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีอำนาจตามพระราชบัญญัติล้มละลายฯ ไว้เป็นการชั่วคราว แต่ไม่ทำให้คดีล้มละลายสิ้นสุด เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ยังคงมีหน้าที่ตามมาตรา 160 อนุมัติการใด ๆ ที่กฎหมายบัญญัติไว้และตรวจบัญชีรับจ่ายของบุคคลล้มละลายตามมาตรา 134 วรรคหนึ่ง(1)ถึง (3) รวมทั้งยังอาจขอให้ศาลเปิดคดีต่อไปเมื่อเห็นว่าบุคคลล้มละลายมีทรัพย์สินขึ้นใหม่ตามมาตรา 134 วรรคท้ายอีกด้วยจึงต้องถือว่าคดียังคงค้างพิจารณาอยู่ในระหว่างปฏิบัติการของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ เมื่อคดีนี้ได้ยื่นฟ้องก่อนวันที่พระราชบัญญัติล้มละลาย (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2542 ใช้บังคับกรณีจึงต้องบังคับตามกฎหมายว่าด้วยล้มละลายซึ่งใช้อยู่ก่อนพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าวใช้บังคับตามที่พระราชบัญญัติล้มละลาย (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2542 มาตรา 34บัญญัติไว้ จำเลยจะร้องขอให้พ้นจากการเป็นบุคคลล้มละลายตามพระราชบัญญัติล้มละลาย (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2542มาตรา 35 ไม่ได้
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้พิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาดเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2534 และพิพากษาให้จำเลยเป็นบุคคลล้มละลายเมื่อวันที่ 8 เมษายน 2535 หลังจากนั้นเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์รายงานต่อศาลชั้นต้นขอให้มีคำสั่งปิดคดีและศาลชั้นต้นมีคำสั่งปิดคดีเมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2535
จำเลยยื่นคำร้องว่า คดีนี้มีการยื่นฟ้องก่อนพระราชบัญญัติล้มละลาย(ฉบับที่ 5 ) พ.ศ. 2542 ใช้บังคับ และศาลชั้นต้นมีคำสั่งปิดคดีแล้วไม่อยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลและปฏิบัติการของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ทั้งมูลหนี้อันเป็นมูลเหตุที่ฟ้องล้มละลายไม่มีลักษณะเป็นการทุจริตและมีระยะเวลาเกินกว่า 3 ปี นับแต่วันที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลายแล้ว ขอให้มีคำสั่งปลดจำเลยจากการล้มละลาย (ที่ถูก ให้จำเลยพ้นจากการเป็นบุคคลล้มละลาย)ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2542 มาตรา 35
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า คดีนี้ศาลมีคำสั่งให้ปิดคดีเมื่อวันที่ 13 ตุลาคม2535 คำสั่งดังกล่าวมีผลเพียงระงับการจัดการต่าง ๆ ไว้ แต่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ยังมีหน้าที่ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483มาตรา 134 ดังนั้นจึงเป็นคดีที่อยู่ระหว่างปฏิบัติการของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ซึ่งต้องบังคับตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483จึงให้ยกคำร้อง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นรับฟังได้ว่าศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยล้มละลายเมื่อวันที่ 8 เมษายน 2535 และศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ปิดคดีเมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2535 จำเลยยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นเพื่อขอให้มีคำสั่งให้จำเลยพ้นจากการเป็นบุคคลล้มละลายตามพระราชบัญญัติล้มละลาย (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2542 มาตรา 35เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2543 คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยในปัญหาข้อกฎหมายตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยจะร้องขอให้พ้นจากการเป็นบุคคลล้มละลายตามพระราชบัญญัติล้มละลาย (ฉบับที่ 5 ) พ.ศ. 2542 มาตรา 35ได้หรือไม่ ที่จำเลยฎีกาว่าเมื่อศาลมีคำสั่งปิดคดีย่อมทำให้มีผลระงับการจัดการต่าง ๆ ไว้ส่วนพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483มาตรา 134 เป็นเพียงกำหนดว่าเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ยังคงมีหน้าที่ตามมาตรา 134 เท่านั้น มิใช่ยังคงอยู่ในระหว่างปฏิบัติการของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์นั้น เห็นว่า พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 134 วรรคหนึ่งบัญญัติถึงผลของคำสั่งปิดคดีว่าเป็นเพียงให้ระงับการจัดการต่าง ๆ ตามที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีอำนาจตามพระราชบัญญัติล้มละลายพ.ศ. 2483 ไว้เป็นการชั่วคราว แต่ไม่ทำให้คดีล้มละลายสิ้นสุดและเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ยังคงมีหน้าที่ตามมาตรา 160 อนุมัติการใด ๆ ที่กฎหมายบัญญัติไว้และตรวจบัญชีรับจ่ายของบุคคลล้มละลายตามมาตรา 134 วรรคหนึ่ง (1) ถึง (3) รวมทั้งเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ยังอาจขอให้ศาลเปิดคดีต่อไปได้เมื่อเห็นว่าบุคคลล้มละลายมีทรัพย์สินขึ้นใหม่ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 134 วรรคท้าย อีกด้วย กรณีจึงต้องถือว่าคดียังคงค้างพิจารณาอยู่ในระหว่างปฏิบัติการของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ และเมื่อคดีนี้ได้ยื่นฟ้องก่อนวันที่พระราชบัญญัติล้มละลาย(ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2542 ใช้บังคับ จึงต้องบังคับตามกฎหมายว่าด้วยล้มละลายซึ่งใช้อยู่ก่อนพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าวใช้บังคับตามที่พระราชบัญญัติล้มละลาย (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2542 มาตรา 34 บัญญัติไว้ จำเลยจะร้องขอให้พ้นจากการเป็นบุคคลล้มละลายตามพระราชบัญญัติล้มละลาย (ฉบับที่ 5 ) พ.ศ. 2542 มาตรา 35 ไม่ได้ที่ศาลล่างทั้งสองยกคำร้องของจำเลยชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน