คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4973/2545

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ 1 ผิดสัญญาเช่าซื้อ โดยให้จำเลยที่ 2 ที่ 3 ผู้ค้ำประกันร่วมรับผิด จำเลยทั้งสามให้การว่า โจทก์ผู้ให้เช่าซื้อไม่ได้ลงลายมือชื่อในสัญญาเช่าซื้อสัญญาเช่าซื้อจึงตกเป็นโมฆะ ประเด็นว่าสัญญาเช่าซื้อเป็นโมฆะหรือไม่จึงเป็นประเด็นข้อพิพาทที่โจทก์ต้องมีภาระการพิสูจน์ให้ได้ความว่าสัญญาเช่าซื้อรถยนต์สมบูรณ์ไม่เป็นโมฆะ การที่ศาลล่างหยิบยกปัญหาความสมบูรณ์ของสัญญาเช่าซื้อมาวินิจฉัย หาใช่เป็นการวินิจฉัยนอกประเด็นข้อพิพาทไม่
สัญญาเช่าซื้อในช่องเจ้าของผู้ให้เช่าซื้อมีลายมือชื่อบุคคลอยู่สองคนและประทับตราของบริษัทโจทก์ ลายมือชื่อหนึ่งในช่องเจ้าของผู้ให้เช่าซื้อเป็นของ ส. กรรมการผู้หนึ่งแต่อีกลายมือชื่อหนึ่งไม่ทราบว่าเป็นลายมือชื่อของผู้ใดและจะเป็นกรรมการผู้มีอำนาจลงลายมือชื่อผูกพันบริษัทโจทก์ตามที่ระบุไว้ในหนังสือรับรองของนายทะเบียนหรือไม่เมื่อตามหนังสือรับรองบริษัทโจทก์กำหนดว่าต้องมีกรรมการสองคนลงลายมือชื่อร่วมกันและประทับตราสำคัญของบริษัทจึงจะผูกพันบริษัทได้ ถือได้ว่าไม่มีการลงชื่อโจทก์ในฐานะผู้ให้เช่าซื้อครบถ้วนโดยชอบ สัญญาเช่าซื้อจึงมีเพียงลายมือชื่อของจำเลยที่ 1ผู้เช่าซื้อแต่ฝ่ายเดียวย่อมตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 572 วรรคสอง โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เช่าซื้อรถยนต์จากโจทก์ราคา 964,486.08 บาท มีจำเลยที่ 2 และที่ 3 ทำสัญญาค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม จำเลยที่ 1 ผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อ โจทก์บอกเลิกสัญญาแล้ว จำเลยที่ 1 ไม่ส่งมอบรถยนต์คืนทำให้โจทก์ขาดประโยชน์จากการใช้ทรัพย์เป็นเงินรวม 306,000 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนโจทก์ในสภาพเรียบร้อยใช้การได้ดี หากคืนไม่ได้ให้ชดใช้ราคาแทนเป็นเงิน 330,000 บาท กับให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน 306,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินเดือนละ 18,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะส่งมอบรถยนต์คืนหรือชดใช้ราคาแทน

จำเลยทั้งสามให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง สัญญาเช่าซื้อเป็นโมฆะเพราะผู้ลงลายมือชื่อแทนโจทก์ไม่มีอำนาจลงชื่อในสัญญา จำเลยที่ 1 ไม่เคยได้รับหนังสือบอกเลิกสัญญาจากโจทก์ และโจทก์ไม่ได้รับความเสียหายตามฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีคงมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสามหรือไม่ โดยโจทก์ฎีกาว่า เมื่อจำเลยที่ 1 ยอมรับว่าได้ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์กับโจทก์แล้วและไม่ได้นำสืบพยานหลักฐานว่าสัญญาเช่าซื้อเป็นโมฆะส่วนโจทก์นำสืบได้ว่ามีการทำสัญญาเช่าซื้อโดยมีการลงลายมือชื่อคู่สัญญาครบถ้วนแล้วศาลล่างทั้งสองจะพิพากษายกฟ้องโจทก์ด้วยเหตุที่ว่าสัญญาเช่าซื้อไม่ได้ลงลายมือชื่อคู่สัญญาทั้งสองหาได้ไม่ เพราะเป็นการวินิจฉัยนอกประเด็นข้อพิพาทนั้น เห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ 1 ผิดสัญญาเช่าซื้อจึงฟ้องให้จำเลยที่ 1 ผู้เช่าซื้อและจำเลยที่ 2ที่ 3 ในฐานะผู้ค้ำประกันจำเลยที่ 1 รับผิดต่อโจทก์ ซึ่งจำเลยทั้งสามยื่นคำให้การมาแต่แรกแล้วว่า โจทก์ผู้ให้เช่าซื้อไม่ได้ลงลายมือชื่อในสัญญาเช่าซื้อที่พิพาทสัญญาเช่าซื้อจึงตกเป็นโมฆะ ดังนั้น ประเด็นว่าสัญญาเช่าซื้อเป็นโมฆะหรือไม่ จึงเป็นประเด็นข้อพิพาทประเด็นหนึ่งในคดีนี้ที่โจทก์ต้องมีภาระการพิสูจน์ให้ได้ความว่าสัญญาเช่าซื้อรถยนต์สมบูรณ์ไม่เป็นโมฆะดังที่จำเลยทั้งสามต่อสู้ การที่ศาลล่างทั้งสองหยิบยกปัญหาความสมบูรณ์ของสัญญาเช่าซื้อมาวินิจฉัยหาใช่เป็นการวินิจฉัยนอกประเด็นข้อพิพาทดังที่โจทก์ฎีกาไม่ คดีนี้โจทก์มีสัญญาเช่าซื้อเอกสารหมาย จ.4 ซึ่งในช่องเจ้าของผู้ให้เช่าซื้อมีลายมือชื่อบุคคลอยู่สองคนและประทับตราของบริษัทโจทก์แต่นายชุณห์ธวัชวิโรจน์ศิริศักดิ์ ผู้รับมอบอำนาจช่วงโจทก์เบิกความว่า ลายมือชื่อหนึ่งในช่องเจ้าของผู้ให้เช่าซื้อนั้นเป็นของนายสมชาย วิวัฒน์วิศวกร กรรมการผู้หนึ่งแต่กรรมการอีกคนจำลายมือชื่อไม่ได้ ซึ่งแสดงว่าพยานโจทก์ไม่ทราบว่าลายมือชื่อในสัญญาเช่าซื้ออีกคนหนึ่งนั้นเป็นของผู้ใดและจะเป็นกรรมการผู้มีอำนาจลงลายมือชื่อผูกพันบริษัทโจทก์ตามที่ระบุไว้ในหนังสือรับรองของนายทะเบียนเอกสารหมาย จ.1 หรือไม่ เมื่อตามหนังสือรับรองบริษัทโจทก์กำหนดว่า ต้องมีกรรมการสองคนลงลายมือชื่อร่วมกันและประทับตราสำคัญของบริษัทจึงจะผูกพันบริษัทได้ แต่พยานหลักฐานโจทก์รับฟังไม่ได้ว่าผู้ที่ลงลายมือชื่อในช่องเจ้าของผู้ให้เช่าซื้อเป็นกรรมการของบริษัทโจทก์ผู้มีอำนาจลงลายมือชื่อที่ถูกต้อง ถือได้ว่าไม่มีการลงชื่อโจทก์ในฐานะผู้ให้เช่าซื้อครบถ้วนโดยชอบ สัญญาเช่าซื้อจึงคงมีเพียงลายมือชื่อของจำเลยที่ 1 ผู้เช่าซื้อแต่ฝ่ายเดียวสัญญาเช่าซื้อดังกล่าวย่อมตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 572 วรรคสอง ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสามจึงชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share