คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5073/2562

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คดีนี้ศาลชั้นต้นลงโทษจำคุกจำเลยฐานกระทำชำเราเด็กอายุไม่เกินสิบสามปีซึ่งมิใช่ภริยาของตน รวม 2 กระทง กระทงละ 3 ปี 6 เดือน และฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแลโดยปราศจากเหตุอันสมควรเพื่อการอนาจาร รวม 2 กระทง กระทงละ 2 ปี 6 เดือน ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ยังคงลงโทษจำคุกจำเลยตามระยะเวลาที่ศาลชั้นต้นกำหนด เพียงแต่พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นในเรื่องการรวมโทษจำคุกทุกกระทงเท่านั้น อันเป็นการแก้ไขเล็กน้อย จึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง ที่จำเลยฎีกาว่า ขณะจำเลยกระทำความผิด จำเลยเป็นคนมีจิตบกพร่องไม่สมประกอบ โดยพิการทางจิตใจ หรือพฤติกรรมประเภท 4 แต่ยังสามารถรู้สึกผิดชอบได้บ้างหรือยังสามารถบังคับตนเองได้บ้าง อันพึงลงโทษจำเลยน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดที่กระทำลงตาม ป.อ. มาตรา 65 วรรคสอง หรือลดมาตราส่วนโทษให้จำเลยนั้น ก็ปรากฏว่าในชั้นพิจารณาจำเลยให้การรับสารภาพ อีกทั้งศาลอุทธรณ์ภาค 3 ได้วินิจฉัยให้เหตุผลไว้โดยละเอียดแล้วว่าไม่ปรากฏชัดว่าการกระทำความผิดของจำเลยเกิดจากอาการทางจิตของจำเลยกำเริบขึ้น ทำให้จำเลยหย่อนความสามารถรู้สึกผิดชอบหรือหย่อนความสามารถบังคับตนเอง กรณีไม่มีเหตุให้ศาลลงโทษจำเลยน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดที่กระทำลงตาม ป.อ. มาตรา 65 วรรคสอง ฎีกาของจำเลยเท่ากับเป็นการขอให้ศาลฎีกาใช้ดุลพินิจรับฟังพยานหลักฐานแตกต่างไปจากศาลอุทธรณ์ภาค 3 เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามตามบทบัญญัติดังกล่าว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91, 277, 283 ทวิ, 317
จำเลยให้การรับสารภาพ
ระหว่างพิจารณา ผู้เสียหายที่ 1 และนางสาว จ. มารดาของผู้เสียหายที่ 1 ยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ตนคนละ 100,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันทำละเมิดจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การคดีในส่วนแพ่งเฉพาะส่วนของผู้ร้องที่ 1 ขอให้ยกร้อง
ก่อนศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา ผู้ร้องทั้งสองขอถอนคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทน ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 วรรคสาม, 283 ทวิ วรรคสอง, 317 วรรคสาม เป็นการกระทำความผิดหลายกรรม ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานกระทำชำเราเด็กอายุไม่เกินสิบสามปีซึ่งมิใช่ภริยาของตน และฐานพาเด็กอายุไม่เกินสิบห้าปีไปเพื่อการอนาจาร เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ลงโทษฐานกระทำชำเราเด็กอายุไม่เกินสิบสามปีซึ่งมิใช่ภริยาของตนอันเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 รวม 2 กระทง จำคุกกระทงละ 7 ปี และฐานพรากเด็กอายุไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแลโดยปราศจากเหตุอันสมควรเพื่อการอนาจาร รวม 2 กระทง จำคุกกระทงละ 5 ปี รวมจำคุกทั้งสิ้น 24 ปี จำเลยให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กระทงละกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 12 ปี
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 วรรคสาม, 283 ทวิ วรรคสอง (เดิม), 317 วรรคสาม (เดิม) ลดโทษให้กระทงละกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกสองกระทงแรก กระทงละ 3 ปี 6 เดือน และสองกระทงหลัง กระทงละ 2 ปี 6 เดือน รวมจำคุก 10 ปี 24 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้ศาลชั้นต้นลงโทษจำคุกจำเลยฐานกระทำชำเราเด็กหญิงอายุไม่เกินสิบสามปีซึ่งมิใช่ภริยาของตน รวม 2 กระทง กระทงละ 3 ปี 6 เดือน และฐานพรากเด็กอายุไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแลโดยปราศจากเหตุอันสมควรเพื่อการอนาจาร รวม 2 กระทง กระทงละ 2 ปี 6 เดือน ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ยังคงลงโทษจำคุกจำเลยตามระยะเวลาที่ศาลชั้นต้นกำหนด เพียงแต่พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นในเรื่องการรวมโทษจำคุกทุกกระทงเท่านั้น อันเป็นการแก้ไขเล็กน้อย จึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคหนึ่ง ที่จำเลยฎีกาว่า ขณะจำเลยกระทำความผิดจำเลยเป็นคนมีจิตบกพร่องไม่สมประกอบ โดยพิการทางจิตใจหรือพฤติกรรมประเภท 4 แต่ยังสามารถรู้สึกผิดชอบได้บ้างหรือยังสามารถบังคับตนเองได้บ้าง อันพึงลงโทษจำเลยน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดที่กระทำลงตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 65 วรรคสอง หรือลดมาตราส่วนโทษให้จำเลยนั้น ก็ปรากฏว่าในชั้นพิจารณาจำเลยให้การรับสารภาพ อีกทั้งศาลอุทธรณ์ภาค 3 ได้วินิจฉัยให้เหตุผลไว้โดยละเอียดแล้วว่าไม่ปรากฏชัดว่าการกระทำความผิดของจำเลยเกิดจากอาการทางจิตของจำเลยกำเริบขึ้นทำให้จำเลยหย่อนความสามารถรู้สึกผิดชอบหรือหย่อนความสามารถบังคับตนเอง กรณีไม่มีเหตุให้ศาลลงโทษจำเลยน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดที่กระทำลงตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 65 วรรคสอง ฎีกาของจำเลยเท่ากับเป็นการขอให้ศาลฎีกาใช้ดุลพินิจรับฟังพยานหลักฐานแตกต่างไปจากศาลอุทธรณ์ภาค 3 เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามตามบทบัญญัติดังกล่าว ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
พิพากษายกฎีกาของจำเลย

Share