คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 417/2553

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

การที่โจทก์ใช้ทางพิพาทมาเป็นเวลา 30 ปีเศษ โดยได้รับความยินยอมจากจำเลยตลอดมา แม้จะใช้เป็นเวลานานเท่าใด โจทก์ก็ไม่ได้สิทธิในทางภาระจำยอมจากจำเลยตาม ป.พ.พ. มาตรา 1387 เพราะการใช้ทางพิพาทของโจทก์มิได้ประสงค์จะใช้ทางพิพาทอย่างเป็นปรปักษ์ต่อสิทธิในทางพิพาท
ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1350 บัญญัติว่า ถ้าที่ดินแบ่งแยกหรือแบ่งโอนกันเป็นเหตุให้แปลงหนึ่งไม่มีทางออกไปสู่ทางสาธารณะ เจ้าของที่ดินแปลงนั้นมีสิทธิเรียกร้องเอาทางเดินตามมาตราก่อนได้เฉพาะบนที่ดินแปลงที่ได้แบ่งแยกหรือแบ่งโอนกันดังนั้น การที่ที่ดินโจทก์แบ่งแยกมาจากที่ดินแปลงเดิมของ ข. และ ห. ทำให้ไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะ โจทก์จะฟ้องเรียกร้องทางเดินผ่านที่ดินของจำเลยซึ่งมิใช่ที่ดินแปลงเดิมที่ถูกแบ่งแยกหรือแบ่งโอนหาได้ไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้พิพากษาว่า ทางพิพาทเป็นทางภาระจำยอมหรือทางจำเป็นให้จำเลยรื้อถอนท่อนไม้ ท่อนคอนกรีต ลวดหนามและสิ่งกีดขวางอื่นที่ปิดกั้นทางพิพาทให้เรียบร้อย ห้ามไม่ให้ทำสิ่งกีดขวาง หากจำเลยไม่รื้อถอนให้โจทก์เป็นผู้รื้อถอนโดยจำเลยเป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย
จำเลยให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า ทางพิพาทกว้าง 3 เมตร ยาว 81 เมตร ตามแผนที่เอกสารหมาย จ.8 บนที่ดินจำเลยโฉนดเลขที่ 1752 ตำบลขันเงิน อำเภอหลังสวน จังหวัดชุมพร ตกเป็นภาระจำยอมแก่ที่ดินของโจทก์ โฉนดเลขที่ 808 ตำบลขันเงิน อำเภอหลังสวน จังหวัดชุมพร และห้ามจำเลยปิดกั้นทางดังกล่าว กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 3,000 บาท
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังเป็นที่ยุติได้ว่าโจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 808 ตำบลขันเงิน อำเภอหลังสวน จังหวัดชุมพร ของนางสมจิตร์ และที่ดินโฉนดเลขที่ 776 ตำบลขันเงิน อำเภอหลังสวน จังหวัดชุมพร ของนายมณี เป็นแปลงเดียวกัน เมื่อโจทก์ได้รับแบ่งแยกที่ดินมาจากตากับยายแล้ว โจทก์ได้เดินผ่านที่ดินของจำเลยซึ่งอยู่ทางด้านทิศตะวันตกของที่ดินจำเลยไปสู่ถนนสายพะเนียด-เพชรเกษม ตามแผนที่พิพาท ภายหลังจำเลยใช้ลวดหนามมาขึงกั้นปิดทางเข้าออกเพราะเหตุสามีโจทก์ไม่ไปช่วยเก็บสะตอให้กับจำเลย คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า ทางพิพาทในที่ดินของจำเลยตกเป็นทางภาระจำยอมหรือทางจำเป็นแก่ที่ดินโจทก์หรือไม่ โจทก์นำสืบว่าโจทก์เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 808 ตำบลขันเงิน อำเภอหลังสวน จังหวัดชุมพร เมื่อแบ่งแยกมาจากที่ดินเดิมแล้ว ที่ดินของโจทก์ไม่มีทางออกทางอื่นและได้ใช้ทางเดินเข้าออกบนที่ดินของจำเลย กว้าง 3 เมตร ยาว 81 เมตร ตลอดแนวที่ดินของจำเลยไปสู่ถนนสายเพนียด-เพชรเกษม โดยใช้สัญจรมาเป็นเวลาประมาณ 10 ปีเศษ และมีการปรับปรุงเป็นถนนลูกรังรถยนต์สามารถแล่นเข้าออกได้มาอีกประมาณ 10 ปี และเมื่อต้นเดือนธันวาคม 2545 จำเลยได้มาปิดทางพิพาทโดยใช้ลวดหนามมาขึงปิดทางเข้าออก แต่โจทก์เบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านว่า จำเลยได้อนุญาตให้ใช้ทางพิพาทผ่านที่ดินจำเลยไปสู่ถนนสายเพนียด-เพชรเกษม นายยอด ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 3 ตำบลขันเงิน อำเภอหลังสวน จังหวัดชุมพร พยานโจทก์เบิกความว่า โจทก์ใช้ทางพิพาทเข้าออกสู่ถนนสายพะเนียด-เพชรเกษม มาเป็นเวลา 10 ปีเศษ โดยจำเลยเป็นผู้อนุญาตให้โจทก์นำดินลูกรังมาถมเป็นทางพิพาทเพื่อใช้สำหรับให้รถยนต์แล่นเข้าออกได้ และนางผ่อง พยานโจทก์ซึ่งมีบ้านอยู่ห่างจากบ้านของจำเลยประมาณ 100 เมตร เบิกความว่าโจทก์ใช้ทางพิพาทเข้าออกสู่ถนนสาธารณะมาเป็นเวลานาน 30 ปีเศษ โดยจำเลยไม่เคยมาห้าม แต่พยานเบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านว่า จำเลยเป็นผู้อนุญาตให้โจทก์ใช้ทางพิพาทบนที่ดินของจำเลยเป็นการถาวร ส่วนจำเลยเบิกความว่าเดิมโจทก์ใช้ทางเดินออกสู่ถนนสาธารณะสายเขาเงิน-หลังสวน ซึ่งมีระยะทางประมาณ 100 เมตร โดยผ่านที่ดินของนายมณี และเมื่อปี 2540 เกิดน้ำท่วมใหญ่จำเลยจึงอนุญาตให้โจทก์เดินผ่านที่ดินของจำเลยสู่ถนนสายเพนียด-เพชรเกษม ทางด้านทิศตะวันตกของที่ดินจำเลย ซึ่งก่อนหน้านั้นจำเลยใช้ลวดหนามทำเป็นรั้วและเมื่อรั้วลวดหนามชำรุดและโจทก์มาขออนุญาตจำเลยใช้ทางเดินดังกล่าว จำเลยจึงอนุญาตให้โจทก์ใช้ทางพิพาทและเมื่อปี 2542 โจทก์ได้ขออนุญาตนำทรายและกรวดมาถมลงบนที่ดินพิพาทเพื่อให้รถยนต์เข้าออกได้ และสาเหตุที่จำเลยปิดกั้นทางพิพาทเพราะเหตุสามีโจทก์ไม่ไปช่วยเก็บสะตอให้ จำเลยจึงไม่พอใจ เห็นว่า ที่โจทก์และครอบครัวใช้ทางพิพาทในที่ดินของจำเลยเป็นทางออกสู่ถนนสายเพนียด-เพชรเกษม ในครั้งแรกเนื่องจากจำเลยเป็นผู้อนุญาตให้โจทก์และครอบครัวใช้ทางพิพาทซึ่งตัวโจทก์เองเบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านยอมรับว่าจำเลยได้อนุญาตให้โจทก์เดินผ่านทางพิพาทเพื่อไปสู่ถนนสายเพนียด-เพชรเกษม รวมทั้งนางผ่อง ซึ่งเป็นญาติกับโจทก์เองก็เบิกความตอบนทนายจำเลยถามค้านว่า จำเลยเป็นคนอนุญาตให้โจทก์ใช้ทางพิพาทอย่างถาวร ซึ่งสอดคล้องกับพยานจำเลยที่ตัวจำเลยเบิกความยืนยันว่า โจทก์เป็นผู้มาขออนุญาตจำเลยใช้ทางพิพาทเนื่องจากเส้นทางที่โจทก์เคยเดินออกสู่ถนนสายเขาเงิน-หลังสวน เกิดน้ำท่วมใหญ่ และจำเลยก็เคยทำรั้วลวดหนามกั้นไว้ แต่เมื่อรั้วลวดหนามชำรุดและโจทก์มาขออาศัยทางพิพาทเข้าออกจำเลยจึงอนุญาต แม้กระทั่งโจทก์นำทรายและกรวดมาถมลงบนทางพิพาทเพื่อให้รถยนต์ของบุตรโจทก์เข้าออกได้สะดวก โจทก์ก็ยังมาขออนุญาตจากจำเลยเช่นกัน การที่โจทก์ใช้ทางพิพาทมาเป็นเวลาประมาณ 30 ปีเศษ โดยได้รับความยินยอมจากจำเลยตลอดมา แม้จะใช้เป็นเวลานานเท่าใดโจทก์ก็ไม่ได้สิทธิในทางภาระจำยอมจากจำเลย เพราะการใช้ทางพิพาทของโจทก์มิได้ประสงค์จะใช้ทางพิพาทอย่างเป็นปรปักษ์ต่อสิทธิในทางพิพาทของจำเลยแต่อย่างใด โจทก์จึงไม่ได้สิทธิภาระจำยอมในทางพิพาท สำหรับปัญหาว่าทางพิพาทเป็นทางจำเป็นหรือไม่ เห็นว่า โจทก์เบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านว่า เดิมที่ดินของโจทก์เป็นของนายเข็มและนางหีตตาและยาย มีเนื้อที่ 18 ไร่ ต่อมามีการแบ่งแยกออกเป็น 3 แปลง คือ ที่ดินโฉนดเลขที่ 808 ของโจทก์ โฉนดเลขที่ 5041 ของนางสมจิตร์ และที่ดินโฉนดเลขที่ 776 ของนายมณี ทายาท นางหนูหีด บุตรนายเข็ม นางหีต โดยที่ดินของนายมณีติดถนนสาธารณะสายเขาเงิน-หลังสวน และการแบ่งแยกที่ดินดังกล่าวทำให้ที่ดินโจทก์ไม่มีทางออกสู่ถนนสาธารณะ จำเลยจึงอนุญาตให้โจทก์และบริวารเดินผ่านที่ดินของจำเลยซึ่งไม่มีเหตุที่ทำให้โจทก์ได้สิทธิในทางภาระจำยอมดังที่ได้วินิจฉัยมาแล้ว และที่โจทก์อ้างว่าเป็นทางจำเป็นนั้น ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1350 บัญญัติว่า ถ้าที่ดินแบ่งแยกหรือแบ่งโอนกันเป็นเหตุให้แปลงหนึ่งไม่มีทางออกไปสู่ทางสาธารณะไซร้ ท่านว่าเจ้าของที่ดินแปลงนั้นมีสิทธิเรียกร้องเอาทางเดินตามมาตราก่อนได้เฉพาะบนที่ดินแปลงที่ได้แบ่งแยกหรือแบ่งโอนกัน ดังนั้น การที่ที่ดินโจทก์แบ่งแยกมาจากที่ดินแปลงเดิมของนายเข็มและนายหีตทำให้ไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะ โจทก์จะฟ้องเรียกร้องทางเดินผ่านที่ดินของจำเลยซึ่งมิใช่ที่ดินแปลงเดิมที่ถูกอบ่งแยกหรือแบ่งโอนหาได้ไม่ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 วินิจฉัยมาชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน ให้โจทก์ใช้ค่าทนายความชั้นฎีกา 1,500 บาท แก่จำเลย

Share