คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 395/2553

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

การที่จำเลยทั้งสามไปดักซุ่มตรวจค้นโดยเรียกผู้ขับรถจักรยานยนต์ที่ผ่านมาให้หยุดรถ เมื่อผู้เสียหายทั้งสองไม่หยุดรถจักรยานยนต์ให้ตรวจค้น จำเลยทั้งสามก็ตามไปทำร้ายและข่มขู่อ้างเป็นเจ้าพนักงานตำรวจใช้อำนาจตรวจค้นกระเป๋าสตางค์เอาเงินของผู้เสียหายทั้งสองไป แม้จำเลยที่ 3 จะนั่งคร่อมรถจักรยานยนต์ไม่ได้ลงไปร่วมทำร้ายผู้เสียหายทั้งสองและเอาเงินไปด้วย แต่จำเลยที่ 3 ก็อยู่ในบริเวณที่เกิดเหตุในลักษณะคอยคุมเชิงและคอยช่วยเหลือจำเลยที่ 1 และที่ 2 ที่ปฏิบัติการปล้นทรัพย์อยู่ แสดงว่ามีเจตนาร่วมกันที่จะดักตรวจค้นปล้นเอาเงินของผู้ที่ขับรถจักรยานยนต์ผ่านมาตั้งแต่ต้น และได้ร่วมปล้นทรัพย์ด้วยกัน การกระทำของจำเลยทั้งสามจึงเป็นการร่วมกันชิงทรัพย์โดยแบ่งหน้าที่กันทำครบ 3 คน ครบองค์ประกอบความผิดฐานปล้นทรัพย์
ความผิดฐานชิงทรัพย์ซึ่งนำไปสู่ความผิดฐานปล้นทรัพย์นั้น เป็นการกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ โดยใช้กำลังประทุษร้ายหรือขู่เข็ญว่าในทันใดนั้นจะใช้กำลังประทุษร้าย เมื่อมีการใช้กำลังประทุษร้ายแล้ว แม้จะไม่ทำให้ผู้เสียหายได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจก็เข้าองค์ประกอบความผิดฐานชิงทรัพย์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340 วรรคสอง, 33, 83 ริบไม้ท่อนของกลาง และให้จำเลยทั้งสามร่วมกันคืนเงินจำนวน 280 บาท ที่ยังไม่ได้คืนแก่ผู้เสียหายทั้งสอง
จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340 วรรคสอง ประกอบมาตรา 83 (ที่ถูกไม่ปรับบท มาตรา 83) จำคุกจำเลยทั้งสามคนละ 12 ปี จำเลยทั้งสามให้การรับสารภาพในชั้นจับกุม เป็นประโยชน์แก่การพิจารณาลดโทษให้คนละหนึ่งในสี่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกจำเลยทั้งสามมีกำหนดคนละ 9 ปี ริบไม้ท่อนของกลาง และให้จำเลยทั้งสามร่วมกันคืนเงินจำนวน 280 บาท แก่ผู้เสียหายทั้งสอง
จำเลยทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษายืน
จำเลยที่ 2 และที่ 3 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า ในวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง เจ้าพนักงานตำรวจจับกุมจำเลยทั้งสาม พร้อมด้วยรถจักรยานยนต์ 1 คัน ไม้ท่อนจำนวน 1 ท่อน และเงินจำนวน 220 บาท เป็นของกลาง มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 กระทำความผิดตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 6 หรือไม่ …พยานหลักฐานโจทก์รับฟังได้มั่นคงโดยปราศจากข้อสงสัยว่า จำเลยทั้งสามกระทำความผิดตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 6 จริง ที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 นำสืบว่ารถจักรยานยนต์ของจำเลยที่ 3 ถูกคนร้ายลักไปจำเลยทั้งสามจึงชวนกันไปติดตามหารถจักรยานยนต์ที่หายไป จำเลยทั้งสามเห็นรถจักรยานยนต์ที่ผู้เสียหายทั้งสองขับมามีลักษณะคล้ายรถจักรยานยนต์ของจำเลยที่ 3 ที่หายไป จึงเรียกให้ผู้เสียหายทั้งสองหยุดรถจักรยานยนต์ แต่ผู้เสียหายทั้งสองไม่หยุดทั้งยังด่าให้ของลับแก่จำเลยทั้งสาม ทำให้จำเลยทั้งสามโกรธ จึงขับรถจักรยานยนต์ตามไป จำเลยที่ 1 ลงไปถามถึงเหตุผลที่ด่า ผู้เสียหายพูดว่ามึงจะทำไม จำเลยที่ 1 โกรธจึงเตะผู้เสียหายที่นั่งซ้อนท้ายไป 2 ครั้ง ผู้เสียหายทั้งสองถีบจำเลยที่ 1 ล้มลง จำเลยที่ 2 จึงเข้าไปช่วย พอดีจ่าสิบตำรวจณรงค์กับนายนภดลขับรถจักรยานยนต์มายังที่เกิดเหตุและยิงปืนขึ้นฟ้าและบอกให้จำเลยทั้งสามกลับไปจำเลยทั้งสามจึงไปที่ร้านค้าโต๊ะสนุกเกอร์เจ้าพนักงานตำรวจมาจับกุมจำเลยทั้งสามไปสถานีตำรวจโดยยังไม่แจ้งข้อหา วันรุ่งขึ้นพนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อหาจำเลยทั้งสามว่าปล้นทรัพย์ จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธจำเลยที่ 2 และที่ 3 ลงชื่อในบันทึกการจับกุมโดยไม่ได้อ่านข้อความ จำเลยทั้งสามไม่ได้ร่วมกันปล้นทรัพย์ จำเลยที่ 1 และที่ 2 ทะเลาะวิวาทกับผู้เสียหายทั้งสองเท่านั้น เห็นว่า รถจักรยานยนต์ของจำเลยที่ 3 ถูกคนร้ายลักไปตั้งแต่วันที่ 3 สิงหาคม 2544 ก่อนเกิดเหตุนานถึง 21 วัน คนร้ายน่าจะนำรถจักรยานยนต์ออกไปขายหรือใช้นอกพื้นที่แล้วไม่น่าจะนำมาใช้ในท้องที่แถวหมู่บ้านที่ลักรถจักรยานยนต์ไป จึงไม่สมเหตุสมผลที่จำเลยทั้งสามจะไปดักซุ่มดูรถจักรยานยนต์ที่ถูกลักไป ทั้งเป็นเวลาในยามวิกาลดึกดื่นเช่นนั้นอีกด้วย พฤติการณ์ของจำเลยทั้งสามน่าจะเป็นการร่วมกันดักตรวจค้นผู้ขับรถจักรยานยนต์ผ่านมาโดยอ้างว่าเป็นเจ้าพนักงานตำรวจแล้วถืออำนาจเอาเงินในกระเป๋าสตางค์ไป เมื่อผู้เสียหายทั้งสองไม่หยุดรถจักรยานยนต์ให้ตรวจค้น จึงติดตามไปทำร้ายผู้เสียหายทั้งสองและข่มขู่อ้างตนเป็นเจ้าพนักงานตำรวจใช้อำนาจทำการตรวจค้นกระเป๋าสตางค์และเอาเงินในกระเป๋าสตางค์ไป ที่ไม่เอาทรัพย์สินอื่นไปด้วยเพื่อให้ผู้เสียหายทั้งสองเข้าใจว่าเป็นตำรวจจริง ไม่ใช่คนร้าย และจะได้ไม่ไปแจ้งความนั้นเองพยานหลักฐานจำเลยทั้งสามจึงไม่มีน้ำหนักหักล้างพยานหลักฐานโจทก์ได้ ที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ฎีกาว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 ทะเลาะวิวาทกับผู้เสียหายทั้งสอง โดยจำเลยที่ 3 ไม่ได้ร่วมกระทำความผิดด้วยจึงไม่เป็นความผิดฐานปล้นทรัพย์นั้น เห็นว่า พฤติการณ์จำเลยทั้งสามที่ไปดักซุ่มตรวจค้นด้วยกัน ตามไปทำร้ายและเอาเงินของผู้เสียหายทั้งสองด้วยกัน แม้จำเลยที่ 3 จะนั่งคร่อมรถจักรยานยนต์ไม่ได้ลงไปร่วมทำร้ายผู้เสียหายทั้งสองและเอาเงินไปด้วย แต่จำเลยที่ 3 ก็อยู่ในบริเวณที่เกิดเหตุในลักษณะคอยคุมเชิงและคอยช่วยเหลือจำเลยที่ 1 และที่ 2 ที่ปฏิบัติการปล้นทรัพย์อยู่นั้นเอง ตามพฤติการณ์แสดงว่ามีเจตนาร่วมกันที่จะดักตรวจค้นปล้นเอาเงินของผู้ที่ขับรถจักรยานยนต์ผ่านมาตั้งแต่ต้นและได้ร่วมปล้นทรัพย์ด้วยกัน การกระทำของจำเลยทั้งสามชี้ชัดว่าร่วมกันชิงทรัพย์โดยแบ่งหน้าที่กันทำครบ 3 คน ครบองค์ประกอบความผิดฐานปล้นทรัพย์แล้ว ที่จำเลยที่ 3 ฎีกาว่า บาดแผลของผู้เสียหายที่ 2 ไม่ถึงอันตรายแก่กายและจิตใจ จึงไม่เป็นความผิดฐานชิงทรัพย์และปล้นทรัพย์ตามลำดับนั้น เห็นว่า ความผิดฐานชิงทรัพย์ซึ่งนำไปสู่ความผิดฐานปล้นทรัพย์นั้น เป็นการกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ โดยใช้กำลังประทุษร้ายหรือขู่เข็ญว่าในทันใดนั้นจะใช้กำลังประทุษร้าย เมื่อมีการใช้กำลังประทุษร้ายแล้ว แม้จะไม่ทำให้ผู้เสียหายได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจก็เข้าองค์ประกอบความผิดฐานชิงทรัพย์ และเมื่อร่วมกระทำความผิดด้วยกันตั้งแต่ 3 คนขึ้นไป จึงเป็นความผิดฐานปล้นทรัพย์ตามฟ้องแล้ว ส่วนที่ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยที่ 2 และที่ 3 สถานเบานั้น เห็นว่า ศาลล่างทั้งสองลงโทษจำคุกขั้นต่ำตามกฎหมายแล้ว และที่ลดโทษจำคุกที่จะลงให้หนึ่งในสี่ก็เหมาะสมแก่พฤติการร์แห่งคดีแล้ว เพราะจำเลยทั้งสามให้การรับสารภาพในชั้นจับกุมเท่านั้น หาได้รับสารภาพในชั้นสอบสวนหรือชั้นพิจารณาด้วยไม่ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษามานั้น ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกาแล้ว ฎีกาของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share