คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 288/2553

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ก่อนเกิดเหตุนักศึกษาของโรงเรียนที่ผู้ตายและผู้เสียหายทั้งสามกับนักศึกษาของโรงเรียนที่จำเลยกับพวกเรียนอยู่มีเรื่องทะเลาะวิวาทกันบ่อยครั้ง อีกทั้งจำเลยพกมีดติดตัวอยู่ย่อมเป็นการผิดปกติวิสัยที่สุจริตชนทั่วไปพึงปฏิบัติ แสดงให้เห็นอย่างชัดแจ้งว่าจำเลยกับพวกทุกคนอยู่ในสภาพเตรียมพร้อมที่จะทำการทะเลาะวิวาทกับคู่อริจำเลยก็ย่อมต้องรู้อยู่แก่ใจว่าพวกของจำเลยคนอื่น ๆ ก็จะต้องมีอาวุธร้ายแรงอย่างเช่นอาวุธปืนติดตัวมาด้วยเช่นกัน จำเลยเป็นคนที่เริ่มต้นก่อการวิวาทขึ้น โดยพูดจาท้าทายผู้ตายและผู้เสียหายทั้งสาม แล้วจำเลยกับพวกพากันขึ้นไปทำร้ายผู้ตายและผู้เสียหายทั้งสามบนรถโดยสารทั้งทางประตูหน้าและประตูหลังท้ายรถ เมื่อจำเลยใช้มีดซึ่งมีความยาวทั้งคมมีดและด้ามประมาณ 1 ฟุตครึ่ง เป็นอาวุธฟันผู้เสียหายที่ 2 ที่เท้าซ้าย 1 ครั้ง และใต้เท้าซ้ายอีก 1 ครั้ง จากนั้นพวกของจำเลยยิงอาวุธปืนกระสุนปืนถูกผู้เสียหายที่ 2 ที่บริเวณสะโพกขวา แต่จำเลยก็ยังไม่หยุดทำร้ายผู้อื่นและใช้มีดฟันผู้เสียหายที่ 3 อีกถึง 3 ครั้ง ถูกที่ไหล่ซ้ายและสะบักซ้าย จนกระทั่งมีเสียงปืนดังขึ้นอีก กระสุนปืนถูกผู้ตายที่ราวนมขวา จำเลยกับพวกจึงมีเจตนาร่วมกันที่จะทำการประทุษร้ายผู้ตายและผู้เสียหายทั้งสามมาตั้งแต่ต้นโดยร่วมมือร่วมใจกันคบคิดและตระเตรียมกันหาอาวุธติดตัวเพื่อทำการประทุษร้ายผู้ตายและผู้เสียหายทั้งสามอันเป็นพฤติกรรมที่จำเลยกับพวกเล็งเห็นผลได้ตลอดเวลา จะอ้างว่าผลที่เกิดกับผู้ตายและผู้เสียหายอื่น ๆ มิใช่การกระทำของจำเลยเพราะจำเลยมิได้ร่วมกระทำความผิดอันเกิดจากการกระทำของพวกจำเลยหาได้ไม่
จำเลยกับพวกจำนวนกว่า 10 คน ใช้ทั้งปืนและมีดขนาดใหญ่เป็นอาวุธยิงและฟันตลอดจนกระทืบ เตะและต่อยในลักษณะรุมทำร้ายผู้ตายและผู้เสียหายทั้งสามโดยไม่ปรากฏว่าจำเลยกับพวกมีสาเหตุโกรธเคืองกันเป็นส่วนตัวมาก่อน ถือได้ว่าจำเลยกับพวกได้กระทำต่อผู้ตายและผู้เสียหายทั้งสามด้วยความรุนแรงอย่างอุกอาจเยี่ยงอันธพาล ไม่เคารพยำเกรงต่อกฎหมายบ้านเมือง นับว่าเป็นภัยร้ายแรงต่อสังคมโดยส่วนรวมและเป็นการทำลายภาพพจน์ของชาติบ้านเมืองเป็นอย่างมาก แม้ขณะเกิดเหตุจำเลยยังเป็นนักศึกษาแต่ก็มีอายุถึงยี่สิบปีบรรลุนิติภาวะแล้ว ย่อมต้องมีความรู้สึกผิดชอบชั่วดีที่จะไม่กระทำความผิดร้ายแรงเช่นนั้น ทั้งการที่ศาลล่างทั้งสองใช้ดุลพินิจลงโทษจำเลยโดยไม่ลงโทษในความผิดฐานร่วมกับพวกฆ่าผู้อื่นและพยายามฆ่าผู้อื่นโดยเจตนาตามคำฟ้อง นับว่าเป็นผลดีแก่จำเลยมากอยู่แล้ว ทั้งยังเพื่อมิให้เป็นเยี่ยงอย่างที่ไม่ดีแก่บุคคลอื่นอีกต่อไป ส่วนที่จำเลยอ้างความจำเป็นเกี่ยวกับครอบครัวก็เป็นความจำเป็นที่มีอยู่ด้วยกันทุกคน กรณีจึงยังไม่มีเหตุสมควรเพียงพอที่จะรอการลงโทษให้แก่จำเลย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 80, 83, 91, 288, 295, 371, 391 ริบของกลาง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 290 (ที่ถูก มาตรา 290 วรรคแรก), 295, 297 (ที่ถูก มาตรา 297 (8)), 371, 391 เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 วางโทษตามมาตรา 290 (ที่ถูก มาตรา 290 วรรคแรก) จำคุก 3 ปี ตามมาตรา 297 (ที่ถูก มาตรา 297 (8)) จำคุก 2 ปี ตามมาตรา 295 จำคุก 6 เดือน คำให้การของจำเลยชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาในข้อหานี้ มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 4 เดือน วางโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 371 ปรับ 100 บาท ตามมาตรา 391 จำคุก 1 เดือน รวมจำคุก 5 ปี 5 เดือน และปรับ 100 บาท ริบของกลาง ไม่ชำระค่าปรับให้บังคับตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้แย้งกันในชั้นฎีกาฟังเป็นยุติได้ว่า ตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุในฟ้อง ขณะที่ผู้ตายกับผู้เสียหายที่ 2 ถึงที่ 4 ซึ่งเป็นนักศึกษาของโรงเรียนเทคโนโลยีกรุงธนกำลังนั่งรถโดยสารประจำทางสาย 84 ก ไปถึงที่เกิดเหตุซึ่งเป็นป้ายจอดรถโดยสารประจำทางและคนขับได้หยุดรถขณะนั้นจำเลยกับพวกจำนวนหลายคนซึ่งเป็นนักศึกษาของโรงเรียนพาณิชย์การกรุงเทพ กำลังยืนอยู่ที่บริเวณป้ายจอดรถดังกล่าว หลังจากนั้นจำเลยกับพวกได้ขึ้นไปบนรถโดยสารแล้วเกิดการชุลมุนทำร้ายกันขึ้น จำเลยใช้มีดอีโต้มีความยาวทั้งด้ามและคมมีดประมาณ 1 ฟุตครึ่ง ซึ่งจำเลยพาติดตัวไปฟันผู้เสียหายที่ 3 จนได้รับอันตรายแก่กาย ส่วนพวกของจำเลยใช้อาวุธปืนขนาด .22 ยิงผู้ตายถึงแก่ความตาย และยิงผู้เสียหายที่ 2 ได้รับอันตรายแก่กายสาหัส กับร่วมกันเตะและกระทืบผู้เสียหายที่ 4 แต่ผู้เสียหายที่ 4 ไม่ได้รับอันตรายแก่กาย ต่อมาวันที่ 13 พฤศจิกายน 2541 เจ้าพนักงานตำรวจจับกุมจำเลยได้ สำหรับข้อหาความผิดฐานฆ่าและพยายามฆ่าผู้อื่นโดยเจตนานั้นเป็นอันยุติไปแล้วตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นเพราะโจทก์มิได้อุทธรณ์…
คดีมีปัญหาจะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า มีเหตุสมควรเพียงพอที่จะรอการลงโทษให้จำเลยหรือไม่ เห็นว่า ตามพฤติการณ์แห่งคดีฟังได้ว่าจำเลยกับพวกจำนวนกว่า 10 คน ใช้ทั้งปืนและมีดขนาดใหญ่เป็นอาวุธยิงและฟันตลอดจนกระทืบเตะและต่อยในลักษณะรุมทำร้ายผู้ตายและผู้เสียหายทั้งสามจนผู้ตายถึงแก่ความตายและผู้เสียหายที่ 2 ได้รับบาดเจ็บสาหัส โดยไม่ปรากฏว่าจำเลยกับพวกมีสาเหตุโกรธเคืองกันเป็นส่วนตัวกับผู้ตายและผู้เสียหายทั้งสามมาก่อน พฤติการณ์ดังกล่าวถือได้ว่าจำเลยกับพวกได้กระทำต่อผู้ตายและผู้เสียหายทั้งสามด้วยความรุนแรงอย่างอุกอาจเยี่ยงอันธพาลไม่เคารพยำเกรงต่อกฎหมายบ้านเมือง นับว่าเป็นภัยร้ายแรงต่อสังคมโดยส่วนรวมและเป็นการทำลายภาพพจน์ของชาติบ้านเมืองเป็นอย่างมาก แม้ขณะเกิดเหตุจำเลยยังเป็นนักศึกษาแต่ก็มีอายุถึงยี่สิบปีบรรลุนิติภาวะแล้ว ย่อมต้องมีความรู้สึกผิดชอบชั่วดีที่จะไม่กระทำความผิดร้ายแรงเช่นนั้น อีกทั้งการที่ศาลล่างทั้งสองใช้ดุลพินิจลงโทษจำเลยในสถานดังกล่าวมาโดยไม่ลงโทษจำเลยในความผิดฐานร่วมกับพวกฆ่าผู้อื่นและพยายามฆ่าผู้อื่นโดยเจตนาตามคำฟ้องก็นับว่าเป็นผลดีแก่จำเลยมากอยู่แล้ว ทั้งยังเพื่อมิให้เป็นเยี่ยงอย่างที่ไม่ดีแก่บุคคลอื่นอีกต่อไป ส่วนที่จำเลยอ้างความจำเป็นเกี่ยวกับครอบครัวก็เป็นความจำเป็นที่มีอยู่ด้วยกันทุกคน กรณีจึงยังไม่มีเหตุสมควรเพียงพอที่รอการลงโทษให้แก่จำเลย ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามานั้นชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share