คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 879/2506

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยขับรถโดยประมาทโดยความเร็วสูงเกินอัตราที่กำหนดไว้ จนรถตกถนนพลิกหงายท้อง ทำให้คนโดยสารบาดเจ็บ ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติจราจรทางบกและประมวลกฎหมายอาญา ศาลชั้นต้นฟ้องว่าจำเลยขับรถเร็วเกินอัตราเท่านั้น พิพากษาลงโทษตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก ให้ปรับจำเลย 100 บาท ศาลอุทธรณ์ฟังว่าจำเลยกระทำโดยประมาททำให้คนโดยสารบาดเจ็บด้วย พิพากษาแก้ว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 300 ด้วย ให้จำคุก 1 ปี นอกนั้นคงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ดังนี้ จำเลยฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงได้ว่า การที่รถจำเลยตกถนนพลิกหงายท้องนั้น มิได้เกิดจากความประมาทของจำเลย.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยขับรถยนต์เร็วเกินอัตราความเร็วที่กำหนดไว้มาก ทำให้บังคับรถยนต์ไว้ในผิวจราจรในเส้นทางไม่ได้ รถเซไปมาจนออกนอกถนน ตกจากถนนพลิกหงายทำให้ผู้โดยสารมีอันตรายแก่การถึงสาหัสบ้างไม่สาหัสบ้าง ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.๒๔๗๗ มาตรา ๒๘,๒๙,๖๖ ฉบับที่ ๓ พ.ศ.๒๔๘๑ มาตรา ๔ กฎกระทรวงมหาดไทยออกตามความในพระราชบัญญัติจราจรทางบก ฯ ประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๕๙,๓๐๐,๓๙๐,๙๐,๙๑ และสั่งถอนในอนุญาตขับขี่ ฯ
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นฟังว่า จำเลยขับรถเร็วเกินอัตรา แต่เหตุที่รถจำเลยตกถนนไม่ใช่เพราะความประมาทเลินเล่อของจำเลย พิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.๒๔๗๗ มาตรา ๒๘ ลงโทษปรับจำเลย ๑๐๐ บาท ข้อหานอกนั้นให้ยกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา-มาตรา ที่ฟ้องด้วย
ศาลอุทธรณ์เห็นว่า การที่รถจำเลยตกถนนพลิกหงายเพราะแข่งกันเพื่อพยายามแย่งคนโดยสาร พฤติการณ์ของจำเลยเป็นการกระทำโดยประมาททำให้คนโดยสารบาดเจ็บและบาดเจ็บสาหัส พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๓๐๐ ให้จำคุก ๑ ปี นอกจากที่แก้นี้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกาว่า รถจำเลยถูกรถนายจรูญแซงตัดหน้ากระแทกเอาจนตกถนน ไม่ได้เกิดจากความประมาทของจำเลย
ศาลฎีกาเห็นว่า มีปัญหาข้อเท็จจริงมาสู่ศาลฎีกาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๓๐๐ ด้วยหรือไม่ และเห็นว่า ที่ศาลอุทธรณ์แก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๓๐๐ นอกจากพระราชบัญญัติจราจรด้วย นั้น เท่ากับว่า ถ้ายกเรื่องผิดพระราชบัญญัติจราจรเสียแล้ว ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับคำพิพากษาศาลชั้นต้นในความผิดฐานนี้ จำเลยจึงมีสิทธิฎีกาได้ คดีไม่ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๒๑๘ ดังที่โจทก์แก้ฎีกาคัดค้น
เมื่อได้วินิจฉัยข้อเท็จจริงด้วยแล้ว ศาลฎีกาพิพากษายืน.

Share