คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1785/2554

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ความผิดฐานลักทรัพย์ตาม ป.อ. มาตรา 334 และ 335 นั้น เป็นคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา กล่าวคือ เป็นความผิดฐานลักทรัพย์ในทางอาญา และเป็นละเมิดในทางแพ่ง ผู้ที่ลักทรัพย์ไปต้องคืนหรือต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทน คือราคาทรัพย์สินและค่าเสียหาย ผู้ที่ลักทรัพย์ไปจึงมีสิทธิครอบครองดูแลทรัพย์สินที่ลักไปไว้เพื่อคืนแก่ผู้เสียหาย
การที่จำเลยเอารถจักรยานยนต์ไปจาก ส. โดยทุจริต แม้ ส. จะเป็นผู้ที่ลักทรัพย์มาจากผู้เสียหายอีกต่อหนึ่ง ก็ถือว่าจำเลยเป็นผู้แย่งการครอบครองไปจาก ส. การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานลักทรัพย์ หาใช่เป็นความผิดฐานรับของโจรไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 357
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 (1) วรรคแรก ขณะเกิดเหตุจำเลยมีอายุ 18 ปีเศษ ลดมาตราส่วนโทษให้หนึ่งในสาม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 76 (เดิม) วางโทษจำคุก 3 ปี ทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์อยู่บ้าง นับเป็นเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสาม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 2 ปี
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีข้อวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลย จำเลยมิได้กระทำความผิดตามที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาหรือไม่ จำเลยฎีกาประการแรกว่า มิได้เอารถจักรยานยนต์ไปจากนายสุทธิพรนั้น เห็นว่า นายสุทธิพรยืนยันว่าไม่ยินยอมให้จำเลยกับพวกเอารถจักรยานยนต์ไป คำเบิกความของนายสุทธิพรสมเหตุผลเพราะนายสุทธิพรลักทรัพย์รถจักรยานยนต์เพื่อไปขับแข่ง แต่ยังไม่ทันขับแข่งตามความประสงค์ก็ถูกเอาไป จึงเชื่อว่าจำเลยกับพวกแย่งการครอบครองรถจักรยานยนต์ไปจากนายสุทธิพร การที่จำเลยร่วมเดินทางไปกับนายอรรถสิทธิ์และนายท็อป แม้นายอรรถสิทธิ์จะเป็นผู้เอารถจักรยานยนต์ไปจากนายสุทธิพรขับเป็นคนแรก แต่ต่อมาในวันเดียวกันในเวลาไม่นานนักจำเลยก็นำรถจักรยานยนต์คันดังกล่าวไปขับ และครอบครองตลอดมาจนเจ้าพนักงานตำรวจจับจำเลยได้พร้อมรถจักรยานยนต์ เป็นเวลาหลังจากเอาไปแล้วเกือบ 8 เดือน หากจำเลยมิได้เอารถจักรยานยนต์ไปจากนายสุทธิพร แต่ขอยืมจากนายอรรถสิทธิ์จริง จำเลยก็ควรคืนรถจักรยานยนต์ให้แก่นายอรรถสิทธิ์หรือไปแจ้งแก่เจ้าพนักงานตำรวจ แม้จะมีการแต่งรถเพื่อแข่งจริงก็ตาม จำเลยก็แจ้งได้ว่ามิได้เป็นผู้ดัดแปลงรถจักรยานยนต์ มิใช่ครอบครองและใช้ตลอดมา โดยถอดแผ่นป้ายทะเบียนออก ซึ่งถือเป็นข้อพิรุธแสดงถึงความไม่บริสุทธิ์ของจำเลยประการหนึ่งเพราะรถจักรยานยนต์ดังกล่าวจดทะเบียนและมีแผ่นป้ายทะเบียนแล้ว และติดแผ่นป้ายทะเบียนอยู่ในขณะที่จำเลยเอาไป ที่จำเลยอ้างว่าเพื่อนของจำเลยเป็นคนถอดแผ่นป้ายออกนั้น ก็เป็นการเบิกความลอย ๆ ไม่ปรากฏว่าเพื่อนจำเลยคนใดเป็นคนถอดออก จึงไม่มีน้ำหนักรับฟัง เชื่อว่าจำเลยเป็นผู้ถอดแผ่นป้ายทะเบียนออกเอง ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่าจำเลยเอารถจักรยานยนต์ไปจากนายสุทธิพรโดยนายสุทธิพรไม่ยินยอม จึงเป็นการเอาไปโดยทุจริต คงมีข้อวินิจฉัยต่อไปว่า การที่จำเลยเอารถจักรยานยนต์ไปจากนายสุทธิพรที่ลักทรัพย์มาจากผู้เสียหายอีกต่อหนึ่งโดยทุจริตจะเป็นความผิดฐานลักทรัพย์หรือไม่ เห็นว่า ความผิดฐานลักทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 334 และ 335 เป็นคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา กล่าวคือเป็นความผิดฐานลักทรัพย์ในทางอาญาและละเมิดในทางแพ่ง เมื่อพนักงานอัยการยื่นฟ้องคดีอาญา กฎหมายให้เรียกทรัพย์สินหรือราคาคืนแทนผู้เสียหายด้วย หากพนักงานอัยการไม่เรียกให้ ผู้เสียหายก็มีสิทธิที่จะฟ้องทางแพ่งจากผู้ที่ลักทรัพย์ไปได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 43,44 และ 45 เพื่อให้ผู้ลักทรัพย์คืนทรัพย์สินที่ลักไปพร้อมค่าเสียหาย หากไม่สามารถคืนได้อาจเป็นเพราะทรัพย์สินสูญหายหรือบุบสลายเสียหายไปจนใช้การไม่ได้ ผู้ที่ลักทรัพย์ไปก็ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทน คือราคาทรัพย์สินและค่าเสียหาย ดังนั้นผู้ที่ลักทรัพย์ไปจึงมีสิทธิครอบครองดูแลทรัพย์สินที่ลักไปไว้เพื่อคืนแก่ผู้เสียหายเพราะถ้าทรัพย์สินสูญหายหรือบุบสลายก็จะต้องรับผิดต่อผู้เสียหายในทางแพ่งดังกล่าว การที่จำเลยเอารถจักรยานยนต์ไปจากนายสุทธิพรโดยทุจริต แม้เป็นการเอาไปจากการครอบครองของนายสุทธิพรที่ลักทรัพย์มาจากผู้เสียหายอีกต่อหนึ่ง จึงมีความผิดฐานลักทรัพย์ คงมีข้อวินิจฉัยต่อไปว่า สมควรลงโทษจำเลยสถานเบาหรือไม่ เห็นว่า จำเลยให้การปฏิเสธต่อสู้คดีมาโดยตลอด หาได้สำนึกในการกระทำแต่อย่างใด การที่ศาลล่างทั้งสองมีความเห็นต้องกันที่ลดมาตราส่วนโทษให้หนึ่งในสาม และลดโทษให้อีกหนึ่งในสามนับว่าเป็นประโยชน์แก่จำเลยมากแล้ว ไม่มีเหตุจะเปลี่ยนแปลง ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share