แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
คดีมีประเด็นข้อพิพาทหลายข้อ ต่อมาระหว่างพิจารณาคู่ความขอสละประเด็นข้ออื่น คงเหลือประเด็นข้อเดียวว่า โจทก์รังวัดเข้ามาในที่ดินของจำเลยหรือไม่ ดังนี้ ย่อมแสดงว่าจำเลยสละข้อต่อสู้อื่น ๆ ทั้งหมด คงให้ศาลสืบพยานและวินิจฉัยประเด็นดังกล่าวข้อเดียวเป็นข้อแพ้ชนะ ฉะนั้นหากฟังได้ว่าโจทก์รังวัดเข้าไปในที่ดินของจำเลย ศาลต้องพิพากษายกฟ้องแต่ถ้าฟังได้ว่าไม่ได้รังวัดเข้าไปในที่ดินของจำเลย ก็ต้องพิพากษาบังคับให้จำเลยรับรองแนวเขตที่ดินของโจทก์ตามฟ้อง จะอ้างว่าคำขอท้ายฟ้องของโจทก์ไม่อาจบังคับตามกฎหมายให้โจทก์ได้หาได้ไม่ จึงต้องย้อนสำนวนให้ศาลชั้นต้นสืบพยานโจทก์จำเลยในประเด็นดังกล่าวต่อไปแล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่าโจทก์เป็นผู้ครอบครองที่ดิน 2 แปลงเป็นที่ดินน.ส.3 ทิศเหนือจดที่ดินโฉนดเลขที่ 10649 ของจำเลยทั้งเก้า และทิศตะวันออกจดที่ดิน น.ส.3 ของจำเลยที่ 7 เมื่อวันที่ 15 มีนาคม2525 นางพยุง กระบิลตัวแทนโจทก์กับจำเลยที่ 4 ตัวแทนของจำเลยทั้งเก้าได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันโดยตกลงจะไปติดต่อเจ้าพนักงานที่ดินมาทำการรังวัดตรวจสอบที่ดินของตนหากเจ้าพนักงานที่ดินเห็นว่าฝ่ายใดผิดฝ่ายนั้นจะต้องรับรองแนวเขตตามที่เจ้าพนักงานรังวัดเห็นว่าถูกต้อง หลังจากตกลงกันแล้ว จำเลยทั้งเก้ากลับเป็นฝ่ายผิดสัญญาโดยไม่ยอมให้เจ้าพนักงานที่ดินรังวัดสอบเขต เมื่อประมาณปลายเดือนมีนาคม 2525 โจทก์ประสงค์จะขอรังวัดออกโฉนดที่ดินของโจทก์ จึงยื่นคำร้องขอรังวัดออกโฉนดที่ดิน เจ้าพนักงานที่ดินทำการรังวัดตรวจสอบแต่ไม่สามารถออกโฉนดที่ดินให้โจทก์ได้ เพราะจำเลยทั้งเก้าไม่ยอมรับรองแนวเขตต่อเจ้าพนักงานที่ดินและคัดค้านอีกด้วย เป็นการละเมิดต่อโจทก์และยังเป็นการผิดสัญญาประนีประนอมยอมความอีกด้วย ขอคิดค่าเสียหายถึงวันฟ้องเป็นเงิน 10,000 บาท ขอให้พิพากษาบังคับให้จำเลยทั้งเก้ารับรองแนวเขตที่ดินของโจทก์หากไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาให้จำเลยทั้งเก้าร่วมกันใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน 10,000 บาท กับดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งเก้าให้การว่า โจทก์นำชี้แนวเขตบุกรุกเข้ามาในที่ดินของจำเลย นางพยุง กระบิล ไม่ใช่ตัวแทนของโจทก์ ข้อตกลงที่ทำไว้ไม่ใช่ข้อตกลงระหว่างโจทก์จำเลย โจทก์รังวัดรุกล้ำเข้ามาในที่ดินของจำเลย จำเลยจึงไม่ยอมและคัดค้านการรังวัดสอบเขตที่ดินของโจทก์ การคัดค้านของจำเลยจึงไม่เป็นการละเมิด โจทก์เสียค่าใช้จ่ายในการรังวัดไม่เกิน 500 – 600 บาทขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าแม้จะพิจารณาได้ความอย่างไร คำขอท้ายฟ้องของโจทก์ก็ไม่อาจบังคับตามกฎหมายให้โจทก์ได้ พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า เจ้าพนักงานที่ดินสามารถทำการรังวัดที่ดินของโจทก์ได้ตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 69 ทวิ การกระทำของจำเลยไม่เป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า ในชั้นชี้สองสถานศาลกำหนดประเด็นข้อพิพาทว่า 1) ที่ดินตาม น.ส.3 ของโจทก์มีเนื้อที่เท่าใด และมีอาณาเขตติดต่อกับที่ดินของผู้ใดบ้าง 2) ข้อตกลงระหว่างนางพยุง กระบิลใช้ยันโจทก์จำเลยได้หรือไม่เพียงใด ถ้าใช้ได้จำเลยผิดข้อตกลงกับโจทก์หรือไม่ 3) โจทก์รังวัดเข้ามาในที่ดินของจำเลยหรือไม่ 4) โจทก์เสียหายหรือไม่เพียงใดต่อมาก่อนสืบพยานคู่ความแถลงขอสละประเด็นข้อ 1, 2 และ 4 คงเหลือประเด็นข้อ 3 เพียงข้อเดียวว่า โจทก์รังวัดเข้ามาในที่ดินของจำเลยหรือไม่ ดังนี้ย่อมแสดงว่าจำเลยสละข้อต่อสู้อื่นๆ ทั้งหมด คงให้ศาลสืบพยานและวินิจฉัยประเด็นข้อ 3 ข้อเดียวเป็นข้อแพ้ชนะ ฉะนั้น หากสืบพยานเสร็จฟังได้ว่า โจทก์รังวัดเข้าไปในที่ดินของจำเลย ศาลต้องพิพากษายกฟ้อง แต่ถ้าฟังได้ว่าไม่ได้รังวัดเข้าไปในที่ดินของจำเลย ก็ต้องพิพากษาบังคับให้จำเลยรับรองแนวเขตที่ดินของโจทก์ตามฟ้องมิใช่ว่าแม้จะพิจารณาได้ความอย่างไร คำขอท้ายฟ้องของโจทก์ก็ไม่อาจบังคับตามกฎหมายให้โจทก์ได้ดังที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัย ศาลชั้นต้นจะต้องสืบพยานโจทก์จำเลยในประเด็นที่ว่าโจทก์รังวัดเข้ามาในที่ดินของจำเลยหรือไม่ต่อไป ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย อนึ่ง คดีนี้โจทก์ฎีกาขอให้ศาลชั้นต้นสืบพยานโจทก์จำเลยต่อไปแล้วพิพากษาใหม่ มิได้ฎีกาขอให้โจทก์ชนะคดีตามฟ้อง ทั้งประเด็นค่าเสียหายโจทก์จำเลยก็สละเสียแล้ว จึงเป็นคดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ ต้องเสียค่าขึ้นศาลสองร้อยบาทตามตาราง 1 ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ข้อ 2 (ก)
พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ให้ศาลชั้นต้นสืบพยานโจทก์จำเลยในประเด็นดังกล่าวไปให้สิ้นกระแสความ แล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้ศาลชั้นต้นรวมสั่งเมื่อมีคำพิพากษาใหม่ส่วนค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาที่โจทก์เสียเกินมาให้คืนแก่โจทก์.