แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ฟ้องโจทก์บรรยายในข้อ 1 ว่า มีโจรลักทรัพย์ของเจ้าทรัพย์ไป ข้อ 2 บรรยายว่า จับของกลางบางส่วนได้ที่จำเลยที่ 1-2 กำลังจะนำไปจำหน่าย ทั้งนี้โดยจำเลยทั้ง 4 ได้สมคบกันเป็นคนร้ายลักมาตามที่กล่าวในข้อ 1 หรือมิฉะนั้นจำเลยทั้ง 4 บังอาจสมคบกันรับทรัพย์ของกลางไว้โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นของได้มาโดยการกระทำผิดกฎหมาย ขอให้ลงโทษฐานลักทรัพย์และรับของโจรดังนี้ แม้จะมิได้บรรยายข้อเท็จจริงให้ปรากฏว่าจำเลยที่ 3-4 ได้กระทำการเกี่ยวข้องแก่ทรัพย์ของกลางประการใดด้วยก็ยังถือได้ว่าเป็นฟ้องที่ทำให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดีแล้ว ตาม ป.วิ.อาญา ม.158(5)
ย่อยาว
ฟ้องโจทก์บรรยายว่า ข้อ ๑ เมื่อวันที่ ๔-๗-๑๐-๑๑-๑๓-๑๕-๑๗ มกราคม ๒๔๘๙ เวลากลางวันมีโจรบังอาจลักตัดเอาลวดสายไฟฟ้าของเทศบาลเชียงใหม่ไปหนัก ๓๖๓ กิโลกรัม ราคม ๑๓๘๙๘ บาท ข้อ ๒ เมื่อวันที่ ๒๕ เดือนเดียวกันเวลากลางคืน เจ้าพนักงานจับสายลวดไฟฟ้าที่ถูกโจรลักได้เป็นของกลางจากจำเลยที่ ๑-๒ หนัก ๓๓ กิโลกรัม ซึ่งกำลังบรรทุกรถ ๓ ล้อนำไปเพื่อจำหน่าย ทั้งนี้โดยจำเลยทั้ง ๔ สมคบกันเป็นโจรลักตัดเอาสายลวดไฟฟ้าดังกล่าวแล้วไปตามวันเวลาและสถานที่ดังกล่าวในข้อ ๑ หรือมิฉะนั้นจำเลยทั้ง ๔ บังอาจสมคบกันรับเอาลวดสายไฟฟ้าของกลางรายนี้ไว้ โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นทรัพย์ที่ได้มาจากการกระทำผิด ก.ม. ตามวันเวลาที่กล่าวในข้อ ๑-๒ ขอให้ลงโทษฐานลักทรัพย์ และรับของโจร
จำเลยที่ ๑-๒ รับสารภาพฐานรับของโจร จำเลยที่ ๓-๔ ปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยที่ ๑-๒-๓ ฐานรับของโจร ส่วนจำเลยที่ ๔ ยกฟ้อง
จำเลยที่ ๓ ผู้เดียวอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ เห็นว่า ฟ้องโจทก์ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าจำเลยที่ ๓ ได้กระทำการเกี่ยวกับลวดไฟฟ้าของกลางแต่อย่างใดที่บังคับไว้ใน วิ.อาญา ม. ๑๕๘(๕) นอกจากนั้นข้อเท็จจริงยังไม่พอฟังลงโทษจำเลยที่ ๓ จึงพิพากษาแก้ให้ปล่อยจำเลยที่ ๓
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า คำบรรยายฟ้องของโจทก์เป็นการเพียงพอที่จะให้จำเลยเข้าใจข้อหาของโจทก์ได้ดีแล้ว ว่าถูกหาเป็นโจรลักหรือรับลวดไฟฟ้าของกลางไว้โดยรู้ว่าได้มาจากการกระทำผิด ดังได้เคยวินิจฉัยในคำพิพากษา ฎีกาที่ ๒๗๗/๒๔๙๐ จึงเป็นฟ้องที่ชอบด้วย ก.ม. ส่วนข้อเท็จจริงฟังว่าจำเลยที่ ๓ ได้กระทำผิด จึงพิพากษาแก้ให้ลงโทษจำเลยที่ ๓ ฐานรับของโจร.