คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8755-8784/2543

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ซึ่งเป็นองค์กรของรัฐได้เข้าถือหุ้นในบริษัทจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นสถาบันการเงินและเป็นบริษัทมหาชน จำกัด เกินกว่าร้อยละ 50 ตั้งแต่ วันที่ 1 กันยายน 2541 สถานภาพของจำเลยที่ 1 จึงเปลี่ยนมาเป็นรัฐวิสาหกิจตั้งแต่วันดังกล่าวตาม พ.ร.บ. วิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2502 มาตรา 4 ทั้ง พ.ร.บ. พนักงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2534 มาตรา 4 (2) ซึ่งใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น และ พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 4 (2) บัญญัติมิให้นำ พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงานดังกล่าวมาใช้บังคับแก่รัฐวิสาหกิจ จึงไม่อาจนำ มาตรา 13 ของ พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาใช้บังคับนับแต่จำเลยที่ 1 เปลี่ยนเป็นรัฐวิสาหกิจ จำเลยที่ 1 ไม่ต้องรับไปทั้งสิทธิและหน้าที่ที่โจทก์มีต่อจำเลยที่ 1 ก่อนจะเปลี่ยนเป็นรัฐวิสาหกิจ โดยไม่ต้องรับสิทธิของโจทก์ ที่จะได้รับค่าชดเชยตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 สิทธิของโจทก์จะได้รับค่าชดเชยเพียงใดต้องเป็นไปตาม พ.ร.บ. รัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2534 และระเบียบคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง มาตรฐานของสิทธิประโยชน์ของพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2534 ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 เคยจัดสิทธิประโยชน์ไว้สูงกว่าระเบียบดังกล่าว โจทก์ถูกเลิกจ้างหลังจากจำเลยที่ 1 เปลี่ยนเป็นรัฐวิสาหกิจแล้ว จึงมีสิทธิได้รับค่าชดเชยตามพระราชบัญญัติ และระเบียบ ดังกล่าว ข้อ 45 เมื่อโจทก์รับค่าชดเชยตาม ข้อ 45 ไปครบถ้วนแล้ว จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าชดเชยที่ เพิ่มขึ้นตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 อีก

ย่อยาว

คดีทั้งสามสิบสำนวน ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งให้รวมพิจารณาเข้าด้วยกัน โดยให้เรียกโจทก์ว่าโจทก์ที่ 1 ถึงโจทก์ที่ 30 ตามลำดับ
โจทก์ทั้งสามสิบสำนวนฟ้อง ขอให้บังคับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันจ่ายค่าชดเชยตามฟ้องของโจทก์แต่ละคนพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่โจทก์แต่ละคนขอมาตามฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสามสิบ
จำเลยทั้งสองทั้งสามสิบสำนวนให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์ทั้งสามสิบอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ที่โจทก์ทั้งสามสิบอุทธรณ์ว่า กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินเข้าถือหุ้นในจำเลยที่ 1 เกินร้อยละ 50 จำเลยที่ 1 จึงเปลี่ยนสถานภาพเป็นรัฐวิสาหกิจ และจำเลยที่ 1 ต้องรับไปทั้งสิทธิและหน้าที่ที่โจทก์ทั้งสามสิบมีอยู่ต่อจำเลยที่ 1 ในขณะเป็นบริษัทเอกชนตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 13 โจทก์ทั้งสามสิบจึงมีสิทธิได้รับค่าชดเชยตามมาตรา 118 ของพระราชบัญญัติดังกล่าวนั้น เห็นว่า กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ซึ่งเป็นองค์กรของรัฐเข้าถือหุ้นในจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นสถาบันการเงินและเป็นบริษัทมหาชน จำกัด เกินกว่าร้อยละ 50 ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2541 สถานภาพของจำเลยที่ 1 จึงเปลี่ยนจากการเป็นบริษัทมหาชนจำกัด มาเป็นรัฐวิสาหกิจ ตั้งแต่วันดังกล่าวตาม พ.ร.บ. วิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2502 มาตรา 4 พ.ร.บ. พนักงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2534 มาตรา 4 (2) ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น และ พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 4 (2) ยังบัญญัติมิให้นำพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานดังกล่าวมาใช้บังคับแก่รัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ จึงไม่อาจนำมาตรา 13 ของ พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาใช้บังคับนับแต่จำเลยที่ 1 ได้เปลี่ยนสถานภาพเป็นรัฐวิสาหกิจ จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับไปทั้งสิทธิและหน้าที่ที่โจทก์ทั้งสามสิบมีต่อจำเลยที่ 1 ก่อนจำเลยที่ 1 จะเปลี่ยนสถานภาพมาเป็นรัฐวิสาหกิจ กล่าวคือ จำเลยที่ 1 ไม่ต้องรับไปซึ่งสิทธิของโจทก์ทั้งสามสิบที่จะได้รับค่าชดเชยตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 กรณีหากถูกเลิกจ้างในขณะจำเลยที่ 1 ยังมีสถานภาพเป็นบริษัทมหาชนจำกัด ดังนั้น สิทธิของโจทก์ทั้งสามสิบที่จะได้รับค่าชดเชยเพียงใดต้องเป็นไปตาม พ.ร.บ. พนักงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2534 และระเบียบคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง มาตรฐานของสิทธิประโยชน์ของพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2534 ทั้งไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ได้เคยจัดสิทธิประโยชน์ให้แก่พนักงานสูงกว่าสิทธิประโยชน์ตามระเบียบดังกล่าว โจทก์ทั้งสามสิบถูกเลิกจ้างหลังจากจำเลยที่ 1 เปลี่ยนสถานภาพมาเป็นรัฐวิสาหกิจตามกฎหมายแล้ว จึงมีสิทธิได้รับค่าชดเชยตามที่พระราชบัญญัติและระเบียบดังกล่าว ข้อ 45 กำหนดและเมื่อปรากฏว่าโจทก์ทั้งสามสิบได้รับค่าชดเชยตามข้อ 45 ไปครบถ้วนแล้ว จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าชดเชยที่เพิ่มขึ้นตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ได้อีก
พิพากษายืน.

Share