คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 829/2533

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนเนื่องจากการที่ตัวแทนหรือลูกจ้างของจำเลยทำละเมิดต่อโจทก์ไปในทางการที่จ้างซึ่งค่าสินไหมทดแทนที่จำเลยจะต้องรับผิดใช้ให้แก่โจทก์ มีมากน้อยเพียงใดก็ต้องพิจารณาว่าความเสียหายนั้นได้เกิดขึ้นเพราะฝ่ายไหนเป็นผู้ก่อยิ่งหย่อนกว่ากันเพียงไรด้วย จำเลยทั้งสองให้การต่อสู้ว่าเหตุที่เรือชนกันไม่ใช่เพราะความผิดของฝ่ายจำเลยแต่เป็นความผิดของฝ่ายโจทก์ การที่ศาลวินิจฉัยว่าเหตุละเมิดเกิดจากการกระทำโดยประมาทของฝ่ายโจทก์ด้วย จึงเป็นการวินิจฉัยตามข้อต่อสู้ของจำเลยว่าจำเลยมิได้เป็นฝ่ายประมาท แต่โจทก์เป็นฝ่ายประมาท ไม่เป็นการวินิจฉัยนอกประเด็น.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2523 ขณะที่เรือลำเลียงชื่อ ไทยขนส่ง 6 ของโจทก์แล่นอยู่ในลำน้ำแม่น้ำสมุทรสาคร บริเวณหน้าวัดช่องลม ตำบลมหาชัย อำเภอเมืองสมุทรสาคร จังหวัดสมุทรสาครนายท้ายเรือซึ่งเป็นตัวแทนและลูกจ้างของจำเลยทั้งสอง ได้แล่นเรือ จ.โชคชัยยินดี 2 ของจำเลยทั้งสองไปในทางการที่จ้าง ด้วยความประมาทปราศจากความระมัดระวัง โดยมิได้ปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการเดินเรือในน่านน้ำไทย ด้วยการขับเรือเพื่อจะแซงขึ้นหน้าเรือของโจทก์ทั้งสองเป็นเหตุให้เรือของจำเลยทั้งสองแล่นชนกราบซ้ายเรือโจทก์ทั้งสอง ทำให้เรือของโจทก์ทั้งสองชำรุดเสียหายเกือบทั้งลำโจทก์ทั้งสองต้องทำการซ่อมแซมเป็นเวลา 4 เดือนครึ่ง เสียค่าซ่อมแซมเป็นเงิน 219,737.50 บาท และโจทก์ทั้งสองต้องขาดประโยชน์ที่ควรได้จากการนำเรือไปรับจ้างบรรทุกสินค้าอีกเป็นเงิน135,000 บาท รวมเป็นเงิน 354,737.50 บาท คิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันทำละเมิดถึงวันฟ้องเป็นเงิน26,531 บาท รวมเป็นเงิน 381,268.50 บาท ขอให้พิพากษาบังคับให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าเสียหายจำนวนดังกล่าว พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยทั้งสองให้การว่า การที่เรือชนกันไม่ใช่ความผิดของฝ่ายจำเลย แต่เป็นความผิดของฝ่ายโจทก์ เพราะเรือของจำเลยเป็นเรือใหญ่แล่นอยู่ใกล้แนวกึ่งกลางของแม่น้ำเป็นการปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการเดินเรือในน่านน้ำไทยและได้ใช้ความระมัดระวังแล้ว ฝ่ายโจทก์ทั้งสองประมาทเลินเล่อปราศจากความระมัดระวัง และไม่ปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการเดินเรือในน่านน้ำไทย โดยเรือโจทก์ทั้งสองเป็นเรือพ่วงหลายลำอยู่ในทางโค้งตามกระแสน้ำและอยู่ท้ายพ่วง ไม่จุดไฟสัญญาณและวิ่งตัดหน้าเรือของจำเลยทั้งสองโดยกระชั้นชิดโดยไม่ให้ไฟสัญญาณขณะจะเลี้ยวเข้าคลองท้ายเรือปัดขวางหน้าเรือจำเลยทั้งสองทำให้เรือของจำเลยทั้งสองซึ่งวิ่งตามกระแสน้ำไม่สามารถหยุดหรือหลบหลีกได้ทัน และนายเรือขณะนั้นไม่ใช่เป็นตัวแทนและลูกจ้างที่ปฏิบัติหน้าที่ตามคำสั่งหรือในทางการที่จ้างของจำเลยทั้งสองค่าซ่อมแซมเรือของโจทก์ทั้งสองอย่างมากไม่เกิน 5,000 บาทค่าขาดประโยชน์ที่โจทก์ฟ้องเป็นเรื่องอนาคตอันไม่แน่นอน โจทก์ทั้งสองไม่มีสิทธิเรียกร้อง ส่วนจำเลยได้รับความเสียหายที่โขนหัวเรือของจำเลยทั้งสองหักต้องเปลี่ยนใหม่ เสียค่าน้ำแข็งดองปลาค่าจ้างคนงาน และไม่ได้นำเรือออกจับปลา คิดเป็นเงิน 450,000 บาทขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า เหตุที่เรือของจำเลยทั้งสองแล่นชนเรือของโจทก์ทั้งสองเกิดจากการกระทำโดยประมาทของทั้งฝ่ายโจทก์และฝ่ายจำเลยไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน ค่าเสียหายย่อมเป็นพับกันไปจำเลยทั้งสองไม่ต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ พิพากษายกฟ้องโจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ตามฎีกาของโจทก์ว่าเหตุที่เรือ จ. โชคชัยยินดี 2 ของจำเลยทั้งสองแล่นชนเรือไทยขนส่ง 6 ของโจทก์ทั้งสองชำรุดเสียหาย เกิดจากการกระทำโดยประมาทของฝ่ายจำเลยทั้งสอง โดยฝ่ายโจทก์ทั้งสองไม่ได้กระทำโดยประมาทด้วย ซึ่งจำเลยทั้งสองต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ทั้งสองหรือไม่ โจทก์ทั้งสองมีพยานที่รู้เห็นเหตุการณ์ตอนเกิดเหตุ 2 ปากคือ นายสมบูรณ์ขันนิคม นายท้ายเรือ เกษตรรุ่งเรือง ซึ่งเป็นเรือลากจูงเรือพ่วงของโจทก์ทั้งสอง และนายสำเริง โคตะมะ ผู้ควบคุมเรือไทยขนส่ง6 ของโจทก์ทั้งสอง ที่ถูกเรือของจำเลยทั้งสองแล่นเข้าชนนายสมบูรณ์และนายสำเริงเบิกความว่า ตอนเกิดเหตุเรือลากจูงและเรือพ่วงแล่นไปทางซ้ายของโพงพางที่อยู่กลางแม่น้ำเนื่องจากจะต้องแล่นเรือเข้าคลองสหกรณ์ที่อยู่ข้างหน้าทางซ้าย ขณะที่แล่นเรือผ่านโพงพางเรือไทยขนส่ง 6 ของโจทก์ทั้งสองจึงถูกเรือของจำเลยทั้งสองชนที่บริเวณกราบซ้าย เมื่อพิจารณาคำเบิกความพยานโจทก์ทั้งสองปากนี้แล้วเห็นว่า พยานโจทก์ทั้งสองปากนี้ไม่ได้รู้เห็นว่าเรือของจำเลยทั้งสองแล่นแซงเรือของโจทก์โดยประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้แล่นเข้าชนเรือของโจทก์ทั้งสองอย่างไรหรือไม่ เรือของโจทก์ทั้งสองถูกชนบริเวณกลางลำ เรือของจำเลยทั้งสองคงไม่ได้แล่นตามและแซงเรือของโจทก์ทั้งสองเป็นเหตุให้เรือชนกันตามโจทก์ฟ้อง ฝ่ายจำเลยทั้งสองมีนายสังวรณ์ หอมแดง และนายบุญรวม สวัสดิ์ลาภ ซึ่งเป็นผู้ควบคุมและนายท้ายเรือ จ. โชคชัยยินดี 2 ของจำเลยทั้งสองเบิกความยืนยันว่า ขณะที่เรือจำเลยทั้งสองแล่นอยู่ในร่องน้ำเรือลากจูงของนายสมบูรณ์และเรือพ่วง 4 ลำ ของโจทก์ได้แล่นจากทางฝั่งด้านขวาไปทางฝั่งด้านซ้าย โดยเรือทุกลำไม่มีไฟสัญญาณนายบุญรวมไม่สามารถจะหยุดเรือได้ทันเพราะเป็นระยะกระชั้นชิดเรือของจำเลยทั้งสองจึงแล่นชนเรือของโจทก์ซึ่งเป็นเรือพ่วงลำสุดท้ายเห็นว่า เรือของโจทก์ทั้งสองถูกชนบริเวณกราบซ้าย นอกจากนี้โจทก์ทั้งสองก็นำสืบว่าก่อนจะเกิดเหตุนายสมบูรณ์ขับเรือลากจูงเรือพ่วงของโจทก์ทั้งสอง ผ่านโพงพางกลางแม่น้ำไปทางซ้าย เพื่อจะแยกเข้าคลองสหกรณ์ซึ่งอยู่ทางหน้า คำเบิกความของพยานจำเลยทั้งสองจึงมีน้ำหนักน่าเชื่อว่าเหตุที่เรือของจำเลยทั้งสองแล่นเข้าชนเรือของโจทก์ทั้งสองเป็นเพราะนายสมบูรณ์ขับเรือลากจูงเรือพ่วงของโจทก์ทั้งสองผ่านโพงพางกลางแม่น้ำเพื่อจะแยกเข้าคลองสหกรณ์ ซึ่งอยู่ทางซ้ายโดยเรือของโจทก์ทั้งสองไม่มีไฟสัญญาณแต่อย่างใด ศาลฎีกาเห็นว่าพยานจำเลยทั้งสองมีน้ำหนักเหตุผลดีกว่าพยานของโจทก์ทั้งสองข้อเท็จจริงน่าเชื่อว่าขณะเกิดเหตุเรือฝ่ายโจทก์ทั้งสองแล่นตัดแม่น้ำจากทางฝั่งขวาไปทางฝั่งซ้ายโดยไม่มีสัญญาณไฟ เป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่อ แม้ว่าเหตุที่เรือชนกันจะเกิดจากการกระทำโดยประมาทของฝ่ายจำเลย เป็นเหตุให้โจทก์ทั้งสองได้รับความเสียหายแต่ฝ่ายโจทก์ทั้งสองก็มีส่วนกระทำโดยประมาท ก่อให้เกิดความเสียหายด้วยโดยไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน ซึ่งจำเลยทั้งสองไม่ต้องรับผิดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ทั้งสอง ที่โจทก์ทั้งสองฎีกาว่าคดีนี้มีประเด็นข้อพิพาทตามที่ศาลชั้นต้นกำหนดว่านายท้ายเรือซึ่งเป็นตัวแทนหรือลูกจ้างได้ขับเรือของจำเลยทั้งสองโดยประมาทชนเรือโจทก์จริงหรือไม่ ที่ศาลวินิจฉัยว่าเหตุละเมิดเกิดจากการกระทำโดยประมาทของฝ่ายโจทก์ด้วย เป็นการวินิจฉัยนอกประเด็นนั้น พิเคราะห์แล้วเห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนเนื่องจากการที่ตัวแทนหรือลูกจ้างของจำเลยทำละเมิดต่อโจทก์ไปในทางการที่จ้าง ซึ่งค่าสินไหมทดแทนที่จำเลยจะต้องรับผิดใช้ให้แก่โจทก์มีมากน้อยเพียงใดก็ต้องพิจารณาว่าความเสียหายนั้นได้เกิดขึ้นเพราะฝ่ายไหนเป็นผู้ก่อยิ่งหย่อนกว่ากันเพียงไรด้วย ทั้งนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 223 ประกอบด้วยมาตรา 442ในข้อนี้จำเลยทั้งสองให้การต่อสู้ว่าเหตุที่เรือชนกันไม่ใช่เพราะความผิดของฝ่ายจำเลยแต่เป็นความผิดของฝ่ายโจทก์ การที่ศาลวินิจฉัยว่าเหตุละเมิดเกิดจากการกระทำโดยประมาทของฝ่ายโจทก์ด้วย จึงเป็นการวินิจฉัยตามข้อต่อสู้ของจำเลยว่า จำเลยมิได้เป็นฝ่ายประมาทแต่โจทก์เป็นฝ่ายประมาท ไม่เป็นการวินิจฉัยนอกประเด็นดังที่โจทก์ทั้งสองฎีกา…”
พิพากษายืน.

Share