แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
เมื่อสัญญากู้เงินกำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้แน่นอนชั่วระยะเวลาหนึ่งแล้ว แต่ยังให้สิทธิผู้ให้กู้ปรับเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นได้ต่อเมื่อผู้กู้ผิดนัดเช่นนี้ มีลักษณะเป็นค่าเสียหายหรือค่าสินไหมทดแทนที่กำหนดไว้ล่วงหน้า อัตราดอกเบี้ยที่ปรับเพิ่มขึ้นจึงเป็นเบี้ยปรับเมื่อสูงเกินส่วนศาลมีอำนาจปรับลดลงได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 551,267.69 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 19 ต่อปี จากต้นเงิน 465,456.72 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากไม่ชำระหรือชำระไม่ครบให้ยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 16342 ตำบลบ้านโป่ง อำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย พร้อมสิ่งปลูกสร้างออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ หากได้เงินไม่พอชำระหนี้ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ในส่วนที่ขาดให้แก่โจทก์จนครบถ้วน
ศาลชั้นต้นถือว่าจำเลยขาดนัดยื่นคำให้การและมีคำสั่งให้จำเลยขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 489,016.49 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปีของต้นเงิน 465,456.72 บาท นับตั้งแต่วันที่ 7 มิถุนายน 2541 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากไม่ชำระหรือชำระไม่ครบให้ยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 16342 ตำบลบ้านโป่ง อำเภอเวียงป่าเป้าจังหวัดเชียงราย พร้อมสิ่งปลูกสร้างออกขายทอดตลาดชำระหนี้ หากได้เงินจำนวนสุทธิไม่พอชำระหนี้ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยออกขายทอดตลาดชำระหนี้ให้แก่โจทก์จนครบ
โจทก์อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกาโดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงได้ความตามทางนำสืบของโจทก์ว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลตามพระราชบัญญัติธนาคารอาคารสงเคราะห์ พ.ศ. 2496 เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2537 จำเลยทำสัญญากู้เงินไปจากโจทก์ 490,000 บาท อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 9.5 ต่อปี และยอมให้โจทก์ปรับเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยได้ตามประกาศของโจทก์ภายใต้หลักเกณฑ์ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดทั้งโจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยได้ตามประกาศกระทรวงการคลังเอกสารหมาย จ.15 กำหนดชำระหนี้คืนให้เสร็จสิ้นภายใน 25 ปี รายละเอียดปรากฏตามสัญญากู้เงินเอกสารหมาย จ.7 เพื่อเป็นหลักประกันการชำระหนี้จำเลยได้จำนองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างไว้เป็นเงิน 490,000 บาท ปรากฏตามสัญญาจำนองและข้อตกลงต่อท้ายสัญญาจำนองเอกสารหมาย จ.8จ.9 หลังจากกู้เงินไปแล้วจำเลยผิดนัดไม่ชำระหนี้ตามสัญญา โดยชำระเงินครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2541 เป็นเงิน 4,300 บาท ปรากฏตามรายการเคลื่อนไหวเงินกู้เอกสารหมาย จ.11 โจทก์ได้บอกกล่าว บังคับจำนองแล้วแต่จำเลยเพิกเฉย คิดเพียงวันฟ้องจำเลยเป็นหนี้ต้นเงินโจทก์ 465,456.72 บาท ดอกเบี้ยอีก 85,810.97 บาท รวมเป็นหนี้ที่ค้างชำระทั้งสิ้น 551,267.69 บาท
พิเคราะห์แล้วมีปัญหาวินิจฉัยมาสู่ศาลฎีกาตามฎีกาของโจทก์ว่า ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 19 ต่อปีที่โจทก์เรียกจากจำเลยตามสัญญากู้เป็นเบี้ยปรับหรือไม่ เห็นว่า ตามสัญญากู้เงินเอกสารหมาย จ.7 ที่โจทก์ทำกับจำเลยนั้นทำในวันที่ 3 มิถุนายน 2537 ความในสัญญาข้อ 1 ระบุว่า “ผู้กู้ยินยอมเสียดอกเบี้ยให้แก่ผู้ให้กู้เป็นรายเดือนสำหรับเงินกู้ตามสัญญานี้ในอัตราร้อยละ 9.5 ต่อปีโดยมีระยะเวลา 5 ปี นับแต่วันทำสัญญากู้ ส่วนระยะเวลากู้ที่เหลือผู้กู้ยินยอมเสียดอกเบี้ยให้แก่ผู้ให้กู้ในอัตราดอกเบี้ยใหม่ตามประกาศธนาคาร ซึ่งผู้ให้กู้อาจเปลี่ยนแปลงสูงขึ้นหรือต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยที่กำหนดไว้ข้างต้นนี้โดยผู้ให้กู้ไม่จำเป็นต้องแจ้งให้ผู้กู้ทราบล่วงหน้าทั้งนี้ให้ถือปฏิบัติเช่นนี้ตลอดไปจนกว่าผู้กู้จะชำระหนี้ตามสัญญานี้ให้แก่ผู้ให้กู้ครบถ้วนแล้ว” ความในสัญญาดังกล่าวแสดงว่าจำเลยมีหน้าที่ต้องเสียดอกเบี้ยเงินกู้ให้แก่โจทก์ในอัตราร้อยละ 9.5 ต่อปีนับแต่วันที่ทำสัญญากู้จนถึงวันที่ 3 มิถุนายน 2542 พ้นจากวันที่ 3 มิถุนายน 2542 ไปแล้ว โจทก์จึงมีสิทธิปรับอัตราดอกเบี้ยให้สูงขึ้นกว่าที่กำหนดไว้ได้ แม้ในสัญญาจำนองเอกสารหมาย จ.8 จะระบุว่าจำเลยจำนองที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเป็นประกันโดยให้ดอกเบี้ยร้อยละ 19 ต่อปีก็ตาม หนี้ตามสัญญาจำนองก็เป็นหนี้อุปกรณ์ของหนี้เงินกู้ซึ่งเป็นหนี้ประธาน เมื่อใดจำเลยจะต้องรับผิดเสียดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ในอัตราใด ต้องดูข้อตกลงเรื่องดอกเบี้ยตามสัญญากู้เงินซึ่งเป็นหนี้ประธานเป็นหลัก มิใช่ว่าจำเลยจะต้องรับผิดเสียดอกเบี้ยตามสัญญาจำนองให้แก่โจทก์อัตราร้อยละ 19 ต่อปี นับแต่วันทำสัญญาจำนองเสมอไปแต่อย่างใด ได้ความว่าโจทก์ปรับเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยเงินกู้รวม 4 ครั้ง รายละเอียดตามเอกสารหมาย จ.10 ศาลฎีกาตรวจดูแล้ว ครั้งที่ 1 ปรับเปลี่ยนเมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2541 จากร้อยละ 9.5 เป็นร้อยละ 12 และครั้งที่ 4 เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2541 ปรับเปลี่ยนจากร้อยละ 11.5 เป็นร้อยละ 19 การปรับเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยของโจทก์ทุกครั้งยังไม่พ้นกำหนดระยะเวลา 5 ปี ที่กำหนดให้จำเลยมีหน้าที่ต้องเสียดอกเบี้ยตามสัญญากู้ในอัตราร้อยละ 9.5 แสดงว่าโจทก์ปรับเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยเงินกู้โดยอาศัยเหตุที่จำเลยผิดนัดตามความในสัญญากู้ข้อ 3 ที่ระบุว่าหากผู้กู้ผิดนัดไม่ชำระหนี้เงินกู้ตามที่กำหนดไว้ไม่ว่างวดหนึ่งงวดใด ยินยอมให้ผู้ให้กู้เพิ่มอัตราดอกเบี้ยสูงกว่าที่กำหนด (สูงกว่าร้อยละ 9.5) เมื่อใดก็ได้แต่ไม่เกินอัตราสูงสุดที่กฎหมายกำหนดไว้ สัญญากู้เงินเอกสารหมาย จ.7 ที่กำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้แน่นอนแล้วจำนวนหนึ่ง มีระยะเวลาที่แน่นอนชั่วระยะเวลาหนึ่ง แต่ยังให้สิทธิผู้ให้กู้ปรับเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นได้ใหม่เมื่อใดก็ได้เมื่อผู้กู้ผิดนัดเช่นนี้ มีลักษณะเป็นค่าเสียหายหรือค่าสินไหมทดแทนความเสียหายซึ่งคู่สัญญากำหนดกันไว้ล่วงหน้าเมื่อลูกหนี้ผิดนัดไม่ชำระหนี้หรือไม่ชำระหนี้ให้ถูกต้องสมควร เป็นเบี้ยปรับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 379 เมื่อศาลเห็นว่าสูงเกินส่วนย่อมมีอำนาจลดลงได้ ส่วนที่โจทก์อุทธรณ์ว่าแม้ศาลจะฟังเป็นเบี้ยปรับก็ไม่ถือว่าสูงเกินส่วนนั้น เป็นการโต้เถียงดุลพินิจของศาลเป็นการอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง มิใช่อุทธรณ์ในปัญหาข้อกฎหมายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้ คำพิพากษาศาลชั้นต้นชอบแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน