แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้องจำเลยขอหย่า ขอแบ่งสินสมรส ขอถอนอำนาจปกครองจำเลย และขอให้จำเลยจ่ายค่าเลี้ยงชีพเป็นเงินจำนวน 200,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น โจทก์จำเลยได้ตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันโดยยินยอมที่จะหย่าขาดจากการเป็นสามีภริยา และให้โจทก์เป็นผู้ใช้อำนาจปกครองผู้เยาว์แต่เพียงผู้เดียว การที่โจทก์จะเรียกให้จำเลยจ่ายค่าเลี้ยงชีพให้แก่ตนได้นั้น โจทก์จะต้องนำสืบให้ได้ครบหลักเกณฑ์ 3 ประการว่า เหตุแห่งการหย่าในคดีนี้เป็นความผิดของจำเลยแต่เพียงฝ่ายเดียว การหย่านั้นทำให้โจทก์ยากจนลงเพราะไม่มีรายได้จากทรัพย์สินหรือจากการงานที่เคยทำอยู่และโจทก์จะต้องฟ้องเรียกค่าเลี้ยงชีพมาในคดีฟ้องหย่า เมื่อคดีนี้โจทก์จำเลยได้ตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันระหว่างพิจารณาโดยความยินยอมของทั้งสองฝ่าย จึงไม่มีประเด็นฟ้องหย่าต่อศาลให้วินิจฉัย และไม่มีกรณีที่จะถือได้ว่าเหตุแห่งการหย่าเป็นความผิดของฝ่ายใด จึงไม่เข้าหลักเกณฑ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1526 เมื่อมิได้ตกลงกันไว้ในเรื่องค่าเลี้ยงชีพ ย่อมไม่มีเหตุตามกฎหมายที่จะมาเรียกค่าเลี้ยงชีพได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้พิพากษาให้โจทก์และจำเลยหย่าขาดจากการเป็นสามีภริยา ให้โจทก์เป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรผู้เยาว์แต่เพียงผู้เดียว ให้เพิกถอนอำนาจปกครองบุตรผู้เยาว์ของจำเลย ให้จำเลยจ่ายค่าเลี้ยงชีพเป็นเงิน 200,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และให้จำเลยคืนเงินส่วนที่เป็นสินสมรสของโจทก์ 2,000,000 บาท หากคืนไม่ได้ให้จำเลยแบ่งกรรมสิทธิ์ที่ดินสินสมรสโฉนดเลขที่ 122591 อำเภอเมืองอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี ให้โจทก์กึ่งหนึ่ง หากแบ่งไม่ได้ให้ขายที่ดินดังกล่าว โดยประมูลราคาระหว่างโจทก์จำเลยหรือขายทอดตลาดนำเงินมาแบ่งให้โจทก์กึ่งหนึ่ง
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา โจทก์และจำเลยตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความโดยตกลงหย่าขาดจากการเป็นสามีภริยากัน และจำเลยยินยอมให้โจทก์เป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรผู้เยาว์แต่เพียงผู้เดียว
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้โจทก์และจำเลยหย่าขาดจากการเป็นสามีภริยากันและให้โจทก์เป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรผู้เยาว์แต่เพียงผู้เดียวตามสัญญาประนีประนอมยอมความ ให้จำเลยชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูผู้เยาว์เดือนละ 3,000 บาท นับแต่เดือนเมษายน 2559 จนกว่าผู้เยาว์จะบรรลุนิติภาวะ คำขออื่นให้ยก ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์โดยได้รับอนุญาตให้ยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลบางส่วน
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวพิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกาโดยได้รับอนุญาตให้ยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลบางส่วน
ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า โจทก์อยู่กินฉันสามีภริยากับจำเลยเมื่อปี 2542 ต่อมาจดทะเบียนสมรสกันเมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2553 จำเลยมีชื่อเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 122591 อำเภอเมืองอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี ที่ดินพิพาทเดิมมีหลักฐานเป็นหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 2264 อำเภอเมืองอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี ปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ข้อแรกมีว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมที่ดินพิพาทหรือไม่ โดยโจทก์ฎีกาว่า พยานหลักฐานของจำเลยไม่มีน้ำหนักดีกว่าพยานหลักฐานของโจทก์นั้น เห็นว่า ศาลล่างทั้งสองได้วินิจฉัยไว้อย่างชัดเจนว่า โจทก์เป็นฝ่ายกล่าวอ้างว่าที่ดินพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์รวมระหว่างโจทก์จำเลย แต่จำเลยให้การปฏิเสธว่า ที่ดินพิพาทเป็นของจำเลย โจทก์ไม่ใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์รวม ประกอบกับที่ดินพิพาทยังมีชื่อจำเลยแต่เพียงผู้เดียวมาตั้งแต่มีหลักฐานเป็นหนังสือรับรองการทำประโยชน์ จนกระทั่งเปลี่ยนเป็นโฉนดที่ดิน ซึ่งจำเลยได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานว่าจำเลยเป็นผู้มีสิทธิครอบครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1373 โจทก์จึงมีภาระการพิสูจน์เพื่อให้ศาลเห็นว่าข้อเท็จจริงเป็นไปตามที่โจทก์กล่าวอ้าง แต่โจทก์กลับนำสืบเพียงว่า โจทก์ว่าเป็นผู้ชำระราคาที่ดินพิพาทให้แก่ผู้ขาย ซึ่งนอกจากจะไม่ปรากฏว่าโจทก์ซื้อที่ดินพิพาทมาเมื่อใด จากผู้ใด ในราคาเท่าใด และเหตุใดจึงใส่ชื่อจำเลยเป็นผู้ครอบครองหรือผู้ถือกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทแต่เพียงผู้เดียว ข้อเท็จจริงยังไม่ปรากฏว่าขณะซื้อที่ดินพิพาทโจทก์ประกอบอาชีพใด มีรายได้เดือนละเท่าใดที่จะสามารถนำเงินไปชำระราคาที่ดินพิพาทได้ หรือโจทก์นำเงินจากที่ใดไปชำระราคาที่ดินพิพาท ซึ่งต่างจากจำเลยที่เบิกความถึงข้อเท็จจริงในส่วนนี้โดยละเอียด ข้อที่โจทก์ฎีกาว่า โจทก์ซื้อที่ดินด้วยตนเองเพราะมีรายได้มั่นคงกว่าจำเลยซึ่งมีรายได้เพียงขายก๋วยเตี๋ยวเดือนละ 10,000 บาท และเหตุที่โจทก์ใส่ชื่อจำเลยในหนังสือรับรองการทำประโยชน์เพราะส่วนใหญ่โจทก์อาศัยอยู่ที่สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวนั้น เป็นข้อที่โจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้อง ไม่ได้นำสืบ แต่เพิ่งยกขึ้นกล่าวอ้างในชั้นฎีกาจึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาโดยชอบในศาลล่างทั้งสอง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย นอกจากนั้นจำเลยยังเบิกความถึงข้อเท็จจริงหลังจากซื้อที่ดินพิพาทมาแล้วว่า จำเลยนำที่ดินพิพาทไปจดทะเบียนจำนองเพื่อเป็นประกันหนี้ที่กู้ยืมเงินจากธนาคารนำมาปลูกสร้างบ้านในที่ดินพิพาท โดยโจทก์ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องหรือคัดค้านแต่ประการใด ซึ่งเป็นเหตุผลสนับสนุนว่าโจทก์ไม่มีกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินพิพาท พยานหลักฐานของจำเลยจึงมีน้ำหนักดีกว่าพยานหลักฐานของโจทก์ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า แม้ที่ดินพิพาทจะได้มาระหว่างโจทก์และจำเลยอยู่กินฉันสามีภริยา แต่โจทก์จำเลยต่างทำมาหาได้แยกกัน จำเลยนำเงินรายได้จากการขายก๋วยเตี๋ยวของจำเลยไปซื้อที่ดินพิพาท โดยโจทก์ไม่ได้ลงทุนร่วมแรงทำมาหาได้หรือมีส่วนร่วมหรือช่วยเหลือแต่อย่างใด ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาว่าที่ดินพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลย โจทก์หามีกรรมสิทธิ์รวมด้วยนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ข้อสุดท้ายมีว่า จำเลยต้องจ่ายค่าเลี้ยงชีพให้แก่โจทก์หรือไม่ เพียงใด เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1526 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า ในคดีหย่า ถ้าเหตุแห่งการหย่าเป็นความผิดของคู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งแต่ฝ่ายเดียวและการหย่านั้นจะทำให้อีกฝ่ายหนึ่งยากจนลง เพราะไม่มีรายได้พอจากทรัพย์สินหรือจากการงานตามที่เคยทำอยู่ระหว่างสมรส อีกฝ่ายหนึ่งนั้นจะขอให้ฝ่ายที่ต้องรับผิดจ่ายค่าเลี้ยงชีพให้ได้… ดังนั้น การที่โจทก์จะเรียกให้จำเลยจ่ายค่าเลี้ยงชีพให้แก่ตนได้นั้น โจทก์จะต้องนำสืบให้ได้ครบหลักเกณฑ์ 3 ประการว่า เหตุแห่งการหย่าในคดีนี้เป็นความผิดของจำเลยแต่เพียงฝ่ายเดียว การหย่านั้นทำให้โจทก์ยากจนลงเพราะไม่มีรายได้จากทรัพย์สินหรือจากการงานที่เคยทำอยู่และโจทก์จะต้องฟ้องเรียกค่าเลี้ยงชีพมาในคดีฟ้องหย่า เมื่อโจทก์ซึ่งเป็นสามีฟ้องขอให้พิพากษาให้โจทก์จำเลยหย่าขาดจากกันและขอให้จำเลยซึ่งเป็นภริยาจ่ายค่าเลี้ยงชีพให้แก่ตนเป็นเงิน 200,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย เห็นว่า คดีนี้โจทก์จำเลยได้ตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันระหว่างพิจารณาโดยความยินยอมของทั้งสองฝ่าย จึงไม่มีประเด็นฟ้องหย่าต่อศาลให้วินิจฉัย และไม่มีกรณีที่จะถือได้ว่าเหตุแห่งการหย่าเป็นความผิดของฝ่ายใด จึงไม่เข้าหลักเกณฑ์ตามมาตรา 1526 เมื่อมิได้ตกลงกันไว้ในเรื่องค่าเลี้ยงชีพ ย่อมไม่มีเหตุตามกฎหมายที่จะมาเรียกค่าเลี้ยงชีพได้ ที่ศาลล่างทั้งสองไม่กำหนดให้จำเลยจ่ายค่าเลี้ยงชีพให้แก่โจทก์นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของโจทก์ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ