คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1163/2549

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 2 ร่วมกับพวกมีอีเฟดรีนจำนวน 1,273 เม็ด อันเป็นวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 ไว้ในครอบครองเพื่อขาย และเกินปริมาณที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด เป็นการกระทำความผิดต่อ พ.ร.บ.วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท ฯ และเป็นการกระทำกรรมเดียวอันเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทซึ่งมีอัตราโทษเท่ากัน ต้องรับโทษฐานร่วมกันมีอีเฟดรีนไว้ในครอบครองเพื่อขาย กระทงหนึ่งแล้ว ส่วนของกลางอีกจำนวน 727 เม็ด ซึ่งเป็นอีเฟดรีนผสมอยู่กับเมทแอมเฟตามีนนั้น แม้ผลการตรวจพิสูจน์จะสามารถคำนวณน้ำหนักสารบริสุทธิ์ของอีเฟดรีนและเมทแอมเฟตามีนแยกต่างหากออกจากกันได้ แต่การที่ของกลางแต่ละเม็ดเป็นเมทแอมเฟตามีนผสมด้วยอีเฟดรีนก็เพื่อวัตถุประสงค์ให้เป็นเมทแอมเฟตามีนอันเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 เมทแอมเฟตามีนที่มีอีเฟดรีนผสมอยู่จึงเป็นวัตถุอันเดียว การร่วมกันมีไว้ในครอบครองเพื่อขายและเพื่อจำหน่ายซึ่งอีเฟดรีนผสมอยู่กับเมทแอมเฟตามีนจำนวนดังกล่าวจึงเป็นการกระทำอันเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ต้องลงโทษฐานร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย อันเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด ตาม ป.อ. มาตรา 90
เงื่อนไขที่เป็นองค์ประกอบความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายของ พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ ฯ มาตรา 15 วรรคสอง ตามกฎหมายเดิมเป็นคุณแก่จำเลยที่ 2 มากกว่ามาตรา 15 วรรคสาม (2) ของ พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ ฯ ที่แก้ไขใหม่ กรณีบทความผิดดังกล่าวจึงต้องใช้กฎหมายเดิมซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดบังคับ ตาม ป.อ. มาตรา 3

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า ก่อนคดีนี้เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2544 จำเลยที่ 1 ต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษจำคุก 9 เดือน ฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต ตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ ย. 6540/2544 ของศาลชั้นต้น และเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2544 จำเลยที่ 2 ต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษจำคุก 9 เดือน ฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต ตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 7812/2544 ของศาลชั้นต้น จำเลยทั้งสองกระทำความผิดในคดีดังกล่าวในขณะที่มีอายุเกินกว่าสิบเจ็ดปี และกลับมากระทำความผิดในคดีนี้อีกภายในเวลาห้าปีนับแต่วันพ้นโทษ ขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4, 7, 8, 15, 66, 97, 102 พระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2518 มาตรา 4, 6, 13, ทวิ, 62, 89, 106 ทวิ, 116 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91 ริบอีเฟดรีนและเมทแอมเฟตามีนของกลางเพิ่มโทษจำเลยทั้งสองตามกฎหมาย
จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพ และรับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้เพิ่มโทษ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคสาม, 66 วรรคสอง พระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2518 มาตรา 13 ทวิ วรรคหนึ่ง, 62, 89, 106 ทวิ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91 การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำคุกคนละ 7 ปี ฐานร่วมกันมีอีเฟดรีนไว้ในครอบครองเพื่อขายและเกินปริมาณที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทซึ่งมีอัตราโทษเท่ากัน ให้ลงโทษฐานร่วมกันมีอีเฟดรีนไว้ในครอบครองเพื่อขาย จำคุกคนละ 17 ปี รวมจำคุกคนละ 24 ปี เพิ่งโทษกึ่งหนึ่งตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 97 เป็นจำคุกคนละ 36 ปี จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกคนละ 18 ปี ริบอีเฟดรีนและเมทแอมเฟตามีนของกลาง
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคสาม (2), 66 วรรคสอง พระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2518 มาตรา 13 ทวิ วรรคหนึ่ง, 62, 89, 106 ทวิ เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ลงโทษฐานร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกคนละ 7 ปี เพิ่มโทษกึ่งหนึ่ง เป็นจำคุกคนละ 10 ปี 6 เดือน จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกคนละ 5 ปี 3 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา ศาลชั้นต้นได้รับหนังสือจากทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์แจ้งว่า จำเลยที่ 1 ถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2549 ปรากฏตามสำเนามรณบัตรท้ายหนังสือของทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ โจทก์รับว่าเป็นความจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า เมื่อจำเลยที่ 1 ถึงแก่ความตาย สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (1) จึงให้จำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 1 ออกเสียจากสารบบความของศาลฎีกา คงมีปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า การกระทำของจำเลยที่ 2 เป็นการกระทำอันเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันหรือไม่ เห็นว่า การที่จำเลยที่ 2 ร่วมกับพวกมีอีเฟดรีนของกลางจำนวน 1,273 เม็ด อันเป็นวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 ไว้ในครอบครองเพื่อขาย และเกินปริมาณที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด เป็นการกระทำความผิดต่อพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2518 เป็นการกระทำกรรมเดียวอันเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทซึ่งมีอัตราโทษเท่ากันกระทงหนึ่งแล้ว ส่วนการที่จำเลยที่ 2 ร่วมกับพวกมีอีเฟดรีนผสมอยู่กับเมทแอมเฟตามีนอีกจำนวน 727 เม็ด นั้น แม้ผลการตรวจพิสูจน์ของกลางจำนวนนี้จะสามารถคำนวณน้ำหนักสารบริสุทธิ์ของอีเฟดรีนและเมทแอมเฟตามีนแยกต่างหากออกจากกันได้ แต่การที่ของกลางแต่ละเม็ดเป็นเมทแอมเฟตามีนผสมด้วยอีเฟดรีนก็เพื่อวัตถุประสงค์ให้เป็นเมทแอมเฟตามีนอันเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 เมทแอมเฟตามีนที่มีอีเฟดรีนผสมอยู่จึงเป็นวัตถุอันเดียว การร่วมกันมีไว้ในครอบครองเพื่อขายและเพื่อจำหน่ายซึ่งของกลางจำนวน 727 เม็ด จึงเป็นการกระทำอันเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ต้องลงโทษจำเลยที่ 2 ในความผิดฐานร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนอันเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย อันเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้นบางส่วน
อนึ่งที่ศาลล่างทั้งสองปรับบทความผิดของจำเลยที่ 2 ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคสาม (2) (ที่แก้ไขใหม่) นั้น ไม่ถูกต้อง เนื่องจากเงื่อนไขที่เป็นองค์ประกอบความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายของมาตรา 15 วรรคสอง ตามกฎหมายเดิมเป็นคุณมากกว่ามาตรา 15 วรรคสาม (2) ของกฎหมายที่แก้ไขใหม่ กรณีบทความผิดดังกล่าวจึงต้องใช้กฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดบังคับแก่จำเลยที่ 2 ตามประมวลกฎมายอาญา มาตรา 3 แม้จำเลยที่ 2 ไม่ฎีกา แต่ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นอ้างและแก้ไขโดยปรับบทกฎหมายให้ถูกต้องได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 2 ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง (เดิม), 66 วรรคสอง (ที่แก้ไขใหม่) พระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2518 มาตรา 13 ทวิ วรรคหนึ่ง, 62 วรรคหนึ่ง, 89, 106 ทวิ ประมวลกฎหมายอาญา 83 เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานร่วมกันมีอีเฟดรีนไว้ในครอบครองเพื่อขายและเกินปริมาณที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทซึ่งมีอัตราโทษเท่ากัน ให้ลงโทษฐานร่วมกันมีอีเฟดรีนไว้ในครอบครองเพื่อขาย จำคุก 10 ปี ฐานร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและฐานร่วมกันมีอีเฟดรีนไว้ในครอบครองเพื่อขายและเกินปริมาณที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดเป็นการกระทำกรรมเดียวอันเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 7 ปี เพิ่มโทษในความผิดฐานร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 97 กึ่งหนึ่ง เป็นจำคุก 10 ปี 6 เดือน รวมจำคุก 20 ปี 6 เดือน ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 แล้ว คงจำคุก 10 ปี 3 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share