คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2290/2529

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

นายจ้างกำหนดระเบียบข้อบังคับให้ลูกจ้างปฏิบัติก็เพื่อให้เกิดความเป็นระเบียบเรียบร้อยในการปฏิบัติงาน และป้องกันมิให้ลูกจ้างกระทำการอันอาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อทรัพย์สินหรือชื่อเสียงของนายจ้าง. ดังนั้นไม่ว่าลูกจ้างจะทำการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับในขณะทำงานหรือนอกเวลาทำงาน กระทำภายในหรือภายนอกสถานที่ทำงาน ถ้าการกระทำนั้นอาจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหายต่อชื่อเสียงหรือในทางอื่นใดแล้ว นายจ้างย่อมมีอำนาจพิจารณาลงโทษลูกจ้างได้ตามระเบียบข้อบังคับ โจทก์กระทำอนาจารโดยมีอาวุธต่อ ต. สาวใช้ของ อ. เพื่อนร่วมงานที่บ้านของ อ. ซึ่งเป็นความผิดทางอาญา และผิดต่อศีลธรรม เป็นการไม่รักษาเกียรติและประพฤติชั่ว ทั้งฝ่าฝืนต่อระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยเป็นกรณีร้ายแรง ต้องด้วยประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 47 (3) จำเลยมีสิทธิเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และไม่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นลูกจ้างประจำของจำเลย จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยหาว่าโจทก์กระทำผิดอาญาโดยเจตนาต่อผู้อื่นและฝ่าฝืนระเบียบวินัยเกี่ยวกับการทำงานของจำเลย ซึ่งไม่เป็นความจริง เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ขอให้บังคับจำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงาน หรือชดใช้ค่าเสียหาย ค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า พร้อมดอกเบี้ย ค่าจ้างนับจากวันพักงานจนถึงวันเลิกจ้าง ค่าทำงานในวันหยุดและออกใบผ่านงานให้โจทก์
จำเลยให้การว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์เพราะโจทก์ใช้กำลังประทุษร้ายโดยมีอาวุธกระทำอนาจารบุคคลอื่น เป็นการกระทำผิดระเบียบวินัยของจำเลยอย่างร้ายแรง ไม่รักษาเกียรติและประพฤติชั่ว ซึ่งมีโทษถึงไล่ออก ปลดออกตามระเบียบของจำเลย โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกเงินและขอกลับเข้าทำงานตามฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษา ให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าจ้างค้างจ่ายพร้อมดอกเบี้ยและให้ออกใบผ่านงานให้โจทก์ คำขออื่นให้ยก
โจทก์ จำเลย อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า การที่นายจ้างกำหนดระเบียบข้อบังคับต่าง ๆ ไว้เพื่อให้ลูกจ้างปฏิบัตินั้น ก็เพื่อให้เกิดความเป็นระเบียบเรียบร้อยในการปฏิบัติงานและเพื่อเป็นการป้องกันมิให้ลูกจ้างกระทำการใด ๆ อันอาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อทรัพย์สินหรือต่อชื่อเสียงของนายจ้าง ไม่ว่าลูกจ้างจะกระทำการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับในขณะทำงานหรือนอกเวลาทำงาน และไม่ว่าลูกจ้างจะได้กระทำภายในหรือภายนอกสถานที่ทำงาน หากการกระทำของลูกจ้างอาจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหายต่อชื่อเสียงหรือในทางอื่นใดแล้ว นายจ้างย่อมมีอำนาจพิจารณาลงโทษลูกจ้างไปตามระเบียบข้อบังคับที่กำหนดไว้ได้ดังเช่นกรณีของโจทก์ ปรากฏว่าโจทก์กระทำอนาจารโดยมีอาวุธต่อนางสาวตุ๊เด็กรับใช้ของนางอุไรรัตน์เพื่อนที่ทำงานเดียวกัน ขณะที่นางอุไรรัตน์ไม่อยู่บ้าน การกระทำของโจทก์นอกจากเป็นความผิดทางอาญาแล้วยังผิดต่อศีลธรรมอันดีงามอีกด้วย เป็นการไม่รักษาเกียรติและประพฤติชั่วซึ่งอาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อชื่อเสียงของจำเลยผู้เป็นนายจ้างได้ เมื่อกรณีของโจทก์เป็นการประพฤติผิดวินัยต้องด้วยระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยการที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์จึงถือไม่ได้ว่า เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม และการกระทำผิดของโจทก์ถือได้ว่าเป็นการฝ่าฝืนต่อระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยเป็นกรณีที่ร้ายแรง กรณีต้องด้วยประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ ๔๗(๓) ซึ่งจำเลยมีสิทธิเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๕๘๓
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง

Share