คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5434/2541

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คดีก่อนโจทก์ฟ้องขอให้จำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงานในตำแหน่งเดิมหรือใช้ค่าเสียหายต่าง ๆ ซึ่งเกิดจากการเลิกจ้าง ที่ไม่เป็นธรรม ศาลแรงงานได้วินิจฉัยว่า ที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ ไม่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม พิพากษายกฟ้องคดีถึงที่สุด แล้ว การที่โจทก์มาฟ้องคดีนี้โดยอ้างเหตุตามที่บรรยาย ในฟ้องเดิมทุกประการเพียงแต่เน้น ว่าการกระทำก่อนที่จำเลย มีคำสั่งเลิกจ้างนั้นไม่ชอบ แล้วเรียกค่าเสียหายที่โจทก์ ต้องพ้นจากการเป็นพนักงานของจำเลยนับแต่วันถูกเลิกจ้าง และค่าเสียหายแก่ชื่อเสียงกับประโยชน์อื่นที่สูญเสีย เนื่องจากถูกเลิกจ้าง และขอให้ศาลวินิจฉัยว่าก่อนที่จำเลย เลิกจ้างโจทก์ จำเลยกลั่นแกล้งกล่าวหาโจทก์โดยมิชอบ แล้วในที่สุดเลิกจ้างโจทก์ เท่ากับโจทก์ฟ้องขอให้ศาลพิพากษา ว่าการที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม นั่นเอง ย่อมเป็นการรื้อร้องฟ้องกันอีกในประเด็นที่ศาล ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกัน เป็นฟ้องซ้ำ ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 148 ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานพ.ศ. 2522 มาตรา 31

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นลูกจ้างของจำเลย ตำแหน่งนายไปรษณีย์โทรเลขระดับ 2 ครั้งสุดท้ายเป็นเจ้าหน้าที่สื่อสารข้อมูลประจำศูนย์โทรคมนาคม นครสวรรค์ จังหวัดนครสวรรค์ อัตราเงินเดือนครั้งสุดท้าย 10,550 บาท เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2534 โจทก์มีหน้าที่ควบคุมการนำจ่ายจดหมายด่วน เวร ตั้งแต่เวลา 7 นาฬิกาถึง 15.20 นาฬิกา หัวหน้าที่ทำการได้ทำรายงานถึงจำเลยว่า โจทก์ซึ่งเป็นผู้รับชำระค่าบริการมีพฤติกรรมส่อไปในทางที่ไม่สุจริตนำเงินส่วนที่เกินจำนวน 1,199.30 บาทไป และออก งบ.1 โดยพลการเป็นการรายงานโดยที่ยังมิได้เรียกใบเสร็จรับเงินมาตรวจสอบ จำเลยได้สอบสวนโจทก์และผู้เกี่ยวข้อง จำเลยนำบัญชีไปตรวจสอบกับใบเสร็จรับเงินที่กองการเงินและการบัญชีได้ความว่านายกมลเป็นผู้รับชำระรายการที่เป็นเงินสดไว้ จำเลยสั่งให้นายกมลชดใช้เงินเมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2534 จำเลยว่าเป็นความผิดพลาดและบกพร่องมิอาจชี้ชัดได้ว่า โจทก์มีเจตนากระทำการทุจริต และได้สั่งให้ปรับปรุงระบบงานที่ทำการไปรษณีย์โทรเลขพระโขนงทั้งระบบ จึงเห็นเจตนาว่าไม่ประสงค์เอาโทษแก่โจทก์แล้วนับแต่วันที่ 19 สิงหาคม 2534 ต่อมาจำเลยกลับกล่าวหาว่าเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2534 โจทก์ได้รับชำระค่าโทรศัพท์ไว้ตามใบเตือนเป็นจำนวนเงิน 1,199.30 บาท แล้วนำเงินไปโดยทุจริต เป็นการผิดวินัยอย่างร้ายแรง มีเจตนาไม่ออกใบเสร็จรับเงิน งบ.1 ให้ผู้ใช้บริการและได้คืนใบเตือนดังกล่าวให้ผู้ใช้บริการไป และว่าระหว่างที่โจทก์ปฏิบัติงานแทนนายกมลได้รับชำระเงินค่าใช้บริการโทรคมนาคมจากผู้ใช้บริการรายอื่นเป็นเงินสดอีกหลายรายการ และได้ออกใบเสร็จรับเงินให้ตามระเบียบเมื่อโจทก์รวมยอดเงินในเอกสารใบเสร็จรับเงินและรวมยอดจำนวนเงินตามเช็คจำนวน 6,957.50 บาท กับเงินสดที่รับชำระไว้จากผู้ใช้บริการรายอื่น ๆ แล้วปรากฏว่าเงินสดเกินจำนวน 1,199.30 บาท ตามที่โจทก์ไม่ออกใบเสร็จรับเงิน งบ.1 ตามใบเตือนข้างต้น แล้วโจทก์ได้เอาเงินสดจำนวน 1,199.30 บาท ดังกล่าวไปเป็นประโยชน์สำหรับตนเองและผู้อื่นโดยทุจริต แต่เมื่อโจทก์ไปออกใบเสร็จรับเงิน งบ.1 ไปโดยพลการถือว่าไม่ชอบ ส่อทุจริตนำเงินส่วนที่เกินจำนวน 1,199.30 บาทจำเลยไม่นำใบเสร็จรับเงินที่อ้างมาสนับสนุนคำกล่าวหาตนโดยอ้างว่ายังหาไม่พบ จนถึงวันที่ 23 มิถุนายน 2536 ซึ่งเป็นวันที่ศาลแรงงานกลางได้มีคำสั่งให้นำส่งตามรายงานกระบวนพิจารณา คดีหมายเลขดำที่ 2526/2536 ปรากฏว่านายกมลได้รับชำระเงินสดไว้หลังจากที่ใบเตือนได้หายไปแล้ว ยอดเงินสดจึงมิได้หายไป ก่อนที่โจทก์จะส่งมอบเช็คให้แก่นายกมลดังที่ถูกกล่าวหา การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ อ้างว่าเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2534 โจทก์ได้รับชำระค่าโทรศัพท์ตามใบเตือนไว้เป็นจำนวนเงิน 1,199.30 บาท แล้วนำเงินไปเป็นประโยชน์ตนเองและผู้อื่นโดยทุจริต จำเลยพิจารณาแล้วเห็นว่า โจทก์ได้กระทำความผิดตามข้อกล่าวหาควรลงโทษไล่ออกจากงานโดยไม่มีเหตุลดหย่อน สั่งเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2535 การสอบสวนที่จำเลยกระทำต่อโจทก์เป็นการมิชอบ กลั่นแกล้งโจทก์ ทำให้โจทก์เสียหายเพราะเป็นเหตุให้โจทก์ขาดจากการเป็นพนักงานของรัฐ ต้องสูญเสียรายได้ประจำจากค่าจ้างและเสียสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ นับแต่วันถูกเลิกจ้างถึงวันครบเกษียณอายุเป็นเวลาอีก 23 ปี โจทก์ย่อมมีรายได้ประจำมากกว่า 3 ล้านบาท โจทก์ขอคิดค่าเสียหายนับจากเดือนที่เลิกจ้างไปจนถึงเดือนที่ฟ้องนี้ รวม 64 เดือน ๆ ละ 10,550 บาทรวมค่าเสียหายจำนวน 675,200 บาท ค่าเสียหายจากการสูญเสียสิทธิและสิทธิประโยชน์ในการรักษาพยาบาลจนเกษียณอายุซึ่งจำเลยจ้องจัดทำกรมธรรม์ประกันชีวิตให้แก่โจทก์เป็นการทดแทนสิทธิประโยชน์ที่โจทก์ได้เสียไปในวงเงิน 100,000 บาท อายุกรมธรรม์ 20 ปี และเมื่อครบอายุสัญญาให้กรมธรรม์นั้นตกเป็นของโจทก์ ค่าเสียหายจากการสูญเสียเกียรติคุณ และสูญเสียความเป็นผู้สุจริต โจทก์เป็นพนักงานของรัฐมีเกียรติ มีตำแหน่งฐานะและเกียรติคุณสามารถใช้เป็นหลักประกันในทางสังคมหรือใช้ค้ำประกันบุคคลได้ตามวิทยฐานะที่โจทก์พึงมีพึงได้และมีสิทธิต่าง ๆ เช่น สิทธิค่าเช่าบ้าน สิทธิค่าเช่าซื้อบ้านในอัตราดอกเบี้ยต่ำ ซึ่งเป็นความสูญเสียที่เห็นได้ ตลอดจนถูกดูหมิ่นเกลียดชังโดยเชื่อว่าโจทก์เป็นคนชั่ว ทำให้โจทก์อับอายจนกลายเป็นบุคคลที่สังคมไม่พึงประสงค์จะคบค้าด้วย และยังเป็นบุคคลต้องห้ามของหน่วยงานรัฐทุกกระทรวง ทบวง กรม ที่เข้าทำงานหรือรับราชการในสังกัด โจทก์ขอคิดค่าเสียหายเป็นเงิน 200,000 บาท ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าเสียหายที่ทำให้ขาดรายได้ประจำของโจทก์เดือนละ10,550 บาท นับแต่เดือนที่เลิกจ้างไปจนถึงเดือนที่ฟ้องรวม 64 เดือนเป็นเงิน 675,200 บาท ค่าเสียหายที่ทำให้สิทธิประโยชน์ในการรักษาพยาบาลของโจทก์เสียไปโดยให้จัดทำประกันชีวิตให้แก่โจทก์แทนสิทธิประโยชน์ดังกล่าวในวงเงิน 100,000 บาท อายุกรมธรรม์ 20 ปี และให้กรมธรรม์ตกเป็นของโจทก์เมื่อครบอายุสัญญา กับให้จำเลยจ่ายค่าเสียหายที่ได้ทำให้โจทก์สูญเสียความเป็นผู้สุจริตและสูญเสียสิทธิเกียรติคุณ ตามวิทยฐานะที่โจทก์พึงมีคิดเป็นเงิน 200,000 บาท แก่โจทก์
จำเลยให้การว่า ฟ้องโจทก์เป็นฟ้องซ้ำ ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 148 ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 31 ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า ฟ้องโจทก์คดีนี้เป็นฟ้องซ้ำกับคดีก่อน พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ที่โจทก์อุทธรณ์ว่า จำเลยมีคำสั่งเลิกจ้างโจทก์ 2 ครั้ง ครั้งแรกกล่าวหาว่าโจทก์กระทำผิดวินัยร้ายแรง รับชำระเงินค่าโทรศัพท์ไว้โดยไม่มีหน้าที่แล้วนำเงินไปเป็นประโยชน์แก่ตนเองหรือผู้อื่นโดยทุจริต ลงโทษไล่ออก โจทก์ได้อุทธรณ์คำสั่ง คณะกรรมการจำเลยพิจารณาแล้วเห็นควรยกข้อกล่าวหาและยกโทษให้แก่โจทก์ แต่จากพฤติการณ์แวดล้อมถือได้ว่ามีมลทินมัวหมองหรือมีพฤติการณ์อันไม่น่าไว้วางใจซึ่งจะให้ปฏิบัติงานต่อไปอาจเป็นการเสียหายแก่จำเลย จึงให้ออกจากงานตามข้อบังคับของจำเลย ข้อ 34.3 คำสั่งเลิกจ้างของจำเลยทั้งสองครั้งมิได้อาศัยเหตุอย่างเดียวกัน ที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าฟ้องของโจทก์เป็นฟ้องซ้ำกับคดีเดิมในคดีหมายเลขแดงที่ 10172/2536 เพราะประเด็นแห่งคดีอาศัยเหตุอย่างเดียวกับคดีก่อนจึงไม่ชอบนั้น เห็นว่า ฟ้องของโจทก์กล่าวหาว่าจำเลยมีคำสั่งไล่โจทก์ออกจากงานโดยอ้างว่าโจทก์ทุจริตรับเงินค่าโทรศัพท์ไว้โดยไม่มีหน้าที่แล้วนำเงินไปเป็นประโยชน์แก่ตนเองหรือผู้อื่นโดยทุจริตนั้นไม่เป็นความจริง จำเลยกลั่นแกล้งกล่าวหาโจทก์ โจทก์อุทธรณ์คำสั่ง ต่อมาจำเลยได้ยกเลิกคำสั่งและยกโทษให้โจทก์แล้ว กลับอ้างว่าจากพฤติการณ์แวดล้อมถือได้ว่าโจทก์มีมลทินมัวหมองหรือมีพฤติการณ์อันไม่น่าไว้วางใจซึ่งจะให้ปฏิบัติงานต่อไปอาจเป็นการเสียหายแก่จำเลย จึงมีคำสั่งให้ออกนั้นไม่ชอบธรรมเป็นการกลั่นแกล้งโจทก์ เป็นเรื่องที่โจทก์ได้กล่าวอ้างไว้ในฟ้องเดิมแล้วทั้งสิ้น ฟ้องเดิมของโจทก์ขอให้จำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงานในตำแหน่งเดิมหรือใช้ค่าเสียหายต่าง ๆ ซึ่งเกิดจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์นั้นไม่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม พิพากษายกฟ้องคดีถึงที่สุดแล้ว โจทก์มาฟ้องคดีนี้โดยอ้างเหตุตามที่บรรยายในฟ้องเดิมทุกประการ เพียงแต่เน้น ว่าการกระทำก่อนที่จำเลยมีคำสั่งเลิกจ้างนั้นไม่ชอบ แล้วเรียกค่าเสียหายที่โจทก์ต้องพ้นจากการเป็นพนักงานของจำเลยนับแต่วันถูกเลิกจ้างและค่าเสียหายแก่ชื่อเสียงกับประโยชน์อื่นที่สูญเสียเนื่องจากถูกเลิกจ้าง การที่โจทก์ขอให้ศาลวินิจฉัยว่าก่อนที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ จำเลยกลั่นแกล้งกล่าวหาโจทก์โดยมิชอบแล้วในที่สุดเลิกจ้างโจทก์ก็เท่ากับขอให้ศาลพิพากษาว่าการที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์นั้นเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมนั่นเอง จึงเป็นการรื้อร้องฟ้องกันอีกในประเด็นที่ศาลได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกัน เป็นการฟ้องซ้ำต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 148 ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 31
พิพากษายืน

Share