คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8746/2555

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตาม ป.รัษฎากร มาตรา 77/2 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “การกระทำกิจการดังต่อไปนี้ในราชอาณาจักร ให้อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามบทบัญญัติในหมวดนี้ (1) การขายสินค้าหรือการให้บริการโดยผู้ประกอบการ…” ตามมาตรา 77/1 (10) คำว่า “บริการ” หมายความว่า การกระทำใด ๆ อันอาจหาประโยชน์อันมีมูลค่าซึ่งมิใช่เป็นการขายสินค้า และให้หมายความรวมถึงการใช้บริการของตนเองไม่ว่าประการใด ๆ …” ปรากฏว่าพนักงานที่เจ้าหนี้ส่งไปทำงานในบริษัทลูกหนี้ซึ่งเจ้าหนี้ถือหุ้นอยู่ยังคงเป็นลูกจ้างของเจ้าหนี้เนื่องจากเจ้าหนี้เป็นผู้จ่ายเงินเดือนและค่าสวัสดิการต่าง ๆ ทั้งยังคงต้องปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าหนี้ การที่เจ้าหนี้ส่งพนักงานไปปฏิบัติหน้าที่ในบริษัทลูกหนี้ โดยลูกหนี้เป็นผู้รับผิดชอบชดใช้เงินเดือนและค่าสวัสดิการซึ่งเจ้าหนี้จ่ายให้แก่พนักงานของเจ้าหนี้ไป แม้จะไม่เป็นการกระทำใด ๆ ซึ่งเป็นการหาประโยชน์อันมีมูลค่าจากลูกหนี้โดยตรง แต่การที่เจ้าหนี้เรียกเก็บเงินจากลูกหนี้เท่ากับที่จ่ายให้แก่พนักงานก็ยังต้องด้วยคำนิยามของคำว่า “บริการ” จึงถือว่าเจ้าหนี้ให้บริการแก่ลูกหนี้แล้ว เจ้าหนี้ซึ่งเป็นผู้ประกอบการที่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มจึงมีสิทธิเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากลูกหนี้ผู้รับบริการตาม ป.รัษฎากร มาตรา 82/4 วรรคหนึ่ง ด้วยเหตุนี้เมื่อลูกหนี้ต้องชำระค่าบริการสำหรับเงินเดือนและสวัสดิการพนักงานของเจ้าหนี้ที่เรียกเก็บจากลูกหนี้ เจ้าหนี้ย่อมมีสิทธิได้รับค่าภาษีมูลค่าเพิ่มจากเงินดังกล่าวด้วย

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของบริษัทปุ๋ยแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) ลูกหนี้ และตั้งบริษัทซี.เจ.มอร์แกน จำกัด เป็นผู้ทำแผน เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2546 ต่อมามีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนโดยมีบริษัทซี.เจ.มอร์แกน จำกัด เป็นผู้บริหารแผน เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2546
เจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ในมูลหนี้ค่าใช้จ่ายบุคลากร ค่าเช่ารถยนต์ลิสซิ่ง ค่าผลิตภัณฑ์ ค่าปรับ เนื่องจากชำระค่าก๊าชล่าช้าพร้อมภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นเงิน 54,267,546.16 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 44,640,067.98 บาท นับถัดจากวันที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการจนกว่าจะชำระเสร็จ
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ผู้คัดค้านได้ให้เจ้าหนี้ ลูกหนี้ และผู้ทำแผนตรวจคำขอรับชำระหนี้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/29 แล้ว ผู้ทำแผนโต้แย้งคำขอรับชำระหนี้รายนี้ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์สอบสวนแล้ว มีคำสั่งอนุญาตให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้บางส่วน สำหรับหนี้ค่าภาษีมูลค่าเพิ่มให้ยก
เจ้าหนี้ยื่นคำร้องคัดค้านคำสั่งของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ต่อศาลล้มละลายกลาง ขอให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ค่าภาษีมูลค่าเพิ่มด้วย
ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้แก้ไขคำสั่งของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ โดยให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ค่าภาษีมูลค่าเพิ่มตามคำขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำสั่งของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันในชั้นนี้รับฟังเป็นยุติว่า เจ้าหนี้เป็นผู้ประกอบการที่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม เจ้าหนี้มีระเบียบให้พนักงานของเจ้าหนี้ไปปฏิบัติงานในบริษัทที่เจ้าหนี้ถือหุ้น แต่ยังคงมีสถานภาพเป็นพนักงานของเจ้าหนี้ โดยพนักงานนั้นจะได้รับค่าตอบแทนในการทำงานจากเจ้าหนี้หรือจากบริษัทก็ได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับข้อตกลงระหว่างเจ้าหนี้กับบริษัท ตามระเบียบการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย สำนวนคำขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการอันดับ 3 เจ้าหนี้ถือหุ้นอยู่ในบริษัทลูกหนี้ เจ้าหนี้ส่งพนักงานของเจ้าหนี้ไปปฏิบัติหน้าที่ในบริษัทลูกหนี้เพื่อให้คำปรึกษาและช่วยเหลือในการดำเนินงานของลูกหนี้ โดยเจ้าหนี้กับลูกหนี้ตกลงกันว่า เมื่อเจ้าหนี้เป็นผู้จ่ายเงินเดือนและค่าสวัสดิการให้แก่พนักงานของเจ้าหนี้แล้ว เจ้าหนี้จะเรียกเก็บเงินที่จ่ายไปคืนจากลูกหนี้
มีปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ว่า เจ้าหนี้มีสิทธิได้รับชำระหนี้ค่าภาษีมูลค่าเพิ่มจากเงินเดือนและค่าสวัสดิการพนักงานซึ่งเรียกเก็บจากลูกหนี้ด้วยหรือไม่ เห็นว่า ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 77/2 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “การกระทำกิจการดังต่อไปนี้ในราชอาณาจักร ให้อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามบทบัญญัติในหมวดนี้ (1) การขายสินค้าหรือการให้บริการโดยผู้ประกอบการ…” ตามมาตรา 77/1 (10) คำว่า “บริการ” หมายความว่า การกระทำใด ๆ อันอาจหาประโยชน์อันมีมูลค่าซึ่งมิใช่เป็นการขายสินค้า และให้หมายความรวมถึงการใช้บริการของตนเองไม่ว่าประการใดๆ…” ปรากฏว่าพนักงานที่เจ้าหนี้ส่งไปทำงานในบริษัทลูกหนี้ยังคงเป็นลูกจ้างของเจ้าหนี้ เนื่องจากเจ้าหนี้เป็นผู้จ่ายเงินเดือนและค่าสวัสดิการต่าง ๆ ทั้งยังคงต้องปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าหนี้ การที่เจ้าหนี้ส่งพนักงานไปปฏิบัติหน้าที่ในบริษัทลูกหนี้ โดยลูกหนี้เป็นผู้รับผิดชอบชดใช้เงินเดือนและค่าสวัสดิการซึ่งเจ้าหนี้จ่ายให้แก่พนักงานของเจ้าหนี้ไป แม้จะไม่เป็นการกระทำใดๆ ซึ่งเป็นการหาประโยชน์อันมีมูลค่าจากลูกหนี้โดยตรง แต่การที่เจ้าหนี้เรียกเก็บเงินจากลูกหนี้เท่ากับที่จ่ายให้แก่พนักงานก็ยังต้องด้วยคำนิยามของคำว่า “บริการ” ซึ่งหมายความว่า การกระทำใดๆ อันอาจหาประโยชน์อันมีมูลค่าได้ตามบทบัญญัติแห่งประมวลรัษฎากร มาตรา 77/1 แล้ว จึงถือว่าเจ้าหนี้ให้บริการแก่ลูกหนี้แล้ว เจ้าหนี้จึงมีสิทธิเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากลูกหนี้ผู้รับบริการ ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 82/4 วรรคหนึ่ง ด้วยเหตุนี้ เมื่อลูกหนี้ต้องชำระค่าบริการสำหรับเงินเดือนและค่าสวัสดิการพนักงานของเจ้าหนี้ที่เรียกเก็บจากลูกหนี้ เจ้าหนี้ย่อมมีสิทธิได้รับค่าภาษีมูลค่าเพิ่มจากเงินดังกล่าวด้วย ที่ศาลล้มละลายกลางอนุญาตให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ค่าภาษีมูลค่าเพิ่มจึงชอบแล้ว อุทธรณ์ของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้ให้เป็นพับ

Share