แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยที่ 6 มีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 295, 297 ประกอบมาตรา 83 การกระทำเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทให้ลงโทษตาม ป.อ. มาตรา 297 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตาม ป.อ. มาตรา 90 จำคุก 9 เดือน เพิ่มโทษหนึ่งในสามตาม ป.อ. มาตรา 92 เป็นจำคุก 12 เดือน ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตาม ป.อ. มาตรา 78 คงจำคุก 6 เดือน ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 6 มีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 295 ประกอบมาตรา 83 จำคุก 9 เดือน ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตาม ป.อ. มาตรา 78 คงจำคุก 4 เดือน 15 วัน ยกคำขอให้เพิ่มโทษเป็นกรณีที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 แก้ไขบทลงโทษ โดยไม่ได้แก้ไขโทษและยกคำขอให้เพิ่มโทษ อันเป็นการแก้ไขเล็กน้อยและลงโทษจำคุกจำเลยที่ 6 ไม่เกินห้าปี จึงต้องห้ามมิให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง ที่จำเลยที่ 6 ฎีกาขอให้ลงโทษสถานเบาและรอการลงโทษนั้น เป็นฎีกาโต้เถียงดุลพินิจในการลงโทษของศาลอุทธรณ์ภาค 3 อันเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามฎีกาตามบทบัญญัติดังกล่าว
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขฟ้องว่า เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2550 เวลากลางวัน จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ฝ่ายหนึ่งและจำเลยที่ 4 ถึงที่ 7 อีกฝ่ายหนึ่งร่วมกันทำร้ายร่างกายซึ่งกันและกัน จนเป็นเหตุให้จำเลยที่ 4 ที่ 6 และที่ 7 ได้รับบาดเจ็บมีบาดแผลฟกช้ำบริเวณร่างกาย และจำเลยที่ 5 ได้รับบาดแผลถูกคมมีดฟันที่ข้อศอกซ้ายลึกถึงกระดูกแตกเป็นอันตรายสาหัสและไม่สามารถประกอบกรณียกิจตามปกติได้เกินกว่ายี่สิบวัน และเป็นเหตุให้จำเลยที่ 1 ได้รับบาดเจ็บมีบาดแผลถูกคมอาวุธมีดและคมขวดแตกฟันและแทงที่บริเวณศีรษะ ใบหน้า หน้าท้อง และแขนซ้าย และจำเลยที่ 2 ได้รับบาดเจ็บมีบาดแผลถูกคมอาวุธมีดและคมขวดแตกฟันและแทงที่บริเวณศีรษะ หน้าผาก และบริเวณหน้าท้องเป็นอันตรายแก่กายและจิตใจ ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 295, 297 เพิ่มโทษจำเลยที่ 2 ที่ 6 และที่ 7 ตามกฎหมายและบวกโทษของจำเลยที่ 4 ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 7194/2549 ของศาลแขวงนครราชสีมา เข้ากับโทษของจำเลยที่ 4 คดีนี้
จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ให้การปฏิเสธ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีสำหรับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 โดยให้โจทก์แยกฟ้องเป็นคดีใหม่ จำเลยที่ 4 ถึงที่ 7 ให้การรับสารภาพและจำเลยที่ 4 ที่ 6 และที่ 7 รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้บวกโทษและเพิ่มโทษ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 4 ถึงที่ 7 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295, 297 ประกอบมาตรา 83 การกระทำเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 297 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกคนละ 9 เดือน ภายในห้าปีนับแต่วันพ้นโทษจำเลยที่ 6 และที่ 7 ได้กระทำความผิดอีก จึงให้เพิ่มโทษหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 92 จำคุกคนละ 12 เดือน จำเลยที่ 4 ถึงที่ 7 ให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้คนละกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกจำเลยที่ 4 และที่ 5 คนละ 4 เดือน 15 วัน จำคุกจำเลยที่ 6 และที่ 7 คนละ 6 เดือน ให้นำโทษจำคุก 2 เดือน ของจำเลยที่ 4 ที่รอไว้ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 7194/2549 ของศาลแขวงนครราชสีมามาบวกเข้ากับโทษของจำเลยที่ 4 ในคดีนี้ เป็นจำคุกจำเลยที่ 4 มีกำหนด 6 เดือน 15 วัน
จำเลยที่ 5 และที่ 6 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 4 ถึงที่ 7 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295 ประกอบมาตรา 83 จำคุกคนละ 9 เดือน ลดโทษให้คนละกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกคนละ 4 เดือน 15 วัน สำหรับจำเลยที่ 4 เมื่อบวกโทษจำคุกที่ศาลรอการลงโทษไว้ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 7194/2549 ของศาลแขวงนครราชสีมาตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นแล้วคงจำคุก 6 เดือน 15 วัน ยกคำขอให้เพิ่มโทษจำเลยที่ 6 และที่ 7 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 6 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “เห็นว่า คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยที่ 6 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295, 297 ประกอบมาตรา 83 การกระทำเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 297 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 9 เดือน เพิ่มโทษหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 92 เป็นจำคุก 12 เดือน ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุกจำเลยที่ 6 มีกำหนด 6 เดือน ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 6 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295 ประกอบมาตรา 83 จำคุก 9 เดือน ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกกฎหมายอาญา มาตรา 78 จำคุก 4 เดือน 15 วัน ยกคำขอให้เพิ่มโทษจำเลยที่ 6 เป็นกรณีที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 แก้ไขบทลงโทษจำเลยที่ 6 โดยไม่ได้แก้ไขโทษ และยกคำขอให้เพิ่มโทษจำเลยที่ 6 อันเป็นการแก้ไขเล็กน้อยและลงโทษจำคุกจำเลยที่ 6 ไม่เกินห้าปี จึงต้องห้ามมิให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคหนึ่ง ที่จำเลยที่ 6 ฎีกาขอให้ลงโทษสถานเบา และรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยที่ 6 นั้น เป็นฎีกาโต้เถียงดุลพินิจในการลงโทษของศาลอุทธรณ์ภาค 3 อันเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงต้องห้ามฎีกาตามบทบัญญัติดังกล่าวที่ศาลชั้นต้นรับฎีกาของจำเลยที่ 6 จึงเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย”
พิพากษายกฎีกาจำเลยที่ 6