คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8033/2553

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

นายอำเภอท่ายางออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) สำหรับที่ดินพิพาทให้แก่ ม. และ ย. ในปี 2520 ในที่ดินพิพาทมีโรงสีและบ้านของ ม. ปลูกสร้างอยู่โดยไม่มีชาวบ้านเข้าไปใช้ประโยชน์ใดๆ ในที่ดินพิพาทในลักษณะที่เป็นสาธารณะมานานแล้ว ย่อมเป็นเหตุให้จำเลยเชื่อโดยสุจริตว่า ม. และ ย. มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทและจำเลยยอมเสียค่าตอบแทนเป็นเงินถึง 120,000 บาท ในการซื้อที่ดินพิพาทจาก ม. และ ย. ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่า จำเลยเข้าครอบครองที่ดินพิพาทโดยไม่มีเจตนาที่จะบุกรุกที่ดินอันเป็นสาธารณประโยชน์แต่อย่างใด ถึงแม้ต่อมาจำเลยจะได้ทราบจากหนังสือของนายอำเภอท่ายางว่าที่ดินพิพาทเป็นส่วนหนึ่งของศาลาสระน้ำหนองขานางสาธารณประโยชน์ ซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินก็เป็นเพียงหลักฐานที่ยังยันกันอยู่กับหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) ที่เป็นเอกสารสิทธิของที่ดินพิพาท ทั้งจำเลยก็มิได้ออกจากที่ดินที่พิพาทและกลับเข้าไปยึดถือครอบครองใหม่ แต่ครอบครองที่ดินพิพาทด้วยเจตนาเดียวกันตลอดมาโดยจำเลยเข้าใจมาแต่ต้นว่าตนมีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทซึ่งไม่อาจถือได้ว่าจำเลยมีเจตนาบุกรุกที่ดินพิพาท การที่จำเลยอยู่ในที่ดินพิพาทตลอดมาด้วยเจตนาเดิมและด้วยการกระทำที่ไม่เป็นความผิดมาตั้งแต่แรก จึงไม่อาจถือว่าจำเลยเกิดเจตนาบุกรุกขึ้นมาใหม่หลังจากทราบจากนายอำเภอท่ายางว่าที่ดินพิพาทเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. 2497 มาตรา 1, 9, 108 ทวิ และให้จำเลยคนงานและบริวารของจำเลยออกจากที่ดินของรัฐ
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา (ที่ถูกประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. 2497) มาตรา 9, 108 ทวิ วรรคสอง จำคุก 3 เดือนและปรับ 2,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 1 ปี หากจำเลยไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29 และ 30 ให้จำเลยและบริวารออกไปจากที่ดินพิพาท
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว “ข้อเท็จจริงตามที่คู่ความมิได้โต้แย้งกันในชั้นนี้รับฟังได้ว่า ที่ดินพิพาทเนื้อที่ 2 งาน 20 ตารางวา เป็นส่วนหนึ่งของที่ดินสาธารณสมบัติของแผ่นดินประเภทพลเมืองใช้ประโยชน์ร่วมกันชื่อ “ศาลาสระน้ำหนองขานางสาธารณประโยชน์” อยู่ในหมู่ที่ 5 ตำบลท่าคอย อำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี เนื้อที่ทั้งสิ้น 2 ไร่เศษ เดิมเป็นที่ดินของนายมาก นายมากก่อสร้างศาลาที่พักอาศัย ขุดสระน้ำไว้แล้วยกให้เป็นสาธารณประโยชน์ ต่อมามีการก่อสร้างโรงเรียนบ้านหนองขานางในที่ดินดังกล่าวจนปี 2511 มีการก่อสร้างโรงเรียนบ้านหนองขานางหลังใหม่ในที่ดินแปลงอื่นและรื้อโรงเรียนหลังเก่าไป ในปี 2512 มีการขึ้นทะเบียนที่ดินดังกล่าวเป็นสาธารณประโยชน์ตามทะเบียนที่ดินสาธารณประโยชน์ และอยู่ในความดูแลของครูใหญ่โรงเรียนบ้านหนองขานาง มีผู้ขอเช่าที่ดินดังกล่าวส่วนที่เป็นที่ดินพิพาทปลูกสร้างโรงสีและบ้านพักอาศัยข้างโรงสี ในปี 2520 นางเมียน ผู้เช่าที่ดินพิพาทไปขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) สำหรับที่ดินพิพาทร่วมกันนางเยื้อ ซึ่งเป็นบุตร ตามแบบบันทึกการสอบสวนสิทธิและพิสูจน์การทำประโยชน์เอกสารหมาย ป.จ.1 (ศาลแขวงสุพรรณบุรี) นายอำเภอท่ายางออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 90 เอกสารหมาย จ.7 ให้ในปี 2526 นางเมียนและนางเยื้อขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยโดยให้จำเลยผ่อนชำระราคาเรื่อยมา ในปี 2529 อธิบดีกรมที่ดินออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงเลขที่ 30796 เอกสารหมาย จ.2 ให้แก่ศาลาสระน้ำหนองขานางสาธารณประโยชน์ นางเมียนเลิกทำกิจการโรงสีแต่นางเมียนกับนางเยื้อยังพักอาศัยอยู่ในบ้านข้างๆโรงสี ปี 2541 จำเลยชำระราคาที่ดินครบถ้วน นางเมียนและนางเยื้อจึงโอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยแล้วออกจากที่ดินพิพาท ในเดือนกุมภาพันธ์ 2543 จำเลยรื้อบ้านหลังเดิมในที่ดินพิพาทถมที่ดินแล้วปลูกสร้างบ้านหลังใหม่ มีชาวบ้านไปร้องเรียนต่อนายอำเภอท่ายางว่าจำเลยบุกรุกที่สาธารณประโยชน์ นายชูศักดิ์ ปลัดอำเภอท่ายาง ไปตรวจดูพบจำเลยกำลังเริ่มก่อสร้างปักเสาบ้าน นายชูศักดิ์แจ้งให้จำเลยทราบว่าที่ดินพิพาทเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินสาธารณประโยชน์และให้จำเลยหยุดก่อสร้าง จำเลยโต้แย้งว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เจ้าหน้าที่ที่ดินอำเภอท่ายางรังวัดตรวจสอบที่ดินสาธารณประโยชน์ดังกล่าวแล้วปรากฏว่าที่ดินพิพาทอยู่ในเขตที่ดินสาธารณประโยชน์ ตามแผนผังรังวัดเอกสารหมาย จ.3 จำเลยยังคงปลูกสร้างบ้านต่อไปจนเสร็จ นายอำเภอท่ายางมีหนังสือเอกสารหมาย จ.8 แจ้งให้จำเลยทราบว่าจำเลยบุกรุกที่ดินสาธารณประโยชน์และให้รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกไป จำเลยไม่รื้อ นายอำเภอท่ายางจึงร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีแก่จำเลย
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า หลังจากนายอำเภอท่ายางแจ้งให้จำเลยทราบว่าที่ดินพิพาทเป็นที่ดินสาธารณประโยชน์ จำเลยยังคงครอบครองที่ดินพิพาทต่อมา ถือได้ว่ามีเจตนาบุกรุกที่ดินพิพาทอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินเป็นความผิดตามฟ้องหรือไม่ เห็นว่า แม้แต่นายอำเภอท่ายางยังออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 90 เอกสารหมาย จ.7 สำหรับที่ดินพิพาทให้แก่นางเมียนและนางเยื้อในปี 2520 ในที่ดินพิพาทก็มีโรงสีและบ้านของนางเมียนปลูกสร้างอยู่ โดยไม่มีชาวบ้านเข้าไปในใช้ประโยชน์ใดๆ ในที่ดินพิพาทในลักษณะที่เป็นที่สาธารณะมานานแล้ว ย่อมเป็นเหตุให้จำเลยเชื่อโดยสุจริตว่านางเมียนและนางเยื้อมีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทและจำเลยยอมเสียค่าตอบแทนเป็นเงินถึง 120,000 บาท ในการซื้อที่ดินพิพาทจากนางเมียนและนางเยื้อ ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่า จำเลยเข้าครอบครองที่ดินพิพาทโดยไม่มีเจตนาที่จะบุกรุกที่ดินอันเป็นสาธารณประโยชน์แต่อย่างใด ถึงแม้ต่อมาจำเลยจะได้ทราบจากหนังสือของนายอำเภอท่ายางว่าที่ดินพิพาทเป็นส่วนหนึ่งของศาลาสระน้ำหนองขานางสาธารณประโยชน์ ซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินก็เป็นเพียงหลักฐานที่ยังยันกันอยู่กับหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) ที่เป็นเอกสารสิทธิของที่ดินพิพาท ทั้งจำเลยก็มิได้ออกจากที่ดินพิพาทและกลับเข้าไปยึดถือครอบครองใหม่ แต่ครอบครองที่ดินพิพาทด้วยเจตนาเดียวกันตลอดมาโดยจำเลยเข้าใจมาแต่ต้นว่าตนมีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาท ซึ่งไม่อาจถือได้ว่าจำเลยมีเจตนาบุกรุกที่ดินพิพาท การที่จำเลยอยู่ในที่ดินพิพาทตลอดมาด้วยเจตนาเดิมและด้วยการกระทำที่ไม่เป็นความผิดมาแต่แรก จึงไม่อาจถือว่าจำเลยเกิดเจตนาบุกรุกขึ้นมาใหม่หลังจากทราบจากนายอำเภอท่ายางว่าที่ดินพิพาทเป็นสาธารณสมบัติแผ่นดินดังที่โจทก์ฎีกา ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายกฟ้องนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share