คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7235/2553

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

กรณีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 299 นั้น ต้องเป็นการชุลมุนต่อสู้กันระหว่างบุคคลตั้งแต่สามคนขึ้นไป และมีบุคคลตั้งแต่สามคนขึ้นไป และมีบุคคลได้รับอันตรายสาหัสโดยไม่ทราบว่าผู้ใดหรือผู้ใดร่วมกับใครทำร้ายจนได้รับอันตรายสาหัส แต่หากสามารถรู้และแบ่งฝ่ายแบ่งพวกกันได้ ทั้งรู้ว่าผู้ใดหรือฝ่ายใดเป็นผู้ลงมือทำร้ายย่อมลงโทษผู้นั้นกับพวกได้ตามเจตนาและผลของการกระทำ เมื่อข้อเท็จจริงในคดีนี้ได้ความว่าจำเลยกับพวกฝ่ายหนึ่งและผู้เสียหายกับพวกฝ่ายหนึ่งวิวาทต่อสู้กัน แล้วพวกของจำเลยเป็นผู้ใช้มีดฟันทำร้ายผู้เสียหายจนเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายสาหัส ย่อมมิใช่กรณีตาม ป.อ. มาตรา 299 และเมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าผู้ที่ใช้มีดฟันทำร้ายผู้เสียหาย คือ น. ซึ่งเป็นพวกของจำเลยที่เข้าร่วมในการทะเลาะวิวาทกับผู้เสียหายด้วย จำเลยซึ่งมีเจตนาทำร้ายผู้เสียหายย่อมต้องรับผลอันเป็นธรรมดา ย่อมเกิดขึ้นจากการนั้นในฐานเป็นตัวการแม้มิได้เป็นผู้ลงมือใช้มีดฟันทำร้ายผู้เสียหายด้วยตนเองก็ตาม

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 297, 83, 92 และเพิ่มโทษจำเลยตามกฎหมาย
จำเลยให้การปฏิเสธ แต่รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้เพิ่มโทษ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 297 ประกอบมาตรา 83 จำคุก 6 เดือน เพิ่มโทษหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 92 ทางนำสืบของจำเลยในชั้นพิจารณาเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ทำให้ส่วนของการเพิ่มเท่ากับส่วนของการลด จึงเห็นสมควรไม่เพิ่มและไม่ลดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 54
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า ศาลพิพากษาลงโทษจำเลยตามฟ้องได้หรือไม่ โดยโจทก์อ้างว่า ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1วินิจฉัยว่า กรณีเป็นการชุลมุนต่อสู้ระหว่างบุคคลตั้งแต่สามคนขึ้นไป และผู้เสียหายซึ่งเข้าร่วมชุลมุนต่อสู้นั้นได้รับอันตรายสาหัส ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 299 วรรคแรก เมื่อโจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 297 จึงต้องถือว่า ข้อเท็จจริงที่ได้ความตามทางพิจารณาแตกต่างจากที่กล่าวในฟ้อง ลงโทษจำเลยไม่ได้แล้วพิพากษายกฟ้องนั้น เป็นการไม่ชอบ เห็นว่า กรณีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 299 นั้น ต้องเป็นการชุลมุนต่อสู้กันระหว่างบุคคลตั้งแต่สามคนขึ้นไป และมีบุคคลได้รับอันตรายสาหัสโดยไม่ทราบว่าผู้ใดหรือผู้ใดร่วมกับใครทำร้ายจนได้รับอันตรายสาหัส แต่หากสามารถรู้และแบ่งฝ่ายแบ่งพวกกันได้ ทั้งรู้ว่าผู้ใดหรือฝ่ายใดเป็นผู้ลงมือทำร้ายย่อมลงโทษผู้นั้นกับพวกได้ตามเจตนาและผลของการกระทำเมื่อข้อเท็จจริงในคดีนี้ได้ความว่า จำเลยกับพวกฝ่ายหนึ่งและผู้เสียหายกับพวกฝ่ายหนึ่งวิวาทต่อสู้กัน แล้วพวกของจำเลยเป็นผู้ใช้มีดฟันทำร้ายผู้เสียหายจนเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายสาหัส ย่อมมิใช่กรณีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 299 ดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น และเมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าผู้ที่ใช้มีดฟันทำร้ายผู้เสียหายคือนายหนึ่งซึ่งเป็นพวกของจำเลยที่เข้าร่วมในการทะเลาะวิวาทกับผู้เสียหายด้วย จำเลยซึ่งมีเจตนาทำร้ายผู้เสียหายย่อมต้องรับผลอันเป็นธรรมดาย่อมเกิดขึ้นจากการนั้นในฐานเป็นตัวการ แม้มิได้เป็นผู้ลงมือใช้มีดฟันทำร้ายผู้เสียหายด้วยตนเองก็ตาม ที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยมานั้นชอบแล้ว และที่ศาลชั้นต้นใช้ดุลพินิจกำหนดโทษจำเลยให้จำคุก 6 เดือน โดยไม่รอการลงโทษ ก็นับว่าเหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งคดี แต่ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้เพิ่มโทษจำเลยหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 92 และลดโทษให้จำเลยหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 เนื่องจากส่วนของการเพิ่มและการลดเท่ากันจึงไม่เพิ่มและไม่ลดโทษให้จำเลยนั้น ปรากฏว่าระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา ได้มีพระราชบัญญัติล้างมลทินในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมีพระชนมพรรษา 80 พรรษาพ.ศ. 2550 ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 5 ธันวาคม 2550 เป็นต้นไป โดยในมาตรา 4 ของบทกฎหมายดังกล่าวบัญญัติให้ล้างมลทินแก่บรรดาผู้ต้องโทษในกรณีความผิดต่าง ๆ ซึ่งได้กระทำก่อนหรือในวันที่ 5 ธันวาคม 2550 และได้พ้นโทษไปแล้วก่อนหรือในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ โดยให้ถือว่าผู้นั้นมิได้เคยถูกลงโทษในกรณีความผิดนั้น ๆ ดังนี้ เมื่อปรากฏว่าคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1166/2540 ของศาลอาญาธนบุรี ซึ่งโจทก์อาศัยเป็นเหตุขอให้เพิ่มโทษแก่จำเลยนั้น จำเลยต้องคำพิพากษาให้จำคุก 6 เดือนและปรับ 550 บาท ในความผิดฐานลักทรัพย์ เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2540 และจำเลยพ้นโทษก่อนวันที่ 5 ธันวาคม 2550 จำเลยจึงเป็นผู้ได้รับประโยชน์ตามพระราชบัญญัติดังกล่าว โดยถือว่ามิได้เคยถูกลงโทษในความผิดฐานลักทรัพย์ตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1166/2540 ของศาลอาญาธนบุรี มาก่อนเลย กรณีจึงไม่อาจเพิ่มโทษแก่จำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 92 ได้ ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
พิพากษากลับว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 297 (8) ประกอบมาตรา 83 ลงโทษจำคุก 6 เดือน ทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 4 เดือน ยกคำขอให้เพิ่มโทษ

Share