คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1737/2536

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

เจ้าพนักงานตำรวจค้นตัวจำเลยพบถุงพลาสติกมีคราบเฮโรอีนและหลอดกาแฟตัดแล้วในกระเป๋ากางเกงจำเลย กับพบเฮโรอีนบรรจุถุงพลาสติกและบรรจุในหลอดกาแฟรวมอยู่ในกระปุกพลาสติกบนพื้นห้องปลายที่นอนมีหลอดกาแฟเทียนไข กรรไกร ไม้ขีด ช้อนและถุงพลาสติกเปล่าแสดงว่าจำเลยกำลังแบ่งบรรจุเฮโรอีนใส่หลอดกาแฟอยู่ การกระทำดังกล่าวตาม พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 4ถือว่าเป็นการผลิตเฮโรอีนแล้ว การผลิตเฮโรอีนที่เป็นสารบริสุทธิ์ตั้งแต่ยี่สิบกรัมขึ้นไป มาตรา 15 วรรคสองให้ถือว่าเป็นการผลิตเพื่อจำหน่ายต้องลงโทษตามมาตรา 65 วรรคสอง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษพ.ศ. 2522 มาตรา 4, 7, 8, 14, 65 วรรคสอง, 66, 102ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 และขอริบของกลาง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 15, 65 วรรคสอง, 66 วรรคแรกเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 91 ฐานผลิตเฮโรอีนเพื่อจำหน่ายให้ประหารชีวิต ฐานมีเฮโรอีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายให้จำคุก 9 ปี จำเลยให้การรับสารภาพชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ประกอบมาตรา 52(1)ฐานผลิตเฮโรอีนเพื่อจำหน่าย คงจำคุกตลอดชีวิต ฐานมีเฮโรอีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย คงจำคุก 6 ปี เมื่อลงโทษจำคุกตลอดชีวิตแล้วจึงไม่อาจนำโทษจำคุกความผิดกระทงอื่นมารวมได้ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 91(3) คงจำคุกจำเลยตลอดชีวิต ริบของกลาง
โจทก์และจำเลยต่างไม่อุทธรณ์ ศาลชั้นต้นส่งสำนวนมายังศาลอุทธรณ์ภาค 2 ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 245
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดกฎหมายหลายบทลงโทษฐานผลิตเฮโรอีนเพื่อจำหน่ายซึ่งเป็นบทหนักแต่บทเดียวตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า ตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง เจ้าพนักงานตำรวจได้ทำการตรวจค้นบ้านนายจำรัส เอี่ยมอิน และทำการจับกุมจำเลยได้พร้อมของกลางตามฟ้อง ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยมีว่าความผิดของจำเลยเป็นความผิดตาม มาตรา 66 วรรคแรก ของพระราชบัญญัติ ยาเสพติดให้โทษทั้งจำเลยให้การรับสารภาพในชั้นจับกุมสอบสวนและในชั้นพิจารณาของศาล ควรลดโทษจำเลยลงอีกตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ประกอบมาตรา 53 (ที่ถูก มาตรา52) หรือไม่ โจทก์มีร้อยตำรวจเอกสมนึก แสงตา นายดาบตำรวจวิชัย สุวรรณภาษิต สิบตำรวจเอกสนั่น ไชยวงศ์ และพลตำรวจหญิงนงคราญ ปิงวัง มาเบิกความสอดคล้องต้องกันว่าพลตำรวจหญิงนงคราญได้ค้นตัวจำเลยพบถุงพลาสติกมีคราบเฮโรอีนจำนวน 3 ถุง และหลอดกาแฟตัดไว้แล้ว 1 หลอด ในกระเป๋ากางเกงจำเลยกับพบเฮโรอีนบรรจุถุงพลาสติก 7 ถุง บรรจุในหลอดกาแฟแล้ว2 หลอดรวมอยู่ในกระปุกพลาสติกบนพื้นห้องปลายที่นอนมีหลอดกาแฟเทียนไข กรรไกร ไม้ขีด ช้อน และถุงพลาสติกเปล่าจำนวนหนึ่งบริเวณนั้น ทำให้เชื่อได้ว่าจำเลยกำลังแบ่งบรรจุเฮโรอีนใส่หลอดกาแฟอยู่มิฉะนั้นคงไม่มีถุงพลาสติกที่มีคราบเฮโรอีนและหลอดกาแฟอยู่ในกระเป๋ากางเกงจำเลย กับมีอุปกรณ์ในการบรรจุเฮโรอีนวางอยู่ในลักษณะนั้นการกระทำของจำเลยดังกล่าวตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษพ.ศ. 2522 มาตรา 4 ถือว่าเป็นการผลิตเฮโรอีนแล้ว และการผลิตเฮโรอีนที่เป็นสารบริสุทธิ์ตั้งแต่ยี่สิบกรัมขึ้นไป มาตรา 15วรรคสองให้ ถือว่าเป็นการผลิตเพื่อจำหน่าย ซึ่งต้องลงโทษตามมาตรา65 วรรคสอง ในชั้นพิจารณาของศาลจำเลยให้การปฏิเสธมิได้รับสารภาพที่ศาลชั้นต้นลดโทษให้จำเลยหนึ่งในสามจึงเหมาะสมแล้วฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share