แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
เงินช่วยเหลือค่าครองชีพที่โจทก์ได้รับเป็นส่วนหนึ่งของเงินเดือนที่จำเลยจ่ายให้เป็นการตอบแทนการทำงาน จึงเป็นค่าจ้างที่ต้องนำมารวมเพื่อคำนวณบำเหน็จตามข้อบังคับของจำเลยด้วย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นลูกจ้างประจำของจำเลย ได้รับเงินเดือนครั้งสุดท้ายเดือนละ 2,380 บาท และเงินช่วยเหลือค่าครองชีพเดือนละ 400 บาท รวมเป็นค่าจ้างเดือนละ 2,780 บาท เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2524 โจทก์ลาออกจากงานเนื่องจากสุขภาพไม่สมบูรณ์และได้รับอนุมัติจากจำเลยแล้ว รวมอายุการทำงาน10 ปี 10 เดือน โจทก์ขอรับบำเหน็จตามข้อบังคับจำเลยว่าด้วยการสงเคราะห์พนักงาน พ.ศ. 2519 จำเลยจ่ายเงินบำเหน็จให้โจทก์จำนวน 26,180 บาทยังขาดอยู่อีก 4,400 บาท โจทก์ทวงถามจำเลยไม่ยอมชำระ ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินดังกล่าวพร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ 2เมษายน 2524 จนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การว่า จำเลยได้จ่ายเงินบำเหน็จจำนวน 26,180 บาทให้โจทก์ครบถ้วนแล้ว การจ่ายเงินบำเหน็จ จำเลยคิดจากค่าจ้างซึ่งตอบแทนการทำงานเป็นหลัก มิได้คิดจากรายได้ที่โจทก์ได้รับจากจำเลย โจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องเรียกเงินช่วยเหลือค่าครองชีพอีก 4,400 บาท ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานวินิจฉัยว่า เงินช่วยเหลือค่าครองชีพถือเป็นค่าจ้างที่ต้องนำมาคำนวณในการจ่ายบำเหน็จด้วย จำเลยจึงต้องจ่ายบำเหน็จในส่วนที่จ่ายไม่ครบจำนวน 4,400 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ได้ความว่ามูลเหตุที่จำเลยจ่ายเงินช่วยเหลือค่าครองชีพแก่โจทก์เนื่องจากเมื่อ พ.ศ. 2522 พนักงานรัฐวิสาหกิจเรียกร้องค่าครองชีพ นายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้กระทรวงมหาดไทยพิจารณากระทรวงมหาดไทยพิจารณาแล้วเสนอต่อนายกรัฐมนตรีว่ามีเหตุสมควรเพิ่มรายได้ให้แก่พนักงานและลูกจ้างประจำของรัฐวิสาหกิจในลักษณะค่าครองชีพ เป็นรายเดือนตามอัตราที่เสนอ โดยให้ถือเป็นมาตรการชั่วคราวจนกว่าจะปรับปรุงโครงสร้างค่าจ้างเงินเดือนพนักงานรัฐวิสาหกิจแล้วเสร็จและมีผลบังคับใช้ คณะรัฐมนตรีพิจารณาเมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2523 มีมติอนุมัติและแจ้งให้รัฐวิสาหกิจปฏิบัติต่อมา ดังนี้เห็นได้ว่าจำเลยมีความประสงค์จะเพิ่มเงินเดือนปกติให้แก่พนักงาน แต่ยังเพิ่มไม่ได้เนื่องจากรัฐบาลปรับปรุงโครงสร้างค่าจ้างเงินดือนยังไม่เสร็จ จึงจ่ายให้ในรูปของเงินช่วยเหลือค่าครองชีพเป็นการชั่วคราว เงินช่วยเหลือค่าครองชีพที่โจทก์ได้รับจึงเป็นส่วนหนึ่งของเงินเดือนที่จำเลยจ่ายให้เป็นการตอบแทนการทำงานนั่นเองจึงเป็นค่าจ้างที่ต้องนำมารวมคำนวณเงินบำเหน็จตามข้อบังคับของจำเลยด้วย
พิพากษายืน