แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
การที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นให้ลงโทษจำคุกจำเลย 6 เดือน ไม่รอการลงโทษ และไม่ปรับนั้นเป็นการแก้ไขมากและเป็นการเพิ่มเติมโทษจำเลย ไม่ ต้องห้ามฎีกาในข้อเท็จจริง ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 219.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้อง ขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484มาตรา 4, 7, 47, 48, 73, 74, 75 (ที่แก้ไขแล้ว) ริบไม้ของกลาง
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้พ.ศ. 2484 มาตรา 4, 7, 47, 48, 73, 74, 75 (ที่แก้ไขแล้ว)ให้ลงโทษจำคุกจำเลยไว้มีกำหนด 2 ปี ปรับ 10,000 บาท จำเลยให้การรับสารภาพมีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 กึ่งหนึ่ง คงลงโทษจำคุกจำเลย 1 ปีปรับ 5,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี จำเลยไม่ชำระค่าปรับจัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ของกลางริบ
โจทก์อุทธรณ์ขอให้ไม่รอการลงโทษ
ศาลอุทธรณ์พิจารณาแล้วเห็นว่า ไม้แปรรูปที่จำเลยมีไว้ในความครอบครองมีเป็นจำนวนมาก พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 มาตรา 4, 7, 47, 48, 73 วรรคสอง,74, 75 (ที่แก้ไขแล้ว) ให้ลงโทษจำคุกจำเลย 1 ปี จำเลยรับสารภาพมีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 กึ่งหนึ่งคงจำคุก 6 เดือน ไม่รอการลงโทษ ไม่ปรับ นอกจากที่แก้ให้คงเป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาวินิจฉัยตามคำแก้ฎีกาของโจทก์ว่าฎีกาจำเลยต้องห้ามฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 219 ที่แก้ไขแล้วหรือไม่เห็นว่า การที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นเป็นว่าให้ลงโทษจำคุกจำเลย 6 เดือน ไม่รอการลงโทษ ไม่ปรับ นั้น นอกจากจะเป็นการแก้ไขมากแล้ว ยังเป็นการเพิ่มโทษจำเลยด้วย ฎีกาของจำเลยจึงไม่ต้องห้ามฎีกาในข้อเท็จจริงตามบทบัญญัติดังกล่าว ทั้งคดีนี้จำเลยยังไม่ได้รับอนุญาตจากผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาในศาลชั้นต้นให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงอีกด้วย ส่วนปัญหาว่าสมควรรอการลงโทษให้จำเลยหรือไม่ พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ป่าไม้เป็นทรัพยากรของชาติและเป็นที่ทราบกันดีว่าการลักลอบตัดไม้ทำลายป่าก่อให้เกิดผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของบุคคลในชาติเป็นส่วนรวม การที่จำเลยมีไม้ตามฟ้องซึ่งมิใช่จำนวนเล็กน้อยไว้ในความครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตถือได้ว่าเป็นการสนับสนุนการลักลอบตัดไม้ทำลายป่าอันก่อให้เกิดผลดังกล่าวมาแล้วอย่างหนึ่ง จำเลยจึงเป็นบุคคลที่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตนเป็นสำคัญ ที่ศาลอุทธรณ์ใช้ดุลพินิจไม่รอการลงโทษให้นับว่าเหมาะสมแก่รูปคดีแล้ว ไม่มีเหตุที่ศาลฎีกาจะแก้ไข”
พิพากษายืน.