คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3238/2552

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

การที่จำเลยที่ 1 นำรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนโจทก์เพื่อขอโอนสิทธิการเช่าซื้อให้แก่ ท. และโจทก์ได้เรียกเก็บเงินค่าเปลี่ยนสัญญา ค่าเปลี่ยนชื่อในเล่มทะเบียนโดยใช้แบบพิมพ์ของโจทก์และจำเลยที่ 1 ได้ชำระค่าตรวจสภาพรถ ค่าปรับล่าช้าและสั่งจ่ายเช็ครวม 6 ฉบับ เพื่อชำระค่าเช่าซื้อล่วงหน้าและโจทก์ยึดรถจากผู้ครอบครองคือ ท. และเป็นการยึดรถที่จังหวัดยโสธรอันเป็นภูมิลำเนาของ ท. ซึ่งโจทก์รับในฎีกาว่ายึดรถยนต์ได้จาก ท. พฤติการณ์ดังกล่าวมาทั้งหมดนี้ ถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้ส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนโจทก์ซึ่งเป็นการบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อแก่โจทก์แล้ว ดังนั้น ไม่ว่าการเปลี่ยนตัวผู้เช่าซื้อจากจำเลยที่ 1 เป็น ท. นั้น โจทก์จะไม่อนุมัติในภายหลัง สัญญาเช่าซื้อก็เป็นอันเลิกกันแล้วนับแต่วันที่จำเลยที่ 1 ส่งมอบรถยนต์พิพาทคืนโจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 573 ซึ่งเป็นบทบัญญัติให้สิทธิผู้เช่าซื้อเลิกสัญญา เมื่อสัญญาเลิกกันโดยจำเลยที่ 1 มิได้ประพฤติผิดสัญญาและไม่มีหนี้ที่ต้องรับผิดต่อโจทก์ โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าขาดราคาและค่าขาดประโยชน์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 590,832 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 81,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การและแก้ไขคำให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน จำนวน 290,500 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 40,500 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 6,000 บาท
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้เถียงกันใช้ชั้นนี้รับฟังเป็นยุติได้ในเบื้องต้นว่า เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2538 จำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์ยี่ห้อวอลโว่ รุ่น 940 เอสอี – เอ หมายเลขทะเบียน 3 ฬ 9454 กรุงเทพมหานคร ไปจากโจทก์ในราคา 1,698,055.80 บาท ตกลงชำระค่าเช่าซื้อรวมภาษีมูลค่าเพิ่ม งวดละ 30,282 บาท ต่อเดือน รวม 60 งวด เริ่มชำระงวดแรกวันที่ 2 กันยายน 2538 หากผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อ 2 งวด ติดต่อกัน โจทก์มีสิทธิบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อทันที จำเลยที่ 2 ทำสัญญาค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม จำเลยที่ 1 ชำระค่าเช่าซื้อเรื่อยมาจนวันที่ 17 มกราคม 2540 จำเลยที่ 1 ติดต่อขอเปลี่ยนตัวผู้เช่าซื้อจากจำเลยที่ 1 เป็นนางสาวทรงสุดา พนักงานของโจทก์เรียกเก็บเงินค่าเปลี่ยนสัญญาและค่าเปลี่ยนชื่อในเล่มทะเบียนตามใบรับเงิน จำเลยที่ 1 ไม่ชำระค่าเช่าซื้อตั้งแต่งวดที่ 21 ประจำวันที่ 2 พฤษภาคม 2540 ต่อมาวันที่ 6 มกราคม 2541 โจทก์ติดตามยึดรถยนต์คืนและนำออกขายได้เงิน จำนวน 585,000 บาท
มีปัญหาข้อแรกที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดต่อโจทก์ตามสัญญาเช่าซื้อหรือไม่ จำเลยทั้งสองเบิกความว่า เป็นผู้นำรถยนต์ที่เช่าซื้อไปคืนโจทก์โดยขอเปลี่ยนตัวผู้เช่าซื้อจากจำเลยที่ 1 เป็น นางสาวทรงสุดา จำเลยทั้งสองมีหลักฐานใบรับเงินค่าเปลี่ยนสัญญา และใบรับเงินค่าเปลี่ยนชื่อในเล่มทะเบียน ซึ่งเอกสารทั้งสองฉบับเป็นเอกสารของโจทก์ที่ออกให้แก่จำเลยที่ 1 ส่วนโจทก์รับในฎีกาว่า จำเลยที่ 1 นำรถยนต์ที่เช่าซื้อไปส่งมอบให้แก่โจทก์เพื่อจะขอเปลี่ยนผู้เช่าซื้อจากจำเลยที่ 1 เป็นนางสาวทรงสุดา โจทก์เรียกเงินค่าเปลี่ยนสัญญาและค่าเปลี่ยนชื่อในเล่มทะเบียนจริง แต่เป็นการเรียกเก็บเงินเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายล่วงหน้าในการตรวจสอบคุณสมบัติของนางสาวทรงสุดาผู้เช่าซื้อรายใหม่ซึ่งเรียกว่าค่าเปลี่ยนสัญญาพร้อมทั้งเรียกเก็บเงินค่าเล่มทะเบียนด้วยเป็นหน้าที่ของจำเลยที่ 1 จะต้องรับผิดชอบชำระไว้ หากคุณสมบัติของนางสาวทรงสุดาไม่ผ่านโจทก์จะคืนเงินค่าเปลี่ยนสัญญา และค่าเปลี่ยนชื่อในเล่มทะเบียน พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ข้อกล่าวอ้างของโจทก์เลื่อนลอยทั้งยังขัดกับข้อความในเอกสารที่โจทก์ออกให้จำเลยที่ 1 การที่จำเลยที่ 1 นำรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนโจทก์เพื่อขอโอนสิทธิการเช่าซื้อให้แก่นางสาวทรงสุดาและโจทก์ได้เรียกเก็บเงินค่าเปลี่ยนสัญญา ค่าเปลี่ยนชื่อในเล่มทะเบียน โดยใช้แบบพิมพ์ของโจทก์นั้น นางสาวรัตนาพร พยานโจทก์เบิกความว่า จำเลยที่ 1 ได้ชำระค่าตรวจสภาพรถ ค่าปรับล่าช้า และสั่งจ่ายเช็คธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) สาขาบางบอน รวม 6 ฉบับ เพื่อชำระค่าเช่าซื้อล่วงหน้าตามต้นขั้วเช็ค พยานโจทก์ปากนี้ยังเบิกความตอบคำถามค้านว่า ตามบันทึกการตรวจสภาพรถผู้ครอบครอง คือ นางสาวทรงสุดาและเป็นการยึดรถที่จังหวัดยโสธรอันเป็นภูมิลำเนาของนางสาวทรงสุดาซึ่งโจทก์รับในฎีกาว่ายึดรถยนต์ได้จากนางสาวทรงสุดา พฤติการณ์ดังกล่าวมาทั้งหมดนี้ ถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้ส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนโจทก์ ซึ่งเป็นการบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อแก่โจทก์แล้ว ดังนั้นไม่ว่าการเปลี่ยนตัวผู้เช่าซื้อจากจำเลยที่ 1 เป็นนางสาวทรงสุดานั้น โจทก์จะไม่อนุมัติในภายหลัง สัญญาเช่าซื้อก็เป็นอันเลิกกันแล้วนับแต่วันที่จำเลยที่ 1 ส่งมอบรถยนต์พิพาทคืนโจทก์ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 573 ซึ่งเป็นบทบัญญัติให้สิทธิผู้เช่าซื้อเลิกสัญญา เมื่อสัญญาเลิกกันโดยจำเลยที่ 1 มิได้ประพฤติผิดสัญญาและไม่มีหนี้ที่ต้องรับผิดต่อโจทก์ โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าขาดราคาและค่าขาดประโยชน์ตามที่กล่าวมาในฟ้องจากจำเลยที่ 1 ฎีกาข้อนี้ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาข้อสุดท้ายตามฎีกาของโจทก์มีว่า จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดตามสัญญาค้ำประกันหรือไม่ โจทก์ฎีกาขอให้จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 เมื่อไม่ปรากฏว่าขณะเลิกสัญญาจำเลยที่ 1 มีหนี้ที่ต้องรับผิดต่อโจทก์ จำเลยที่ 2 ผู้ค้ำประกันจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ด้วย ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้นต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share