แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
เมื่อศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของบริษัท ก. ลูกหนี้แล้ว อำนาจในการจัดการทรัพย์สินของลูกหนี้หรือกระทำการที่จำเป็นเพื่อให้กิจการของลูกหนี้ที่ค้างอยู่เสร็จสิ้นไปเป็นอำนาจของจำเลยซึ่งเป็นเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 22 จำเลยจึงเป็นผู้มีอำนาจกระทำการแทนบริษัท ก. ลูกหนี้ผู้เป็นนิติบุคคล การที่จำเลยจ้างโจทก์ทั้งห้าหลังจากศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ดังกล่าวโดยจ่ายค่าจ้างจากกองทรัพย์สินของบริษัท ก. ลูกหนี้ โจทก์ทั้งห้าจึงเป็นลูกจ้างของบริษัท ก. ลูกหนี้โดยมีจำเลยเป็นผู้กระทำการแทน จำเลยมีฐานะเป็นนายจ้างโจทก์ทั้งห้าตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 5 โจทก์ทั้งห้าไม่ใช่ลูกจ้างของกรมบังคับคดีอันเป็นหน่วยงานราชการส่วนกลาง สัญญาจ้างแรงงานระหว่างโจทก์กับจำเลยอยู่ในบังคับของ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 โจทก์ทั้งห้ามีอำนาจฟ้อง
โจทก์ทั้งห้ามีหนังสือขอให้จำเลยจ่ายค่าชดเชย ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี ค่าทำงานในวันหยุด ค่าจ้างในวันลาป่วย พร้อมดอกเบี้ยและเงินเพิ่ม หรือเสนอเรื่องดังกล่าวเข้าที่ประชุมเจ้าหนี้ การที่จำเลยทำบันทึกเสนอผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้นว่าไม่จำเป็นให้ที่ประชุมเจ้าหนี้พิจารณาโดยอ้างเหตุว่าสัญญาจ้างแรงงานระหว่างโจทก์ทั้งห้ากับจำเลยเป็นสัญญาเพื่อประโยชน์ของทางราชการไม่อยู่ในบังคับของ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 จนได้รับความเห็นชอบจากผู้บังคับบัญชานั้น เป็นเพียงความเห็นของจำเลยในปัญหาว่าจำเป็นต้องนำเสนอเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมเจ้าหนี้หรือไม่ ไม่ใช่จำเลยกระทำหรือวินิจฉัยให้โจทก์ทั้งห้าไม่ได้รับค่าชดเชยและค่าตอบแทนดังกล่าว ไม่ทำให้โจทก์ทั้งห้าได้รับความเสียหาย โจทก์ทั้งห้าจึงไม่จำต้องยื่นคำร้องคัดค้านต่อศาลล้มละลายกลางเพื่อให้มีคำสั่งกลับหรือแก้ไขคำวินิจฉัยของจำเลยตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 146 เมื่อ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 8 บัญญัติให้ศาลแรงงานมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีหรือมีคำสั่งในคดีพิพาทเกี่ยวด้วยสิทธิหรือหน้าที่ตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน และโจทก์ทั้งห้าฟ้องขอให้บังคับจำเลยปฏิบัติตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 โจทก์ทั้งห้าจึงมีอำนาจฟ้องจำเลยต่อศาลแรงงานกลางได้ส่วนปัญหาว่า จำเลยต้องจ่ายค่าชดเชยและค่าตอบแทนดังกล่าวแก่โจทก์ทั้งห้าตามฟ้องหรือไม่ นั้นจำต้องวินิจฉัยว่าจำเลยจ้างโจทก์ทั้งห้าทำงานที่แสวงหากำไรในทางเศรษฐกิจหรือไม่ อันเป็นประเด็นที่ต้องวินิจฉัยอำนาจหน้าที่ของจำเลยตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 ประกอบข้อเท็จจริง แต่ศาลแรงงานกลางยังไม่ได้ฟังข้อเท็จจริงและวินิจฉัยมา ศาลฎีกาเห็นสมควรย้อนสำนวนไปให้ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงแล้วพิพากษาคดีใหม่
ย่อยาว
คดีทั้งห้าสำนวนนี้ศาลแรงงานกลางสั่งให้รวมพิจารณาเป็นคดีเดียวกัน โดยให้เรียกโจทก์เรียงตามลำดับสำนวนว่า โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 5
โจทก์ทั้งห้าฟ้องขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชย ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี ค่าจ้างในวันลาป่วย และค่าทำงานในวันหยุดตามคำฟ้องของโจทก์แต่ละคน พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันเลิกจ้างจนกว่าจะชำระเสร็จ และจ่ายเงินเพิ่มให้แก่โจทก์ทั้งห้า
จำเลยทั้งห้าสำนวนให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า นางลางน้อยเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ลงนามในหนังสือสัญญาว่าจ้างโจทก์ทั้งห้าเป็นพนักงานชั่วคราวโดยขออนุมัติจัดจ้างจากรองอธิบดีผู้ปฏิบัติราชการแทนอธิบดีกรมบังคับคดีแล้ววินิจฉัยว่า จำเลยจ้างโจทก์ทั้งห้าในนามกรมบังคับคดี โจทก์ทั้งห้าจึงเป็นลูกจ้างชั่วคราวของกรมบังคับคดีซึ่งเป็นหน่วยงานราชการส่วนกลาง ไม่อยู่ในบังคับของพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ตามมาตรา 4(1) โจทก์ทั้งห้าจึงไม่มีอำนาจฟ้อง พิพากษายกฟ้อง
โจทก์ทั้งห้าอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่โจทก์ทั้งห้าและจำเลยไม่โต้แย้งกันได้ความว่า ภายหลังจากศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของบริษัทกรุงเทพฯ พาณิชย์การ จำกัด (มหาชน) ลูกหนี้เด็ดขาด จำเลยจ้างโจทก์ทั้งห้าโดยจ่ายค่าจ้างจากกองทรัพย์สินของบริษัทกรุงเทพฯ พาณิชย์การ จำกัด (มหาชน) ลูกหนี้ตามรายงานของจำเลย มีปัญหาวินิจฉัยว่า สัญญาจ้างแรงงานระหว่างโจทก์ทั้งห้ากับจำเลยอยู่ในบังคับของพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 หรือไม่ เห็นว่า เมื่อศาลล้มละลายกลางสั่งพิทักษ์ทรัพย์บริษัทกรุงเทพ ฯ พาณิชย์การ จำกัด (มหาชน) ลูกหนี้แล้ว อำนาจในการจัดการทรัพย์สินของลูกหนี้หรือกระทำการที่จำเป็นเพื่อให้กิจการของลูกหนี้ที่ค้างอยู่เสร็จสิ้นไปเป็นอำนาจของจำเลยตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 22 จำเลยจึงเป็นผู้มีอำนาจกระทำการแทนบริษัทกรุงเทพฯ พาณิชย์การ จำกัด (มหาชน) ลูกหนี้ผู้เป็นนิติบุคคล อีกทั้งค่าจ้างของโจทก์ทั้งห้าก็จ่ายจากกองทรัพย์สินของบริษัทกรุงเทพฯ พาณิชย์การ จำกัด (มหาชน) ลูกหนี้ โจทก์ทั้งห้าจึงเป็นลูกจ้างของบริษัทกรุงเทพฯ พาณิชย์การ จำกัด (มหาชน) ลูกหนี้โดยมีจำเลยเป็นผู้กระทำการแทน จำเลยมีฐานะเป็นนายจ้างทั้งห้าตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 5 โจทก์ทั้งห้าไม่ได้เป็นลูกจ้างของกรมบังคับคดีอันเป็นหน่วยงานราชการส่วนกลาง สัญญาจ้างแรงงานระหว่างโจทก์ทั้งห้ากับจำเลยอยู่ในบังคับของพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 โจทก์ทั้งห้ามีอำนาจฟ้อง อุทธรณ์ของโจทก์ทั้งห้าฟังขึ้น
อนึ่ง ปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องตามคำให้การของจำเลยยังมีอีกประการหนึ่งว่าเมื่อจำเลยยกคำร้องของโจทก์ทั้งห้าที่ขอให้จ่ายค่าชดเชยและค่าตอบแทนแล้ว โจทก์ทั้งห้าต้องยื่นคำร้องคัดค้านต่อศาลล้มละลายกลางตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 146 หรือไม่ ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยไปเสียทีเดียว พิเคราะห์แล้วเห็นว่าตามเอกสารหมาย ล.4 เป็นหนังสือที่โจทก์ทั้งห้าขอให้จำเลยจ่ายค่าชดเชย ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี ค่าทำงานในวันหยุด ค่าจ้างในวันลาป่วย พร้อมดอกเบี้ยและเงินเพิ่ม หรือเสนอเรื่องที่โจทก์ทั้งห้าขอพิจารณาในที่ประชุมเจ้าหนี้ การที่จำเลยทำบันทึกเสนอผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้นว่าไม่จำเป็นให้ที่ประชุมเจ้าหนี้พิจารณาโดยอ้างเหตุว่าสัญญาจ้างแรงงานระหว่างโจทก์ทั้งห้ากับจำเลยเป็นสัญญาเพื่อประโยชน์ของทางราชการไม่อยู่ในบังคับของพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 จนได้รับความเห็นชอบจากผู้อำนวยการกองบังคับคดีล้มละลาย 1 ให้งดเสนอที่ประชุมเจ้าหนี้นั้น เป็นเพียงความเห็นของจำเลยในปัญหาว่าจำเป็นต้องนำเสนอเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมเจ้าหนี้หรือไม่ ไม่ใช่จำเลยกระทำหรือวินิจฉัยให้โจทก์ทั้งห้าไม่ได้รับค่าชดเชยและค่าตอบแทนดังกล่าว ไม่ทำให้โจทก์ทั้งห้าได้รับความเสียหาย โจทก์ทั้งห้าจึงไม่จำต้องยื่นคำร้องคัดค้านต่อศาลล้มละลายกลางภายใน 14 วัน นับแต่วันทราบคำวินิจฉัยเพื่อให้ศาลล้มละลายกลางกลับหรือสั่งแก้ไขคำวินิจฉัยของจำเลยตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 146 เมื่อพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 8 บัญญัติให้ศาลแรงงานมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีหรือมีคำสั่งในคดีพิพาทเกี่ยวด้วยสิทธิหรือหน้าที่ตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานและโจทก์ทั้งห้าฟ้องขอให้บังคับจำเลยปฏิบัติตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 โจทก์ทั้งห้าจึงมีอำนาจฟ้องจำเลยต่อศาลแรงงานกลางได้
เนื่องจากคดียังมีปัญหาวินิจฉัยต่อไปว่า จำเลยต้องจ่ายค่าทำงานในวันหยุดค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี ค่าจ้างในวันลาป่วย และค่าชดเชย พร้อมดอกเบี้ยและเงินเพิ่มตามฟ้องของโจทก์ทั้งห้าหรือไม่ เพียงใด ซึ่งจำต้องวินิจฉัยว่าจำเลยจ้างโจทก์ทั้งห้าทำงานที่แสวงหากำไรในทางเศรษฐกิจหรือไม่ อันเป็นประเด็นที่ต้องวินิจฉัยอำนาจหน้าที่ของจำเลยตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 ประกอบข้อเท็จจริง แต่ศาลแรงงานกลางยังไม่ได้ฟังข้อเท็จจริงและวินิจฉัยมา ศาลฎีกาเห็นสมควรย้อนสำนวนไปให้ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงแล้วพิพากษาคดีใหม่
พิพากษายกคำพิพากษาของศาลแรงงานกลาง ให้ศาลแรงงานกลางพิจารณาในประเด็นอื่นแล้วมีคำพิพากษาหรือคำสั่งใหม่ตามรูปคดีต่อไป