แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ในฐานะผู้ชำระบัญชีของจำเลยที่ 1 มีหนังสือถึงป่าไม้เขตแพร่ว่ารถยนต์บรรทุกทั้งห้าคันที่จำเลยที่ 1 ยืมมานั้นเป็นของจำเลยที่ 1 เอง กรณีเช่นนี้ถือว่ามิใช่เป็นการยืม แต่เป็นการนำทรัพย์สินของตนเองไปใช้ ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่ารถยนต์บรรทุกทั้งห้าคันซึ่งใช้เป็นอุปกรณ์ป้องกันไฟป่าเป็นของจำเลยที่ 1 เมื่อสัมปทานสิ้นสุดลง จำเลยที่ 1 ต้องส่งมอบให้แก่โจทก์ที่ 2 แต่ในชั้นอุทธรณ์ จำเลยทั้งสี่มิได้ยกข้อนี้โต้แย้งไว้ในอุทธรณ์ กลับยกข้ออ้างขึ้นใหม่ว่ารถยนต์บรรทุกดังกล่าวไม่ใช่อุปกรณ์ป้องกันไฟป่า ซึ่งศาลอุทธรณ์ภาค 5 ไม่รับวินิจฉัยเพราะเป็นอุทธรณ์ที่ไม่ชอบ จำเลยทั้งสี่มิได้ฎีกาโต้แย้งว่าที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 ไม่รับวินิจฉัยนั้นเป็นการไม่ชอบอย่างไร ข้อเท็จจริงจึงยุติไปตามคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นแล้วว่ารถยนต์บรรทุกทั้งห้าคันที่ใช้เป็นอุปกรณ์ป้องกันไฟป่าเป็นของจำเลยที่ 1 ดังนั้นที่จำเลยทั้งสี่ฎีกาว่ารถยนต์บรรทุกทั้งห้าคันมิใช่เป็นของจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 1 ยืมหรือเช่ามาใช้เป็นการชั่วคราว จึงเป็นข้อที่จำเลยทั้งสี่เพิ่งยกขึ้นในชั้นฎีกา ถือเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค 5 ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ตามบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 213 วรรคสอง ศาลจะสั่งให้ถือเอาตามคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของลูกหนี้ได้ก็เฉพาะกรณีที่วัตถุแห่งหนี้เป็นอันให้กระทำนิติกรรมอย่างใดอย่างหนึ่งเท่านั้น คดีนี้โจทก์ทั้งสองฟ้องบังคับให้จำเลยทั้งสี่ชำระหนี้เงิน ศาลจึงไม่อาจกำหนดให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสี่ในการบังคับชำระหนี้จากบัญชีเงินฝากของจำเลยที่ 1 หากจำเลยทั้งสี่ไม่ยอมชำระหนี้ให้แก่โจทก์ทั้งสอง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ในฐานะผู้ชำระบัญชีของจำเลยที่ 1 ร่วมกันและแทนกันชดใช้เงินค่าปลูกป่า ค่าบำรุงรักษาป่า และดอกเบี้ยของต้นเงินดังกล่าว ตลอดจนค่าอุปกรณ์ป้องกันไฟป่าและรถยนต์ รวมเป็นเงินทั้งสิ้นจำนวน 20,022,265.12 บาท แก่โจทก์ทั้งสอง หากจำเลยทั้งสี่ไม่ยินยอมให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลเป็นการแสดงเจตนาจำเลยทั้งสี่ในการบังคับชำระหนี้เอาเงินในบัญชีเงินฝากธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) สาขาน่าน ประเภทออมทรัพย์เลขที่ 363-2-008355-5 และบัญชีเงินฝากธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สาขาน่าน ประเภทออมทรัพย์เลขที่ 337-031260-9 ของจำเลยที่ 1 ให้จำเลยทั้งสี่ชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 2,360,930 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ และให้ชำระดอกเบี้ยตามอัตราที่ธนาคารกำหนดในต้นเงินจำนวน 14,209,050.34 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสอง กับให้จำเลยทั้งสี่ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความแทนโจทก์ทั้งสอง
จำเลยทั้งสี่ให้การและแก้ไขคำให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ถึงที่ 4 ในฐานะผู้ชำระบัญชีของจำเลยที่ 1 ร่วมกันและแทนกันชำระเงินจำนวน 18,224,065.12 บาท แก่โจทก์ทั้งสองพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงินจำนวน 562,730 บาท และอัตราดอกเบี้ยประเภทออมทรัพย์ตามที่ธนาคารทหารไทย จำกัด (ที่ถูกจำกัด (มหาชน)) กำหนดของต้นเงินจำนวน 14,209,050.34 บาท นับตั้งแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสอง กับให้จำเลยทั้งสี่ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ทั้งสอง โดยกำหนดค่าทนายความจำนวน 10,000 บาท คำขออื่นอกจากนี้ให้ยก
โจทก์ทั้งสองและจำเลยทั้งสี่อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษายืน ให้จำเลยทั้งสี่ใช้ทนายความชั้นอุทธรณ์ 4,000 บาท แทนโจทก์ทั้งสอง ส่วนค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์นอกนั้นให้เป็นพับ
โจทก์ทั้งสองและจำเลยทั้งสี่ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้ฎีกาโต้แย้งกันรับฟังเป็นยุติว่า เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2516 จำเลยที่ 1 ได้รับสัมปทานทำไม้จากโจทก์ที่ 1 รวม 5 สัมปทาน สัมปทานละ 30 ปี สิ้นสุดการทำสัมปทานวันที่ 31 พฤษภาคม 2546 พร้อมกัน โดยจำเลยที่ 1 มีหน้าที่ต้องปลูกต้นไม้ บำรุงรักษาต้นไม้ที่ปลูกและที่ขึ้นอยู่แล้วในป่าสัมปทาน และบำรุงรักษาป่าสัมปทานด้วยค่าใช้จ่ายของจำเลยที่ 1 ตามวิธีการที่โจทก์ที่ 2 กำหนด จำเลยที่ 1 ตกลงยินยอมนำเงินค่าใช้จ่ายในการดังกล่าวไปเปิดบัญชีเงินฝากออมทรัพย์เลขที่ 363-2-008355-5 ไว้กับธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) สาขาน่าน และนำดอกเบี้ยของเงินค่าใช้จ่ายดังกล่าวไปเปิดบัญชีเงินฝากออมทรัพย์เลขที่ 337-031260-9 ไว้กับธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สาขาน่าน แล้วมอบสมุดคู่ฝากเงินทั้งสองบัญชีให้ป่าไม้จังหวัดน่านเป็นผู้เก็บรักษาไว้ ในการเบิกถอนเงินออกมาใช้จ่ายเพื่อการบำรุงรักษาหรือปลูกสร้างสวนป่า จำเลยที่ 1 จะต้องดำเนินการตามวิธีที่พนักงานเจ้าหน้าที่กำหนด อันเป็นมาตรการในการควบคุมการใช้จ่ายเงินจำนวนดังกล่าวให้รัดกุมยิ่งขึ้น นอกจากนี้ จำเลยที่ 1 ยังมีหน้าที่ต้องดำเนินการป้องกันไฟป่าสำหรับป่าสัมปทาน และป่าที่มีการปลูกและบำรุงรักษาข้างต้นตามวิธีการที่โจทก์ที่ 2 กำหนด โดยจำเลยที่ 1 ต้องเสียค่าใช้จ่ายเอง ตลอดทั้งเครื่องมือ สัมภาระ อุปกรณ์ แรงงานที่เป็นของจำเลยที่ 1 เมื่อสัมปทานสิ้นสุดลงด้วยเหตุใด ๆ ก็ตาม จำเลยที่ 1 ยินยอมยกอุปกรณ์ในการดับไฟทั้งหมดให้เป็นของโจทก์ที่ 2 ทั้งสิ้น ครั้นเมื่อวันที่ 17 มกราคม 2532 โจทก์ที่ 1 มีคำสั่งที่ 32/2532 ให้สัมปทานทำไม้หวงห้ามทุกชนิดสิ้นสุดลงก่อนอายุสัมปทาน ซึ่ง ณ วันที่โจทก์ที่ 1 มีคำสั่งดังกล่าว ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ค้างค่าปลูกป่าและค้างค่าบำรุงรักษาป่าเป็นเงิน 7,919,438.78 บาท หลังจากนั้นวันที่ 29 มิถุนายน 2535 จำเลยที่ 1 จดทะเบียนเลิกบริษัท มีจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 เป็นผู้ชำระบัญชี โดยจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ยังมิได้จดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชีแต่อย่างใด ต่อมาศาลฎีกามีคำพิพากษาที่ 5255/2539 ยกฟ้องในคดีที่จำเลยที่ 1 เป็นโจทก์ฟ้องโจทก์ทั้งสองเป็นจำเลยขอให้ส่งมอบสมุดคู่ฝากเงินทั้งสองบัญชีดังกล่าวคืนให้แก่จำเลยที่ 1 จากการที่สัมปทานทำไม้ได้สิ้นสุดลงแล้ว ป่าไม้เขตแพร่จึงมีหนังสือลงวันที่ 29 ธันวาคม 2540 แจ้งให้จำเลยที่ 1 ดำเนินการปลูกป่าให้ครบถ้วนตามเงื่อนไขสัมปทาน มิฉะนั้นก็ให้ส่งมอบเงินค่าปลูกป่าและบำรุงรักษาป่าที่ค้างดำเนินการพร้อมดอกเบี้ยเงินฝากค่าปลูกป่าและบำรุงรักษาป่าทั้งหมดให้แก่โจทก์ที่ 2 ซึ่งจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ในฐานะผู้ชำระบัญชีต้องส่งมอบเงินค่าปลูกป่าและค่าบำรุงรักษาป่าที่ค้างดำเนินการอยู่เป็นจำนวนเงิน 7,919,438.78 บาท ให้แก่โจทก์ที่ 2 ทั้งนี้ ป่าไม้เขตแพร่มีหนังสือให้จำเลยที่ 1 ส่งมอบเงินจำนวนดังกล่าวภายในวันที่ 15 พฤษภาคม 2541 จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ในฐานะผู้ชำระบัญชีมีหนังสือตอบรับยินยอมที่จะชำระเงินให้แก่โจทก์ที่ 2 นอกจากนี้ป่าไม้เขตแพร่ยังได้มีหนังสือฉบับลงวันที่ 3 มิถุนายน 2541 และวันที่ 17 สิงหาคม 2541 ให้จำเลยที่ 1 ส่งมอบอุปกรณ์ เครื่องมือดับไฟป่า หรือชำระเป็นเงินทดแทนแก่โจทก์ที่ 2 จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ในฐานะผู้ชำระบัญชีมีหนังสือลงวันที่ 28 สิงหาคม 2541 แจ้งว่าจำเลยที่ 1ไม่มีอุปกรณ์ดังกล่าวที่จะส่งมอบให้ แต่ตกลงจะชำระเป็นตัวเงินทดแทนให้เป็นจำนวนเงิน 112,730 บาท โดยยอดเงินตามบัญชีค่าใช้จ่ายค้างชำระในการปลูกป่าและบำรุงรักษาป่าที่จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ในฐานะผู้ชำระบัญชีต้องรับผิดต่อโจทก์ทั้งสอง ณ วันที่ 13 มกราคม 2542 เป็นจำนวนเงิน 14,209,050.34 บาท…
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสี่ว่า จำเลยทั้งสี่ต้องรับผิดชำระราคารถยนต์บรรทุกขนาดกลางจำนวน 5 คัน ที่ใช้ในการป้องกันไฟป่าให้แก่โจทก์ทั้งสองหรือไม่ เห็นว่า คดีนี้ศาลชั้นต้นได้วินิจฉัยว่า การที่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ในฐานะผู้ชำระบัญชีของจำเลยที่ 1 มีหนังสือถึงป่าไม้เขตแพร่ว่ารถยนต์บรรทุกทั้งห้าคันที่จำเลยที่ 1 ยืมมานั้นเป็นของจำเลยที่ 1 เอง กรณีเช่นนี้ถือว่ามิใช่เป็นการยืม แต่เป็นการนำทรัพย์สินของตนเองไปใช้ ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่ารถยนต์บรรทุกทั้งห้าคันซึ่งใช้เป็นอุปกรณ์ป้องกันไฟป่าเป็นของจำเลยที่ 1 เมื่อสัมปทานสิ้นสุดลง จำเลยที่ 1 ก็ต้องส่งมอบให้แก่โจทก์ที่ 2 ในชั้นอุทธรณ์ จำเลยทั้งสี่มิได้ยกข้อนี้โต้แย้งไว้ในอุทธรณ์ แต่ยกข้ออ้างขึ้นใหม่ว่ารถยนต์บรรทุกดังกล่าวไม่ใช่อุปกรณ์ป้องกันไฟป่าซึ่งศาลอุทธรณ์ภาค 5 ไม่รับวินิจฉัย เพราะเป็นอุทธรณ์ที่ไม่ชอบ จำเลยทั้งสี่มิได้ฎีกาโต้แย้งว่าศาลอุทธรณ์ภาค 5 ไม่รับวินิจฉัยนั้นเป็นการไม่ชอบอย่างไร ข้อเท็จจริงจึงยุติไปตามคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นแล้วว่ารถยนต์บรรทุกทั้งห้าคันที่ใช้เป็นอุปกรณ์ป้องกันไฟป่าเป็นของจำเลยที่ 1 ดังนั้น ที่จำเลยทั้งสี่ฎีกาว่ารถยนต์บรรทุกทั้งห้าคันมิใช่เป็นของจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 1 ยืมหรือเช่ามาใช้เป็นการชั่วคราว จึงเป็นข้อที่จำเลยทั้งสี่เพิ่งยกขึ้นในชั้นฎีกา ถือเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค 5 ฎีกาของจำเลยทั้งสี่จึงต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้…
ปัญหาตามฎีกาของโจทก์ทั้งสองในประการสุดท้ายมีว่า ที่ศาลล่างทั้งสองยกคำขอของโจทก์ทั้งสองที่ให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจนาของจำเลยทั้งสี่ในการบังคับชำระหนี้จากบัญชีเงินฝากทั้งสองบัญชีของจำเลยที่ 1 หากจำเลยทั้งสี่ไม่ยอมชำระหนี้แก่โจทก์ทั้งสอง เป็นการชอบด้วยกฎหมายหรือไม่นั้น เห็นว่า ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 213 วรรคสอง ศาลจะสั่งให้ถือเอาตามคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของลูกหนี้ได้ก็เฉพาะกรณีที่วัตถุแห่งหนี้เป็นอันให้กระทำนิติกรรมอย่างใดอย่างหนึ่งเท่านั้น คดีนี้โจทก์ทั้งสองฟ้องบังคับให้จำเลยทั้งสี่ชำระหนี้เงิน ศาลจึงไม่อาจกำหนดให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสี่ได้ ที่ศาลล่างทั้งสองยกคำขอของโจทก์ทั้งสองในส่วนนี้ชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ทั้งสองทุกข้อฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ