คำวินิจฉัยที่ 114/2556

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

คดีที่โจทก์ซึ่งเป็นเอกชนยื่นฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินมีโฉนดและถูกเจ้าหน้าที่
ของรัฐกับหน่วยงานทางปกครองทำการตรวจสอบที่ดินของโจทก์แล้วแจ้งว่าโจทก์ถมดินและ
ขุดบ่อบาดาลรุกล้ำที่สาธารณะ เนื้อที่ประมาณ ๓๒๗ ตารางวา ซึ่งเป็นที่พิพาท จึงมีคำสั่งให้โจทก์
รื้อถอน ปรับปรุง แก้ไขบริเวณที่ดินให้กลับสู่สภาพเดิม ขอให้พิพากษาหรือมีคำสั่งห้ามมิให้จำเลย
รบกวนสิทธิครอบครองที่ดินของโจทก์ จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่มีสิทธิครอบครองที่พิพาท เนื่องจาก
ที่พิพาทอยู่ในแนวเขตลำเหมืองแม่ดอกแดงอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน เห็นว่า แม้คดีมีประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการออกคำสั่งของเจ้าหน้าที่ของรัฐและมีผลกระทบต่อสิทธิ
ของโจทก์ แต่โจทก์ขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งห้ามจำเลยรบกวนสิทธิการครอบครองของโจทก์ เมื่อพิจารณาความมุ่งหมายของโจทก์ในการใช้สิทธิทางศาลก็เพื่อให้ศาลมีคำพิพากษารับรองคุ้มครองสิทธิในที่ดินที่โจทก์กล่าวอ้างว่าตนมีสิทธิเป็นสำคัญ การที่จำเลยทั้งห้าจะปฏิบัติตามคำขอของโจทก์
ได้นั้น ก็จะต้องดำเนินการไปตามข้อเท็จจริงที่รับฟังได้เป็นยุติในการพิจารณาพิพากษาคดีของศาล
ซึ่งจะต้องพิจารณาให้ได้ความก่อนว่า ที่พิพาทเป็นของโจทก์ตามที่กล่าวอ้างหรือเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดิน แล้วจึงจะพิจารณาประเด็นอื่นได้ต่อไป จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๑๑๔/๒๕๕๖

วันที่ ๒๗ กันยายน ๒๕๕๖

เรื่อง คดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน

ศาลจังหวัดเชียงใหม่
ระหว่าง
ศาลปกครองเชียงใหม่

การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลจังหวัดเชียงใหม่โดยสำนักงานศาลยุติธรรมส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องคดีโต้แย้งอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องอำนาจศาลในคดีนั้น

ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๑๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๕ นายอัครินทร์ เฮงสถิตไพศาน โจทก์ ยื่นฟ้อง นายอินทร สกิจกัน ที่ ๑ นายสัมฤทธิ์ สวามิภักดิ์ ที่ ๒ เทศบาลตำบลเชิงดอย ที่ ๓ นายประเสริฐ ยิ้มดี ที่ ๔ นางสาวภัทราพร ลายจุด ที่ ๕ จำเลย ต่อศาลจังหวัดเชียงใหม่ เป็นคดีแพ่งหมายเลขดำที่ พ. ๑๖๕/๒๕๕๕ ความว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ ๑๘๔๒๐ เลขที่ดิน ๒๓๓ ตำบลเชิงดอย อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ เนื้อที่ ๒ ไร่ ๒ งาน ๔๖ ตารางวา ทิศตะวันออกติดกับลำเหมืองแม่ดอกแดง และโจทก์ยังได้รับมอบสิทธิครอบครองที่พิพาทซึ่งติดกับที่ดินตามโฉนดดังกล่าวทางทิศตะวันออกจรดกับลำเหมืองแม่ดอกแดง เนื้อที่ประมาณ ๓๒๗ ตารางวา โดยโจทก์ซื้อและรับโอนการครอบครองมาจากนางสาวชลิกา ชัยมงคล ซึ่งรับโอนที่ดินต่อๆ กันมาหลายทอดจากนายทา สกัญญวงษ์ ผู้ครอบครองคนแรกที่ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินก่อนประมวลกฎหมายที่ดินใช้บังคับ แต่เมื่อวันที่ ๑๙ ตุลาคม ๒๕๕๔ จำเลยที่ ๓ มีหนังสือแจ้งการตรวจสอบการบุกรุกที่ดินสาธารณะ (ลำเหมืองแม่ดอกแดง) พร้อมแนบหนังสือที่ว่าการอำเภอดอยสะเก็ด ที่จำเลยที่ ๒ เป็นผู้ลงนาม โดยแจ้งว่าจำเลยที่ ๑ ขอให้ตรวจสอบกรณีโจทก์รุกล้ำและถมที่ดินปิดทับทางสาธารณะเลียบลำเหมืองแม่ดอกแดง เป็นเหตุให้ได้รับความเดือดร้อนเนื่องจากไม่มีเส้นทางใช้ในการสัญจร จำเลยที่ ๒ ได้แต่งตั้งกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง โดยสำนักงานที่ดินจังหวัดเชียงใหม่มอบให้จำเลยที่ ๔ ออกไปรังวัดตรวจสอบแนวเขตและเขียนแผนที่แนวเขตลำเหมืองแม่ดอกแดง ปรากฏว่าที่ดินบริเวณดังกล่าวมีการถมดินและขุดบ่อบาดาลระยะทางประมาณ ๓๕ เมตร จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ จึงมีคำสั่งให้โจทก์รื้อถอน ปรับปรุง แก้ไขบริเวณที่ดินให้กลับสู่สภาพเดิมและให้ประชาชนใช้เป็นเส้นทางสัญจรไปมา โจทก์ยื่นอุทธรณ์โต้แย้งคำสั่งดังกล่าว แต่จำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๕ ยืนยันว่าที่บริเวณดังกล่าวเป็นที่สาธารณประโยชน์ การกระทำของจำเลยทั้งห้าเป็นการรบกวนสิทธิครอบครองที่ดินของโจทก์ ขอให้ศาลพิพากษาหรือมีคำสั่งห้ามมิให้จำเลยทั้งห้ารบกวนสิทธิครอบครองที่ดินของโจทก์
ศาลจังหวัดเชียงใหม่อนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องจำเลยที่ ๑
จำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๕ ให้การว่า โจทก์ไม่มีสิทธิครอบครองที่พิพาท และไม่สามารถอ้างการครอบครองต่อจากเจ้าของเดิม เนื่องจากนางลำจวน ชัยมงคล เจ้าของที่ดินเดิมไม่ประสงค์จะครอบครองที่พิพาทดังกล่าว ซึ่งอยู่ในแนวเขตลำเหมืองแม่ดอกแดง จำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๕ กระทำไปตามอำนาจหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดโดยชอบด้วยกฎหมาย และเดิมที่พิพาทใช้เป็นเส้นทางสัญจร จึงเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๕ ยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า คดีอยู่ในเขตอำนาจของศาลปกครอง
ศาลจังหวัดเชียงใหม่พิจารณาแล้วเห็นว่า แม้ตามคำฟ้องจะมีลักษณะข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๕ ออกคำสั่งทางปกครองโดยไม่ชอบ แต่ในการวินิจฉัยว่าคำสั่งนั้นชอบหรือไม่ จำต้องวินิจฉัยก่อนว่า ที่พิพาทอยู่ในเขตลำเหมืองแม่ดอกแดงอันเป็นที่สาธารณประโยชน์หรือเป็นที่ดินที่โจทก์มีสิทธิครอบครองโดยชอบ คดีจึงมีประเด็นโดยตรงเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินซึ่งต้องพิจารณาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์และประมวลกฎหมายที่ดิน ประกอบกับพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ มิได้กำหนดให้ศาลปกครองมีอำนาจในการพิจารณาพิพากษาคดีเกี่ยวกับสิทธิในทรัพย์สิน คดีจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม ตามนัยคำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลที่ ๑๓/๒๕๕๐
ศาลปกครองเชียงใหม่พิจารณาแล้วเห็นว่า โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ สืบเนื่องจากการใช้อำนาจของจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ซึ่งโจทก์เห็นว่าเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายและมีผลกระทบต่อสิทธิของโจทก์ จึงเป็นคำสั่งทางปกครองตามมาตรา ๕ แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙ และการที่โจทก์มาฟ้องขอให้ห้ามจำเลยรบกวนสิทธิการครอบครองถือเป็นการฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งที่ให้โจทก์รื้อถอน ปรับปรุง แก้ไข บริเวณที่มีการถมดินและขุดบ่อในที่พิพาท จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐออกคำสั่งโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ส่วนการแก้ไขหรือบรรเทาความเดือดร้อนเสียหายหรือยุติข้อโต้แย้งนั้น ศาลปกครองมีอำนาจกำหนดคำบังคับโดยสั่งเพิกถอนคำสั่งดังกล่าวได้ตามมาตรา ๗๒ วรรคหนึ่ง (๑) แห่งพระราชบัญญัติเดียวกัน แม้ว่าการที่ศาลจะพิพากษาเพิกถอนคำสั่งของจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ได้ ศาลต้องพิจารณาปัญหาว่าที่พิพาทเป็นของโจทก์ตามที่กล่าวอ้างหรือเป็นแนวเขตลำเหมืองแม่ดอกแดงเพื่อนำไปสู่ประเด็นข้อพิพาทว่าคำสั่งของจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ แต่โดยที่กรณีเป็นการโต้แย้งเกี่ยวกับที่ดินระหว่างรัฐกับเอกชน มิใช่ระหว่างเอกชนกับเอกชน จึงไม่เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน เนื่องจากโดยหลักแล้วหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐไม่ใช่ผู้ทรงกรรมสิทธิ์หรือทรงสิทธิครอบครองที่สาธารณประโยชน์ นอกจากนั้นการดูแลรักษาที่สาธารณประโยชน์ หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐจำเป็นต้องใช้อำนาจตามกฎหมายของรัฐที่มีอยู่เหนือเอกชน ซึ่งต่างจากการที่เอกชนอ้างกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองเพื่อจัดการที่ดินของตน จึงเป็นคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้โจทก์ซึ่งเป็นเอกชนยื่นฟ้องเจ้าหน้าที่ของรัฐว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินมีโฉนดและมีสิทธิครอบครองที่พิพาทซึ่งจรดลำเหมืองแม่ดอกแดง เนื้อที่ประมาณ ๓๒๗ ตารางวา โดยซื้อจากนางสาวชลิกา ชัยมงคล ซึ่งรับโอนต่อๆ กันมาจากผู้ครอบครองคนแรกที่ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินมาก่อนประมวลกฎหมายที่ดินใช้บังคับ ต่อมาจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ มีหนังสือแจ้งโจทก์ว่า จำเลยที่ ๑ ขอให้ตรวจสอบกรณีโจทก์รุกล้ำถมดินปิดทับทางสาธารณะเลียบลำเหมืองแม่ดอกแดงอันเป็นที่ดินสาธารณะซึ่งประชาชนใช้ร่วมกัน ทำให้ไม่มีเส้นทางใช้ในการสัญจร จำเลยที่ ๒ และสำนักงานที่ดินจังหวัดเชียงใหม่ มอบให้จำเลยที่ ๔ ตรวจสอบข้อเท็จจริงปรากฏว่ามีการถมดินและขุดบ่อบาดาลในแนวเขตลำเหมืองแม่ดอกแดง จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ จึงมีคำสั่งให้โจทก์รื้อถอน ปรับปรุง แก้ไขบริเวณที่ดินให้กลับสู่สภาพเดิม โจทก์ยื่นอุทธรณ์โต้แย้งคำสั่งดังกล่าว แต่จำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๕ ยืนยันว่าที่บริเวณดังกล่าวเป็นที่สาธารณะ ขอให้ศาลพิพากษาหรือมีคำสั่งห้ามมิให้จำเลยทั้งห้ารบกวนสิทธิครอบครองที่ดินของโจทก์ จำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๕ ให้การว่า โจทก์ไม่มีสิทธิครอบครองที่พิพาท เนื่องจากที่พิพาทอยู่ในแนวเขตลำเหมืองแม่ดอกแดงอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน เห็นว่า แม้คดีมีประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการออกคำสั่งของเจ้าหน้าที่ของรัฐและมีผลกระทบต่อสิทธิของโจทก์ แต่โจทก์ขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งห้ามจำเลยทั้งห้ารบกวนสิทธิการครอบครองของโจทก์ เมื่อพิจารณาความมุ่งหมายของโจทก์ในการใช้สิทธิทางศาลก็เพื่อให้ศาลมีคำพิพากษารับรองคุ้มครองสิทธิในที่ดินที่โจทก์กล่าวอ้างว่าตนมีสิทธิเป็นสำคัญ การที่จำเลยทั้งห้าจะปฏิบัติตามคำขอของโจทก์ได้นั้น ก็จะต้องดำเนินการไปตามข้อเท็จจริงที่รับฟังได้เป็นยุติในการพิจารณาพิพากษาคดีของศาล ซึ่งจะต้องพิจารณาให้ได้ความก่อนว่า ที่พิพาทเป็นของโจทก์ตามที่กล่าวอ้างหรือเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดิน แล้วจึงจะพิจารณาประเด็นอื่นได้ต่อไป จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่างนายอัครินทร์ เฮงสถิตไพศาน โจทก์ นายอินทร สกิจกัน ที่ ๑ นายสัมฤทธิ์ สวามิภักดิ์ ที่ ๒ เทศบาลตำบลเชิงดอย ที่ ๓ นายประเสริฐ ยิ้มดี ที่ ๔ นางสาวภัทราพร ลายจุด ที่ ๕ อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) ไพโรจน์ วายุภาพ (ลงชื่อ) สุวัฒน์ วรรธนะหทัย
(นายไพโรจน์ วายุภาพ) (นายสุวัฒน์ วรรธนะหทัย)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) หัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายหัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล) (นายจรัญ หัตถกรรม)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) พลโท สุขสันต์ สิงหเดช (ลงชื่อ) พลตรี พัฒนพงษ์ เกิดอุดม
(สุขสันต์ สิงหเดช) (พัฒนพงษ์ เกิดอุดม)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

Share