คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1948/2520

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เดิมโจทก์ฟ้องจำเลยเป็นคดีอาญาในข้อหาแจ้งความเท็จ ทำให้เสื่อมเสียอิสรภาพ ฟ้องเท็จ และเบิกความเท็จ ศาลไต่สวนมูลฟ้องแล้วพิพากษายกฟ้อง คดีถึงที่สุดโจทก์จึงมาฟ้องจำเลยเป็นคดีแพ่งเรียกค่าเสียหายฐานละเมิดที่จำเลยไปแจ้งความเท็จ ทำให้เสื่อมเสียอิสรภาพ ฟ้องเท็จ และเบิกความเท็จ ดังนี้ ในการพิพากษาคดีส่วนแพ่งศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฎในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาในชั้นไต่สวนมูลฟ้องซึ่งถึงที่สุดแล้ว
ทุนทรัพย์ที่จะอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงได้หรือไม่นั้น ต้องถือทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในศาลชั้นต้น

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ ๑ เป็นนิติบุคคล โดยจำเลยที่ เป็นกรรมการผู้จัดการ และจำเลยที่ ๓ ได้ร่วมกันอ้างและแกล้งกล่าวหาโจทก์ต่อเจ้าพนักงานตำรวจและพนักงานสอบสวนให้จับกุมโจทก์ในข้อหาว่า ทำให้เสียทรัพย์ โดยบังอาจตัดเหล็กครอบเครื่องปรับอากาศ และได้ไปร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีกับโจทก์ จำเลยทั้งสามได้นำเจ้าพนักงานตำรวจมาจับกุมตัวโจทก์ควบคุมใส่กุญแจมือ และนำไปกักขังไว้ที่สถานีตำรวจ ต่อมาผู้ว่าคดีได้ฟ้องโจทก์ในข้อหาทำให้เสียทรัพย์ จำเลยที่ ๒ ขอเข้าเป็นโจทก์ร่วม จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ที่๓ เบิกความหมิ่นประมาทและกระทำละเมิดต่อโจทก์ โดยเบิกความว่าเห็นโจทก์ตัดเหล็กครอบเครื่องปรับอากาศที่ติดไว้กับตัวตึกแถวของจำเลยไป ศาลแขวงพระนครใต้พิพากษายกฟ้อง คดีถึงที่สุด ปรากฎตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ ๖๙๒๕/๒๕๑๖ ขอให้จำเลยร่วมกันใช้ค่าเสียหายรวม ๔๐,๔๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยให้โจทก์
จำเลยทั้งสามให้การว่า โจทก์รับจ้างทำงานเกี่ยวกับการก่อสร้างอาคารของนางสุพรรณีหลังที่ดินและตึกของจำเลยที่ ๒ เหล็กครอบเครื่องปรับอากาศของจำเลยถูกตัด จำเลยที่ ๒ เชื่อโดยสุจริตใจว่าโจทก์เป็นผู้ตัด จึงแจ้งความและนำตำรวจมาและชี้ตัวให้จับโจทก์ไปสอบสวนดำเนินคดี ชั้นพิจารณาจำเลยที่ ๒ ที่ ๓ เบิกความไปโดยสุจริต การที่โจทก์ถูกจับกุมและฟ้องร้องเป็นการใช้ดุลพินิจของพนักงานสอบสวนและผู้ว่าคดีเอง ไม่เป็นการหมิ่นประมาทหรือละเมิด ที่ศาลพิพากษายกฟ้องเพราะพยานโจทก์ไม่มั่นคง และโจทก์ก็ได้ฟ้องจำเลยข้อหาแจ้งความเท็จและเบิกความเท็จ ศาลอาญาพิพากษายกฟ้องแล้ว โจทก์ไม่เสียหาย ความเสียหายมิได้เกิดจากจำเลย
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ ๒ ที่ ๓ ร่วมกันใช้ค่าเสียหาย ๑๐,๓๐๐ บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยให้โจทก์ ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ ๑
จำเลยที่ ๒ ที่ ๓ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ให้ยกฟ้องโจทก์ที่เกี่ยวกับจำเลยที่ ๒ ที่ ๓ ด้วย นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาว่าในการพิพากษาคดีส่วนแพ่งศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฎในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาในชั้นไต่สวนมูลฟ้องซึ่งถึงที่สุดแล้วหรือไม่นั้น ศาลฎีกาเห็นว่า โจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลยฐานละเมิดที่จำเลยไปแจ้งความเท็จ ทำให้เสื่อมอิสรภาพ ฟ้องเท็จ และเบิกความเท็จ ปรากฏว่าจำเลยถูกฟ้องคดีอาญาในข้อหาเหล่านี้มาแล้ว ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ในคดีอาญาเดิมที่จำเลยที่ ๒ เป็นผู้เสียหายและเป็นโจทก์ร่วมกับผู้ว่าคดีศาลแขวงพระนครใต้ ซึ่งโจทก์คดีนี้เป็นจำเลยในข้อหาทำให้เสียทรัพย์นั้น ศาลฟังข้อเท็จจริงว่าพยานหลักฐานของผู้ว่าคดีโจทก์ไม่มั่นคง ผู้เสียหายกับจำเลย (โจทก์คดีนี้) เบิกความยันคำกัน ไม่พอฟังลงโทษจำเลย (โจทก์คดีนี้) ได้ พิพากษายกฟ้องโจทก์ ถือว่าศาลมิได้ชี้ขาดว่าจำเลย (โจทก์คดีนี้) เป็นคนตัดเหล็กครอบเครื่องปรับอากาศหรือไม่ เมื่อโจทก์นำคดีมาฟ้องทางอาญาหาว่าจำเลยแจ้งความเท็จทำให้เสื่อมเสียอิสรภาพ ฟ้องเท็จและเบิกความเท็จศาลจึงฟังข้อเท็จจริงในคดีอาญาเดิมดังกล่าวว่าเมื่อไม่แน่ว่าโจทก์กระทำผิดฐานทำให้เสียทรัพย์หรือไม่ เพราะหลักฐานไม่มั่นคง ฉะนั้น จึงถือไม่ได้ว่าการที่จำเลยไปดำเนินคดีกับโจทก์คดีแรกเป็นการแจ้งความเท็จ ฟ้องเท็จ และเบิกความเท็จหรือกลั่นแกล้งทำให้เสื่อมอิสรภาพ ศาลฎีกาเห็นว่า คดีอาญาดังกล่าวแม้จะเป็นการวินิจฉัยในชั้นไต่สวนมูลฟ้องก็ตาม แต่คดีถึงที่สุดแล้ว จึงถือได้ว่าเป็นการวินิจฉัยฟังข้อเท็จจริงทางอาญา อันเป็นประเด็นเกี่ยวข้องโดยตรงกับที่โจทก์ฟ้องคดีนี้แล้วว่า จำเลยไม่ได้กระทำผิด ฉะนั้น ในการพิพากษาคดีนี้ ศาลจึงจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฎในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาดังกล่าวว่าจำเลยมิได้กระทำละเมิดต่อโจทก์ด้วย ส่วนที่โจทก์ฎีกาว่าคดีของจำเลยที่ ๒ ที่ ๓ ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์นั้น เห็นว่าทุนทรัพย์ที่จะอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงได้หรือไม่นั้น ต้องถือทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในศาลชั้นต้น คดีนี้โจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหาย ๔๐,๔๐๐ บาท จึงเป็นคดีมีทุนทรัพย์เกินสองหมื่นบาท แม้นทุนทรัพย์ในชั้นอุทธรณ์จะลดลงไม่ถึงสองหมื่นบาทคดีก็ไม่ต้องห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง
พิพากษายืน

Share