คำวินิจฉัยที่ 156/2556

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

คดีที่องค์การคลังสินค้าซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองยื่นฟ้องจำเลยทั้งสองซึ่งเป็นเอกชนให้รับผิดชำระเงินตามสัญญาซื้อขายข้าวเปลือกหอมมะลิ เมื่อข้อเท็จจริงตามคำฟ้องและคำให้การคดีนี้ปรากฏโดยชัดแจ้งว่า สัญญาซื้อขายข้าวเปลือกหอมมะลิที่พิพาท เป็นสัญญาที่จัดทำขึ้นสืบเนื่องมาจากโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต ๒๕๔๘/๔๙ ซึ่งเดิมโจทก์และจำเลยที่ ๑ ได้ทำสัญญาฝากเก็บ แปรสภาพ และจัดจำหน่ายข้าวตามโครงการดังกล่าว โดยโจทก์ฝากเก็บข้าวเปลือกไว้กับจำเลยที่ ๑ และจำเลยที่ ๑ ในคดีนี้ได้ยื่นฟ้องโจทก์ต่อศาลปกครองกลาง ให้รับผิดตามสัญญาฝากเก็บฯ จนกระทั่งศาลปกครองกลางพิพากษาแล้ว ขณะนี้คดีดังกล่าวอยู่ระหว่างพิจารณาของศาลปกครองสูงสุด ประกอบกับจำเลยที่ ๑ ให้การว่า สัญญาซื้อขายข้าวเปลือกฉบับพิพาทเป็นนิติกรรมอำพรางการฝากขายข้าวเปลือกเสื่อมราคาที่เกิดขึ้นจากการดำเนินการตามสัญญาฝากเก็บฯ โดยไม่ได้มีการซื้อขายกันจริง ข้อพิพาทในคดีนี้จึงเป็นข้อพิพาทที่มีความเกี่ยวพันกับคดีพิพาทระหว่างโจทก์และจำเลยที่ ๑ เกี่ยวกับสัญญาฝากเก็บ แปรสภาพ และจัดจำหน่ายข้าว จึงชอบที่จะพิจารณาพิพากษาในศาลเดียวกัน ส่วนคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาค้ำประกันระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๒ ซึ่งเป็นสัญญาอุปกรณ์ เมื่อข้อพิพาทเกี่ยวกับสัญญาหลักอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองแล้ว ข้อพิพาทเกี่ยวกับสัญญาอุปกรณ์จึงชอบที่จะพิจารณาพิพากษาในศาลปกครองเช่นเดียวกัน

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๑๕๖/๒๕๕๖

วันที่ ๒๗ ธันวาคม ๒๕๕๖

เรื่อง เขตอำนาจศาลเกี่ยวกับพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔)

ศาลจังหวัดร้อยเอ็ด
ระหว่าง
ศาลปกครองกลาง

การยื่นเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลจังหวัดร้อยเอ็ดส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องคดีโต้แย้งอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องอำนาจศาลในคดีนั้น

ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๒๙ กรกฎาคม ๒๕๕๔ องค์การคลังสินค้า โจทก์ ยื่นฟ้องบริษัทโรงสีข้าวหอมมะลิทุ่งกุลา จำกัด ที่ ๑ บริษัทธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ที่ ๒ จำเลย ต่อศาลจังหวัดร้อยเอ็ด เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๒๕๒๘/๒๕๕๔ ความว่า เมื่อวันที่ ๑๑ สิงหาคม ๒๕๔๙ และวันที่ ๑๘ มกราคม ๒๕๕๐ โจทก์และจำเลยที่ ๑ ตกลงทำสัญญาซื้อขายข้าวเปลือกหอมมะลิตามโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต ๒๕๔๘/๔๙ รวม ๒ ฉบับโดยมีสาระสำคัญให้จำเลยที่ ๑ รับมอบข้าวเปลือกหอมมะลิที่ตกลงซื้อขายทั้งหมดตามสภาพที่เป็นอยู่ ณ โรงสีของจำเลยที่ ๑ ที่โจทก์ฝากเก็บไว้แล้วตามสัญญาฝากเก็บ แปรสภาพและจัดจำหน่ายข้าวระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๑ ลงวันที่ ๑ พฤศจิกายน ๒๕๔๘ และจำเลยที่ ๑ มีหน้าที่ชำระเงินและรับมอบข้าวเปลือกให้ได้ปริมาณตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ รวมถึงขนย้ายข้าวเปลือกที่ตกลงซื้อขายทั้งหมดภายในระยะเวลาที่กำหนดไว้ตามสัญญา โดยมีจำเลยที่ ๒ ทำสัญญาค้ำประกันเพื่อเป็นหลักประกันการปฏิบัติตามสัญญาซื้อขายข้าวเปลือกของจำเลยที่ ๑ ตามสัญญาซื้อขาย ลงวันที่ ๑๘ มกราคม ๒๕๕๐ ต่อมาจำเลยที่ ๑ ได้รับมอบและขนย้ายข้าวเปลือกและชำระเงินค่าข้าวเปลือกให้โจทก์หลายครั้ง แต่ยังไม่ครบถ้วนตามสัญญา ทำให้มียอดค้างชำระค่าปรับจากการรับมอบและขนย้ายข้าวเปลือกไม่แล้วเสร็จภายในระยะเวลาที่กำหนดไว้ เมื่อโจทก์นำเงินที่ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาในคดีหมายเลขแดงที่ ๖๓๓/๒๕๕๔ ที่จำเลยที่ ๑ (ผู้ฟ้องคดี) ยื่นฟ้องโจทก์ (ผู้ถูกฟ้องคดี) ที่พิพากษาให้โจทก์ (ผู้ถูกฟ้องคดี) ชำระเงินค่าบำเหน็จ ค่าฝากเก็บข้าวเปลือกและค่ารักษาคุณภาพข้าวเปลือกตามสัญญาฝากเก็บแปรสภาพและจัดจำหน่ายข้าวระหว่างโจทก์และจำเลยที่ ๑ มาหักกลบลบหนี้กับหนี้ค่าปรับของจำเลยที่ ๑ คงเหลือค่าปรับที่จำเลยที่ ๑ ต้องชำระตามสัญญาทั้งสองฉบับดังกล่าวเป็นเงิน ๑๗๙,๓๙๐,๗๔๖.๑๖ บาท และต้องชำระดอกเบี้ยเป็นเงิน ๙,๗๖๖,๔๓๘.๕๓ บาท ส่วนจำเลยที่ ๒ ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ ๑ ตามสัญญาค้ำประกันพร้อมดอกเบี้ยเป็นเงิน ๓,๔๖๑,๒๑๕.๘๒ บาท ขอให้บังคับจำเลยที่ ๑ ชำระเงิน ๒๘๖,๑๕๗,๑๘๖.๔๑ บาท พร้อมดอกเบี้ย และให้จำเลยที่ ๒ ชำระเงิน ๓,๔๖๑,๒๑๕.๘๒ บาท พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยที่ ๑ ให้การว่า สัญญาซื้อขายข้าวเปลือกทั้งสองฉบับเป็นนิติกรรมอำพรางการฝากขายข้าวเปลือกเสื่อมราคาโดยไม่ได้มีการซื้อขายกันจริง ทั้งนี้สืบเนื่องจากจำเลยที่ ๑ เข้าร่วมโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต ๒๕๔๘/๔๙ โดยโจทก์ฝากเก็บข้าวเปลือกตามโครงการดังกล่าวไว้ในคลังสินค้าของจำเลยที่ ๑ ตามสัญญาฝากเก็บ แปรสภาพ และจัดจำหน่ายข้าวระหว่างโจทก์และจำเลยที่ ๑ ลงวันที่ ๑ พฤศจิกายน ๒๕๔๘ ในการดำเนินการตามสัญญาดังกล่าว โจทก์มีคำสั่งให้จำเลยที่ ๑ แปรสภาพข้าวเปลือกเป็นข้าวสารหลายครั้ง แต่โจทก์รับมอบข้าวสารไว้เพียงบางส่วน ส่วนข้าวสารที่ส่งมอบไม่ได้ก็จะนำมาเก็บไว้ที่คลังสินค้าของจำเลยที่ ๑ ทำให้จำนวนข้าวเปลือกที่รับจำนำของโจทก์ไม่ตรงกับความจริง โจทก์จึงให้จำเลยที่ ๑ ทำสัญญาซื้อขายทั้งสองฉบับเพื่อให้โจทก์ตัดจำนวนข้าวเปลือกออกจากบัญชีกลางของโจทก์ ซึ่งจำเลยที่ ๑ ได้ช่วยเหลือจำหน่ายข้าวสารและข้าวเปลือกเสื่อมคุณภาพตามสัญญาทั้งสองฉบับดังกล่าวแล้ว โจทก์จึงไม่มีสิทธินำสัญญาซื้อขายดังกล่าวมาฟ้องบังคับให้จำเลยที่ ๑ รับผิด แต่หากบังคับได้สัญญาดังกล่าวก็เป็นสัญญาที่ไม่เป็นธรรม โจทก์ไม่เคยส่งมอบข้าวเปลือกให้แก่จำเลยที่ ๑ เนื่องจากโจทก์ไม่มีข้าวเปลือกในคลังสินค้าของจำเลยที่ ๑ ในขณะทำสัญญาซื้อขาย นอกจากนี้โจทก์ไม่อาจนำเงินที่ศาลปกครองกลางพิพากษาให้โจทก์ชำระเงินให้แก่จำเลยที่ ๑ ไปหักกลบลบหนี้กับค่าปรับตามสัญญาซื้อขายทั้งสองฉบับได้ เนื่องจากค่าปรับดังกล่าวยังเป็นหนี้ที่มีข้อต่อสู้กันอยู่ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ ๒ ให้การว่า จำเลยที่ ๑ ไม่ได้ผิดสัญญาซื้อขายข้าวเปลือก ลงวันที่ ๑๘ มกราคม ๒๕๕๐ จำเลยที่ ๒ ในฐานะผู้ค้ำประกันจึงไม่ต้องรับผิด เนื่องจากความเสียหายที่เกิดขึ้นเกิดจากการที่โจทก์สั่งให้จำเลยที่ ๑ แปรสภาพข้าวเปลือกเป็นข้าวสารซึ่งเป็นความเสียหายคนละส่วน ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ ๑ ยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่าคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาซื้อขายข้าวเปลือกซึ่งเป็นสัญญาพิพาทในคดีนี้เป็นคดีที่สืบเนื่องจากการดำเนินการตามโครงการจำนำข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต ๒๕๔๘/๔๙ ซึ่งเป็นสัญญาทางปกครอง และข้อกำหนดในสัญญาซื้อขายทั้งสองฉบับมีลักษณะเป็นคำสั่งทางปกครอง ประกอบกับคดีนี้มีประเด็นเกี่ยวเนื่องกับคดีที่จำเลยที่ ๒ ฟ้องโจทก์ต่อศาลปกครองกลาง หมายเลขแดงที่ ๖๓๙/๒๕๕๔ ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลปกครองสูงสุด คดีนี้จึงอยู่ในเขตอำนาจศาลปกครอง
ศาลจังหวัดร้อยเอ็ดพิจารณาแล้วเห็นว่า แม้สัญญาซื้อขายข้าวเปลือกที่พิพาทจะมีความเกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงและมีที่มาจากสัญญาฝากเก็บ แปรสภาพ และจัดจำหน่ายข้าวระหว่างโจทก์และจำเลยที่ ๑ ที่ทำขึ้นเนื่องจากโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต ๒๕๔๘/๔๙ ซึ่งมีลักษณะเป็นสัญญาทางปกครองประเภทหนึ่ง รวมทั้งข้าวเปลือกที่ซื้อขายกันก็เป็นส่วนหนึ่งของข้าวเปลือกที่โจทก์รับจำนำจากเกษตรกรและฝากเก็บไว้ในคลังสินค้าของจำเลยที่ ๑ ก็ตาม แต่สัญญาซื้อขายข้าวเปลือกฉบับพิพาทมีวัตถุประสงค์แห่งสัญญาเพื่อการขายข้าวเปลือกที่ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์แล้ว เนื่องจากเกษตรกรผู้ที่นำข้าวเปลือกดังกล่าวมาจำนำไว้กับโจทก์ไม่สามารถนำเงินมาชำระเพื่อไถ่ถอนข้าวเปลือก ซึ่งมีวัตถุประสงค์แตกต่างจากสัญญาฝากเก็บ แปรสภาพ และจัดจำหน่ายข้าว ซึ่งเป็นขั้นตอนหนึ่งของมาตรการรับจำนำข้าวเปลือกจากเกษตรกรอันเป็นบริการสาธารณะ และมิได้มีวัตถุประสงค์แห่งสัญญาเพื่อมอบหมายให้จำเลยที่ ๑ ในฐานะเอกชนคู่สัญญาดำเนินกิจการทางปกครองในการพยุงรักษาระดับข้าวเปลือกมิให้ตกต่ำลงเพื่อเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรแทนฝ่ายปกครองคู่สัญญาแต่อย่างใด นอกจากนี้สัญญาดังกล่าวก็ไม่มีข้อสัญญาใดที่กำหนดให้อำนาจพิเศษแก่ฝ่ายปกครองคู่สัญญาให้อยู่ในฐานะที่เหนือกว่าเอกชนคู่สัญญาอย่างชัดแจ้ง โดยมีความมุ่งหมายที่จะให้การจัดทำหรือดำเนินบริการสาธารณะบรรลุผล และความสัมพันธ์ระหว่างคู่สัญญาก็เป็นเพียงความสัมพันธ์ในระบบกฎหมายแพ่งเท่านั้น และไม่เข้าลักษณะเป็นสัญญาทางปกครองตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ข้อพิพาทคดีนี้จึงไม่ใช่คดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง แต่เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางแพ่งที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองกลางพิจารณาแล้วเห็นว่า มูลคดีนี้สืบเนื่องจากการที่โจทก์ได้ฝากเก็บข้าวเปลือกตามโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต ๒๕๔๘/๔๙ ไว้ในคลังสินค้าของจำเลยที่ ๑ ตามสัญญาฝากเก็บ แปรสภาพ และจัดจำหน่ายข้าว ลงวันที่ ๑ พฤศจิกายน ๒๕๔๘ ซึ่งจำเลยที่ ๑ ดำเนินการแปรสภาพข้าวเปลือกและส่งมอบข้าวสารให้แก่โจทก์แล้วบางส่วน แต่โจทก์ตรวจรับข้าวสารที่จำเลยที่ ๑ ส่งมอบมานั้นเพียงบางส่วน ส่วนข้าวเปลือกที่เหลือที่ยังไม่ถูกแปรสภาพ โจทก์ขายให้จำเลยที่ ๑ ตามสัญญาซื้อขาย ลงวันที่ ๑๑ สิงหาคม ๒๕๔๙ สำหรับข้าวสารที่ไม่ผ่านการตรวจรับ โจทก์และจำเลยที่ ๑ ได้ทำสัญญาซื้อขายลงวันที่ ๑๘ มกราคม ๒๕๕๐ จึงเห็นได้ว่าสัญญาซื้อขายข้าวเปลือกหอมมะลิระหว่างโจทก์และจำเลยที่ ๑ ในคดีนี้เป็นขั้นตอนที่ต่อเนื่องจากการดำเนินการตามสัญญาฝากเก็บ แปรสภาพ และจัดจำหน่ายข้าวในโครงการรับจำนำข้าวเปลือกฯ ซึ่งมีลักษณะให้จำเลยที่ ๑ เข้าร่วมดำเนินการจัดทำบริการสาธารณะด้านเกษตรกรรมและพาณิชยกรรมกับโจทก์ตามโครงการดังกล่าว ซึ่งทำให้การส่งเสริมการผลิตสินค้าเกษตรโดยการพยุงราคาข้าวตามอำนาจหน้าที่ของโจทก์บรรลุผล สัญญาซื้อขายข้าวเปลือกหอมมะลิระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๑ จึงเป็นสัญญาทางปกครอง ข้อโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิและหน้าที่ของคู่สัญญาตามสัญญาซื้อขายข้าวเปลือกหอมมะลิในคดีนี้จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครองที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔) แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว ส่วนสัญญาค้ำประกันที่จำเลยที่ ๒ ทำกับโจทก์นั้นเป็นสัญญาอุปกรณ์ของสัญญาซื้อขายข้าวเปลือกหอมมะลิซึ่งเป็นสัญญาประธาน เมื่อข้อพิพาทเกี่ยวกับสัญญาประธานซึ่งเป็นสัญญาทางปกครองอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ข้อพิพาทเกี่ยวกับสัญญาค้ำประกันของจำเลยที่ ๒ จึงเป็นสัญญาอุปกรณ์ที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองด้วย ประกอบกับจำเลยที่ ๑ ในคดีนี้ได้ยื่นฟ้องโจทก์ต่อศาลปกครองกลางเป็นคดีหมายเลขดำที่ ๒๒๖/๒๕๕๐ ให้รับผิดตามสัญญาฝากเก็บ แปรสภาพ และจัดจำหน่ายข้าว โดยศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาให้โจทก์ชำระค่าบำเหน็จ ค่าฝากเก็บข้าวเปลือกและค่ารักษาคุณภาพข้าวเปลือกพร้อมดอกเบี้ยแก่จำเลยที่ ๑ ซึ่งโจทก์ได้นำเงินที่ศาลปกครองกลางพิพากษาให้โจทก์ชำระเงินให้แก่จำเลยที่ ๑ ดังกล่าวมาหักกลบลบหนี้กับหนี้ค่าปรับตามสัญญาซื้อขายข้าวเปลือกหอมมะลิที่พิพาทกันในคดีนี้ด้วย และนำคดีมาฟ้องให้จำเลยที่ ๑ ชำระค่าข้าวเปลือกและค่าปรับคงเหลือตามสัญญาซื้อขายดังกล่าว โดยคดีที่ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลปกครองสูงสุด หากศาลปกครองสูงสุดพิพากษาเป็นประการใดย่อมส่งผลถึงความรับผิดของจำเลยที่ ๑ ในคดีนี้อย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ดังนั้นคดีพิพาทระหว่างโจทก์และจำเลยที่ ๑ เกี่ยวกับสัญญาซื้อขายข้าวเปลือกหอมมะลิในคดีนี้จึงควรได้รับการพิจารณาในศาลเดียวกันคือ ศาลปกครอง

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้ โจทก์ซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองยื่นฟ้องจำเลยทั้งสองซึ่งเป็นเอกชน ขอให้บังคับจำเลยที่ ๑ ชำระค่าปรับจากการรับมอบและขนย้ายข้าวเปลือกไม่แล้วเสร็จภายในระยะเวลาที่กำหนดในสัญญาซื้อขายข้าวเปลือกหอมมะลิตามโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต ๒๕๔๘/๔๙ กับให้จำเลยที่ ๒ ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ ๑ ตามสัญญาค้ำประกันพร้อมดอกเบี้ย อันเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาซื้อขายข้าวเปลือกหอมมะลิตามโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต ๒๕๔๘/๔๙ เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงตามคำฟ้องและคำให้การคดีนี้ปรากฏโดยชัดแจ้งว่า สัญญาซื้อขายข้าวเปลือกหอมมะลิระหว่างโจทก์และจำเลยที่ ๑ เป็นสัญญาที่จัดทำขึ้นสืบเนื่องมาจากโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต ๒๕๔๘/๔๙ ซึ่งเดิมโจทก์และจำเลยที่ ๑ ได้ทำสัญญาฝากเก็บ แปรสภาพ และจัดจำหน่ายข้าวตามโครงการดังกล่าว โดยโจทก์ฝากเก็บข้าวเปลือกไว้ในคลังสินค้าของจำเลยที่ ๑ และจำเลยที่ ๑ ในคดีนี้ได้ยื่นฟ้องโจทก์ต่อศาลปกครองกลาง ให้รับผิดตามสัญญาฝากเก็บ แปรสภาพ และจัดจำหน่ายข้าวดังกล่าว จนกระทั่งศาลปกครองกลางพิพากษาให้โจทก์ชำระค่าบำเหน็จ ค่าฝากเก็บข้าวเปลือกและค่ารักษาคุณภาพข้าวเปลือกพร้อมดอกเบี้ยแก่จำเลยที่ ๑ แล้ว ขณะนี้คดีอยู่ระหว่างพิจารณาของศาลปกครองสูงสุด จำเลยที่ ๑ ให้การว่า สัญญาซื้อขายข้าวเปลือกฉบับพิพาทเป็นนิติกรรมอำพรางการฝากขายข้าวเปลือกเสื่อมราคาที่เกิดขึ้นจากการดำเนินการตามสัญญาฝากเก็บ แปรสภาพ และจัดจำหน่ายข้าวในโครงการรับจำนำข้าวเปลือกฯ โดยไม่ได้มีการซื้อขายกันจริง โจทก์ให้จำเลยที่ ๑ ทำสัญญาซื้อขายเพื่อให้โจทก์ตัดจำนวนข้าวเปลือกออกจากบัญชีกลางของโจทก์และเพื่อให้ตรงกับความเป็นจริง ดังนั้น ข้อพิพาทในคดีนี้จึงเป็นข้อพิพาทที่มีความเกี่ยวพันกับคดีพิพาทระหว่างโจทก์และจำเลยที่ ๑ เกี่ยวกับสัญญาฝากเก็บ แปรสภาพ และจัดจำหน่ายข้าว จึงชอบที่จะพิจารณาพิพากษาในศาลเดียวกัน ส่วนคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาค้ำประกันระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๒ ซึ่งเป็นสัญญาอุปกรณ์ เมื่อข้อพิพาทเกี่ยวกับสัญญาหลักอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองแล้ว ข้อพิพาทเกี่ยวกับสัญญาอุปกรณ์จึงชอบที่จะพิจารณาพิพากษาในศาลปกครองเช่นเดียวกัน
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่าง องค์การคลังสินค้า โจทก์ บริษัทโรงสีข้าวหอมมะลิทุ่งกุลา จำกัด ที่ ๑ บริษัทธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ที่ ๒ จำเลย อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) ดิเรก อิงคนินันท์ (ลงชื่อ) สุวัฒน์ วรรธนะหทัย
(นายดิเรก อิงคนินันท์) (นายสุวัฒน์ วรรธนะหทัย)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) หัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายหัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล) (นายจรัญ หัตถกรรม)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) พลเรือโท กฤษฎา เจริญพานิช (ลงชื่อ) พลตรี พัฒนพงษ์ เกิดอุดม
(กฤษฎา เจริญพานิช) (พัฒนพงษ์ เกิดอุดม)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

Share