คำวินิจฉัยที่ 157/2556

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

คดีที่โจทก์ซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองยื่นฟ้องจำเลยทั้งเจ็ดกรณีจำเลยที่ ๑ ตกเป็นบุคคลล้มละลายเป็นเหตุให้สมาชิกภาพความเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของจำเลยที่ ๑ สิ้นสุดลง และจำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๗ พ้นจากตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญและผู้ช่วยดำเนินงานประจำตัวจำเลยที่ ๑ โจทก์ไม่ทราบข้อเท็จจริงจึงจ่ายเงินประจำตำแหน่งและเงินเพิ่มหรือค่าตอบแทนอื่นให้แก่จำเลยทั้งเจ็ดไปโดยสำคัญผิด ขอให้บังคับจำเลยที่ ๑ คืนเงินประจำตำแหน่งและเงินเพิ่ม ให้จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ร่วมกันชำระเงินค่าตอบแทนผู้เชี่ยวชาญ กับให้จำเลยที่ ๑ และที่ ๓ ถึงที่ ๗ ร่วมกันชำระเงินค่าตอบแทนผู้ช่วยดำเนินงานคืนแก่โจทก์ เห็นว่า แม้โจทก์เป็นหน่วยงานทางปกครองฟ้องจำเลยทั้งเจ็ดขอให้คืนเงินประจำตำแหน่งและเงินเพิ่มหรือค่าตอบแทนอื่นที่โจทก์จ่ายไปและการจ่ายเงินดังกล่าวของโจทก์เป็นสิทธิตามกฎหมายของจำเลยทั้งเจ็ดที่จะได้รับเพื่อตอบแทนการทำงาน แต่เหตุแห่งการฟ้องคดีนี้เป็นกรณีที่โจทก์กล่าวอ้างว่าจำเลยทั้งเจ็ดรับเงินไปจากโจทก์โดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้และเป็นทางให้โจทก์เสียเปรียบอันมีลักษณะเป็นลาภมิควรได้ และมิใช่กรณีที่เกิดจากการที่โจทก์มีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งทางปกครองที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายซึ่งเป็นการให้เงินหรือให้ทรัพย์สินหรือให้ประโยชน์ที่อาจแบ่งแยกได้ โดยให้มีผลย้อนหลัง การคืนเงิน ทรัพย์สินหรือประโยชน์ที่ผู้รับคำสั่งทางปกครองได้ไปตามมาตรา ๕๑ แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙ ดังนั้น การเรียกเงินคืนดังกล่าวจึงมิใช่กรณีที่จะต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้โดยเฉพาะในกฎหมายข้างต้น และมิใช่การใช้อำนาจตามกฎหมายในการออกคำสั่งทางปกครองของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐตามมาตรา ๕ แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว คดีนี้จึงมิใช่คดีปกครอง แต่เป็นคดีพิพาทเกี่ยวด้วยสิทธิเรียกร้องในทางแพ่งฐานลาภมิควรได้ตามมาตรา ๔๐๖ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๑๕๗/๒๕๕๖

วันที่ ๒๗ ธันวาคม ๒๕๕๖

เรื่อง เขตอำนาจศาลเกี่ยวกับพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง

ศาลแพ่ง
ระหว่าง
ศาลปกครองกลาง

การยื่นเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลแพ่งโดยสำนักงานศาลยุติธรรมส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องคดีโต้แย้งอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องอำนาจศาลในคดีนั้น

ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๒๙ พฤศจิกายน ๒๕๕๔ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร โจทก์ ยื่นฟ้องนายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ ที่ ๑ นายสมนึก สกุลรัตนกุลชัย ที่ ๒ นางเสาวนีย์ โอจารุทิพย์ ที่ ๓ นางณัฐฐนันท์ ฉิมสิงห์ ที่ ๔ นางสาววิกัญดา ฉิมสิงห์ ที่ ๕ นางวันเพ็ญ ไชยสุวรรณ ที่ ๖ นางณัฐกฤตา วิสารจารุศร ที่ ๗ จำเลย ต่อศาลแพ่ง เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๔๒๑๖/๒๕๕๔ ความว่า จำเลยที่ ๑ ดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตั้งแต่วันที่ ๒๓ ธันวาคม ๒๕๕๐ ได้รับเงินประจำตำแหน่งและประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นตามพระราชกฤษฎีกาเงินประจำตำแหน่งและประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นของสมาชิกวุฒิสภา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และกรรมาธิการ (ฉบับที่ ๗) พ.ศ. ๒๕๔๘ จำเลยที่ ๒
เป็นผู้เชี่ยวชาญและจำเลยที่ ๓ ถึงที่ ๗ เป็นผู้ช่วยดำเนินงานประจำตัวจำเลยที่ ๑ ตามคำสั่งแต่งตั้งของโจทก์ตามความประสงค์ของจำเลยที่ ๑ โดยจำเลยที่ ๑ ได้รับเงินประจำตำแหน่งและเงินเพิ่มและจำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๗ ได้รับเงินค่าตอบแทนเป็นรายเดือนจากโจทก์เรื่อยมา ต่อมาเมื่อวันที่ ๕ กรกฎาคม ๒๕๕๓ ศาลล้มละลายกลางพิพากษาให้จำเลยที่ ๑ เป็นบุคคลล้มละลายในคดีของศาลล้มละลายกลาง หมายเลขแดงที่ ล.๗๓๑๙/๒๕๕๐ คดีถึงที่สุดแล้ว และได้มีการประกาศเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เกี่ยวกับคำพิพากษาดังกล่าวในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ ๙ ธันวาคม ๒๕๕๓ เป็นเหตุให้สมาชิกภาพความเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของจำเลยที่ ๑ สิ้นสุดลง ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๑๐๖ (๕) ประกอบมาตรา ๑๐๒ (๒) จำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๗ ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญและผู้ช่วยดำเนินงานประจำตัวจำเลยที่ ๑ จึงย่อมพ้นสภาพตามจำเลยที่ ๑ ไปด้วย จำเลยทั้งเจ็ดจึงไม่มีสิทธิได้รับเงินประจำตำแหน่งและเงินเพิ่มหรือค่าตอบแทนจากโจทก์อีก แต่จำเลยทั้งเจ็ดกลับยังคงใช้สิทธิรับเงินดังกล่าว โจทก์ไม่ทราบข้อเท็จจริงจึงจ่ายเงินงวดประจำเดือนกรกฎาคมถึงพฤศจิกายน ๒๕๕๓ ให้แก่จำเลยทั้งเจ็ดไปโดยสำคัญผิด จนกระทั่งโจทก์ได้รับหนังสือแจ้งจากเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เมื่อวันที่ ๒๐ ธันวาคม ๒๕๕๓ จึงได้ระงับการจ่ายเงินดังกล่าว และจำเลยทั้งเจ็ดมีหน้าที่ต้องคืนเงินที่รับไปโดยไม่มีสิทธิให้แก่โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของเงินดังกล่าวและมิใช่เงินที่อยู่ในข่ายที่จะต้องส่งเข้ากองทรัพย์สินของลูกหนี้ในคดีล้มละลาย ขอให้บังคับจำเลยที่ ๑ คืนเงินประจำตำแหน่งและเงินเพิ่ม ๙๒๓,๐๙๖.๕๗ บาท พร้อมดอกเบี้ย ให้จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ร่วมกันชำระเงินค่าตอบแทนผู้เชี่ยวชาญ ๑๐๕,๙๐๒.๐๒ บาท พร้อมดอกเบี้ย ให้จำเลยที่ ๑ และที่ ๓ ร่วมกันชำระเงินค่าตอบแทนผู้ช่วยดำเนินงาน ๕๒,๙๙๗.๘๙ บาท พร้อมดอกเบี้ย ให้จำเลยที่ ๑ และที่ ๔ ถึงที่ ๗ ร่วมกันชำระเงินค่าตอบแทนผู้ช่วยดำเนินงานคนละ ๕๒,๙๙๗.๘๙ บาท พร้อมดอกเบี้ย ให้แก่โจทก์
จำเลยทั้งเจ็ดให้การว่า ข้ออ้างของโจทก์ไม่เป็นจริงและขัดต่อกฎหมาย คดีล้มละลายของจำเลยที่ ๑ อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกาและคดียังไม่ถึงที่สุด จึงถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ ๑ พ้นจากสมาชิกภาพความเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และการวินิจฉัยความสิ้นสุดลงของสมาชิกภาพความเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นอำนาจหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๙๑ วรรคสาม ซึ่งกรณีของจำเลยที่ ๑ ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่า ในระหว่างพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญได้มีพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. ๒๕๕๔ ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ ๑๐ พฤษภาคม ๒๕๕๔ เป็นผลให้สมาชิกภาพความเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของจำเลยที่ ๑ สิ้นสุดลงเมื่อมีการยุบสภาผู้แทนราษฎรตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๑๐๖ (๑) การพิจารณาไม่เป็นประโยชน์อีกต่อไป ให้จำหน่ายคำร้อง ดังนั้นสมาชิกภาพความเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของจำเลยที่ ๑ จึงสิ้นสุดลงเมื่อวันที่ ๑๐ พฤษภาคม ๒๕๕๔ มิใช่วันที่ ๕ กรกฎาคม ๒๕๕๓ ซึ่งเป็นวันที่ศาลล้มละลายกลางมีคำพิพากษาให้จำเลยที่ ๑ เป็นบุคคลล้มละลาย จำเลยทั้งเจ็ดจึงมีสิทธิโดยชอบด้วยกฎหมายที่จะได้รับเงินประจำตำแหน่งและเงินเพิ่มหรือเงินค่าตอบแทนอื่นจนถึงวันที่ ๑๐ พฤษภาคม ๒๕๕๔ ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมและไม่สุจริต ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยทั้งเจ็ดยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า คดีนี้ไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม แต่เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่จำเลยทั้งเจ็ดซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
อนึ่ง ต่อมาศาลล้มละลายกลางได้มีคำสั่งให้ยกเลิกการล้มละลายของจำเลยที่ ๑ ตั้งแต่วันที่ ๒๖ พฤษภาคม ๒๕๔๔ โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษาวันที่ ๑๒ กรกฎาคม ๒๕๔๔
ศาลแพ่งพิจารณาแล้วเห็นว่า ตามคำฟ้องเป็นการที่โจทก์เรียกเงินคืนจากจำเลยทั้งเจ็ดสืบเนื่องมาจากศาลล้มละลายกลางพิพากษาให้จำเลยที่ ๑ เป็นบุคคลล้มละลาย เป็นเหตุให้สมาชิกภาพความเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของจำเลยที่ ๑ สิ้นสุดลงทันทีตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๑๐๖ (๕) ประกอบมาตรา ๑๐๒ (๒) จำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๗ ซึ่งได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้เชี่ยวชาญและผู้ช่วยดำเนินงานประจำตัวจำเลยที่ ๑ ย่อมพ้นสภาพตามจำเลยที่ ๑ ไปด้วย จำเลยทั้งเจ็ดจึงไม่มีสิทธิได้รับเงินประจำตำแหน่ง เงินเพิ่ม และค่าตอบแทนจากโจทก์ จึงเป็นกรณีที่โจทก์กับจำเลยทั้งเจ็ดโต้แย้งกันเกี่ยวกับสิทธิในการเรียกเงินคืน ซึ่งการที่ศาลจะพิจารณาพิพากษาว่าจะมีคำบังคับตามคำฟ้องของโจทก์ได้หรือไม่นั้น ศาลจะต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่าจำเลยทั้งเจ็ดมีสิทธิได้รับเงินหรือไม่ และการที่จำเลยทั้งเจ็ดได้รับเงินไปนั้นมีมูลที่จะอ้างตามกฎหมายได้หรือไม่ และเป็นทางให้โจทก์เสียเปรียบหรือไม่ตามบัญญัติในเรื่องลาภมิควรได้แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ คดีนี้จึงเป็นคดีเกี่ยวกับสิทธิเรียกร้องทางแพ่งเกี่ยวด้วยสิทธิในการรับเงินพิพาท หาใช่เป็นการฟ้องกล่าวหาว่าจำเลยทั้งเจ็ดในฐานะเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือกระทำการโดยไม่ถูกต้องตามกฎหมายหรือโดยไม่สุจริตตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) คดีนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองกลางพิจารณาแล้วเห็นว่า การที่เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบการปฏิบัติราชการของโจทก์อนุมัติให้เบิกจ่ายเงินประจำตำแหน่งและเงินเพิ่มตามพระราชกฤษฎีกาเงินประจำตำแหน่งและประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นของสมาชิกวุฒิสภา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และกรรมาธิการ พ.ศ. ๒๕๓๕ ให้แก่จำเลยที่ ๑ และอนุมัติให้เบิกจ่ายค่าตอบแทนตามประกาศสภาผู้แทนราษฎร เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการแต่งตั้งผู้เชี่ยวชาญประจำตัวสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ลงวันที่ ๒๗ พฤศจิกายน ๒๕๓๙ และประกาศสภาผู้แทนราษฎร เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการแต่งตั้งผู้ช่วยดำเนินงานของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ลงวันที่ ๑๒ ตุลาคม ๒๕๓๗ ให้แก่จำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๗ เป็นการใช้อำนาจตามกฎหมายของเจ้าหน้าที่ที่มีผลเป็นการสร้างนิติสัมพันธ์ขึ้นระหว่างบุคคลในอันที่จะก่อ เปลี่ยนแปลง โอน สงวน ระงับ หรือมีผลกระทบต่อสถานภาพของสิทธิหรือหน้าที่ของบุคคล จึงเป็นคำสั่งทางปกครองตามมาตรา ๕ แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙ เมื่อโจทก์ฟ้องเรียกเงินคืนจากจำเลยทั้งเจ็ดสืบเนื่องมาจากการที่ศาลล้มละลายกลางมีคำพิพากษาให้จำเลยที่ ๑ เป็นบุคคลล้มละลายเมื่อวันที่ ๕ กรกฎาคม ๒๕๕๓ เป็นเหตุให้สมาชิกภาพความเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของจำเลยที่ ๑ สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๑๐๖ (๕) ประกอบมาตรา ๑๐๒ (๒) เป็นเหตุให้จำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๗ พ้นจากตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญและผู้ช่วยดำเนินงานประจำตัวจำเลยที่ ๑ อันเป็นกรณีฟ้องว่าจำเลยทั้งเจ็ดได้รับเงินไปจากโจทก์โดยไม่มีสิทธิได้รับ ดังนั้นการที่โจทก์มีหนังสือแจ้งให้จำเลยทั้งเจ็ดคืนเงินที่โจทก์อนุมัติและเบิกจ่ายให้แก่จำเลยทั้งเจ็ดไปแล้ว จึงเป็นการเพิกถอนคำสั่งอนุมัติและเบิกจ่ายเงินดังกล่าวโดยปริยายซึ่งย้อนหลังไปถึงวันที่จำเลยไม่มีสิทธิรับเงินตามมาตรา ๔๙ ถึง ๕๑ แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.๒๕๓๙ คดีจึงมีปัญหาต้องพิจารณาว่าการที่โจทก์อนุมัติและเบิกจ่ายเงินให้แก่จำเลยทั้งเจ็ดเป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ และจำเลยทั้งเจ็ดมีหน้าที่และความรับผิดในการคืนเงินที่ได้รับไปในระหว่างวันดังกล่าวให้แก่โจทก์ตามมาตรา ๕๑ วรรคสี่ หรือไม่ ซึ่งการเรียกเงินคืนดังกล่าวต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้โดยเฉพาะในพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙ หาใช่เป็นการติดตามเอาทรัพย์คืนตามมาตรา ๑๓๓๖ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ อีกทั้งการที่จำเลยทั้งเจ็ดโต้แย้งว่าศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยไว้ในคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญที่ ๑๖/๒๕๕๔ ว่าสมาชิกภาพความเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของจำเลยที่ ๑ สิ้นสุดลงในวันที่ ๑๐ พฤษภาคม ๒๕๕๔ ซึ่งเป็นวันที่พระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. ๒๕๕๔ มีผลใช้บังคับตามมาตรา ๑๐๖ (๑) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย จำเลยทั้งเจ็ดจึงมีสิทธิโดยชอบด้วยกฎหมายที่จะได้รับเงินประจำตำแหน่ง เงินเพิ่ม และเงินค่าตอบแทนจากโจทก์นั้น เป็นการโต้แย้งการกระทำของโจทก์ซึ่งเป็นการกระทำทางปกครองเกี่ยวกับการอนุมัติและเบิกจ่ายเงินให้แก่จำเลยทั้งเจ็ดตามพระราชกฤษฎีกาเงินประจำตำแหน่งและประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นของสมาชิกวุฒิสภา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และกรรมาธิการ พ.ศ. ๒๕๓๕ ประกาศสภาผู้แทนราษฎร เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการแต่งตั้งผู้เชี่ยวชาญประจำตัวสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ลงวันที่ ๒๗ พฤศจิกายน ๒๕๓๙ และประกาศสภาผู้แทนราษฎรเรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการแต่งตั้งผู้ช่วยดำเนินงานของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ลงวันที่ ๑๒ ตุลาคม ๒๕๓๗ ดังนั้น คดีนี้จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับความรับผิดอย่างอื่นของหน่วยงานทางปกครองอันเนื่องมาจากการใช้อำนาจตามกฎหมายหรือจากกฎ คำสั่งทางปกครองหรือคำสั่งอื่นตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า ข้อเท็จจริงตามคำฟ้องคดีนี้ โจทก์ซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองยื่นฟ้องจำเลยทั้งเจ็ดกรณีจำเลยที่ ๑ ตกเป็นบุคคลล้มละลายเป็นเหตุให้สมาชิกภาพความเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของจำเลยที่ ๑ สิ้นสุดลง และจำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๗ พ้นจากตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญและผู้ช่วยดำเนินงานประจำตัวจำเลยที่ ๑ โจทก์ไม่ทราบข้อเท็จจริงดังกล่าวจึงจ่ายเงินประจำตำแหน่งและเงินเพิ่มหรือค่าตอบแทนอื่นงวดประจำเดือนกรกฎาคมถึงพฤศจิกายน ๒๕๕๓ ให้แก่จำเลยทั้งเจ็ดไปโดยสำคัญผิด ขอให้บังคับจำเลยที่ ๑ คืนเงินประจำตำแหน่งและเงินเพิ่ม ให้จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ร่วมกันชำระเงินค่าตอบแทนผู้เชี่ยวชาญ กับให้จำเลยที่ ๑ และที่ ๓ ถึงที่ ๗ ร่วมกันชำระเงินค่าตอบแทนผู้ช่วยดำเนินงานคืนแก่โจทก์ เห็นว่า แม้โจทก์เป็นหน่วยงานทางปกครองฟ้องจำเลยทั้งเจ็ดขอให้คืนเงินประจำตำแหน่งและเงินเพิ่มหรือค่าตอบแทนอื่นที่โจทก์จ่ายไปและการจ่ายเงินดังกล่าวของโจทก์เป็นสิทธิตามกฎหมายของจำเลยทั้งเจ็ดที่จะได้รับเพื่อตอบแทนการทำงานตามพระราชกฤษฎีกาเงินประจำตำแหน่งและประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นของสมาชิกวุฒิสภา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และกรรมาธิการ พ.ศ. ๒๕๓๕ และประกาศสภาผู้แทนราษฎร เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการแต่งตั้งผู้เชี่ยวชาญประจำตัวสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ลงวันที่ ๒๗ พฤศจิกายน ๒๕๓๙ และประกาศสภาผู้แทนราษฎร เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการแต่งตั้งผู้ช่วยดำเนินงานของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ลงวันที่ ๑๒ ตุลาคม ๒๕๓๗ ก็ตาม แต่เมื่อเหตุแห่งการฟ้องคดีนี้เป็นกรณีที่โจทก์กล่าวอ้างว่าจำเลยทั้งเจ็ดรับเงินไปจากโจทก์โดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้และเป็นทางให้โจทก์เสียเปรียบอันมีลักษณะเป็นลาภมิควรได้ และมิใช่กรณีที่เกิดจากการที่โจทก์มีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งทางปกครองที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายซึ่งเป็นการให้เงินหรือให้ทรัพย์สินหรือให้ประโยชน์ที่อาจแบ่งแยกได้ โดยให้มีผลย้อนหลัง การคืนเงิน ทรัพย์สินหรือประโยชน์ที่ผู้รับคำสั่งทางปกครองได้ไปตามมาตรา ๕๑ แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙ ดังนั้น การเรียกเงินคืนดังกล่าวจึงมิใช่กรณีที่จะต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้โดยเฉพาะในพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙ และมิใช่การใช้อำนาจตามกฎหมายในการออกคำสั่งทางปกครองของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐตามมาตรา ๕ แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว จึงมิใช่คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือคดีพิพาทเกี่ยวกับความรับผิดอย่างอื่นของหน่วยงานทางปกครองอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย อันจะอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) และ (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ แต่เป็นคดีพิพาทเกี่ยวด้วยสิทธิเรียกร้องในทางแพ่งฐานลาภมิควรได้ตามมาตรา ๔๐๖ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ คดีนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่าง สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร โจทก์ นายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ ที่ ๑ นายสมนึก สกุลรัตนกุลชัย ที่ ๒ นางเสาวนีย์ โอจารุทิพย์ ที่ ๓ นางณัฐฐนันท์ ฉิมสิงห์ ที่ ๔ นางสาววิกัญดา ฉิมสิงห์ ที่ ๕ นางวันเพ็ญ ไชยสุวรรณ ที่ ๖ นางณัฐกฤตา วิสารจารุศร ที่ ๗ จำเลย อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) ดิเรก อิงคนินันท์ (ลงชื่อ) สุวัฒน์ วรรธนะหทัย
(นายดิเรก อิงคนินันท์) (นายสุวัฒน์ วรรธนะหทัย)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) หัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายหัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล) (นายจรัญ หัตถกรรม)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) พลเรือโท กฤษฎา เจริญพานิช (ลงชื่อ) พลตรี พัฒนพงษ์ เกิดอุดม
(กฤษฎา เจริญพานิช) (พัฒนพงษ์ เกิดอุดม)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

Share