คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8714/2560

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ข้อห้ามมิให้รับฟังพยานบอกเล่าตาม ป.วิ.อ. มาตรา 226/3 เป็นกรณีที่มีการอ้างพยานบอกเล่าต่อศาลโดยนำเสนอเพื่อพิสูจน์ความจริงแห่งข้อความที่บอกเล่านั้น คดีนี้โจทก์ร่วมมาเบิกความต่อศาลเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่รู้เห็นด้วยตนเองโดยตรง ถือเป็นประจักษ์พยาน แต่เบิกความกลับคำให้การในชั้นสอบสวนว่าจำเลยมิใช่คนร้ายที่ใช้อาวุธปืนยิงโจทก์ร่วม จึงเป็นกรณีนำสืบคำให้การในชั้นสอบสวนเพื่อพิสูจน์ว่าโจทก์ร่วมเล่าเหตุการณ์ให้พนักงานสอบสวนบันทึกไว้อย่างไร มิใช่การพิสูจน์ความจริงแห่งข้อความที่บอกเล่า อันจะต้องห้ามมิให้รับฟัง เช่นนี้ศาลจึงสามารถรับฟังบันทึกคำให้การในชั้นสอบสวนนั้นได้ในฐานะคำกล่าวนอกศาลที่ขัดแย้งกับคำเบิกความของโจทก์ร่วมเพื่อหักล้างคำเบิกความในชั้นศาล

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33, 80, 91, 288 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 8 ทวิ, 72 ทวิ พระราชบัญญัติสถานบริการ พ.ศ.2509 มาตรา 16/2, 28/2 และริบลูกกระสุนปืนของกลาง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา นายภิญโญ ผู้เสียหาย ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาตเฉพาะข้อหาพยายามฆ่าผู้อื่น
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 ประกอบมาตรา 80 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 72 ทวิ วรรคสอง พระราชบัญญัติสถานบริการ พ.ศ.2509 มาตรา 16/2, 28/2 วรรคสอง การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานพยายามฆ่าผู้อื่น จำคุก 10 ปี ฐานพาอาวุธปืนมีทะเบียนไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาตและฐานนำอาวุธเข้าไปในสถานบริการ เป็นการกระทำอันเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติสถานบริการซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 1 ปี รวมจำคุก 11 ปี ทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กระทงละหนึ่งในสาม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 6 ปี 16 เดือน ริบลูกกระสุนปืนของกลาง
โจทก์ร่วมและจำเลยอุทธรณ์
ระหว่างอุทธรณ์ โจทก์ร่วมขอถอนอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 8 อนุญาต
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้เป็นยุติในเบื้องต้นว่า ในวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง มีคนร้ายใช้อาวุธปืนยิงโจทก์ร่วม 1 นัด กระสุนปืนถูกบริเวณหลังทะลุขาหนีบข้างขวา เป็นเหตุให้โจทก์ร่วมได้รับอันตรายสาหัส ตามผลการตรวจชันสูตรบาดแผลของแพทย์ พนักงานสอบสวนยึดลูกกระสุนปืนที่ใช้ยิงโจทก์ร่วม 1 ลูก เป็นของกลาง และตรวจสถานที่เกิดเหตุไว้ ตามแผนที่สังเขปแสดงสถานที่เกิดเหตุและบันทึกการตรวจสถานที่เกิดเหตุคดีอาญา ในวันเดียวกันหลังเกิดเหตุ จำเลยเข้ามอบตัวต่อพนักงานสอบสวน ชั้นสอบสวนจำเลยให้การปฏิเสธ
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยกระทำความผิดตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 หรือไม่ สำหรับความผิดฐานพาอาวุธปืนมีทะเบียนไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาต และฐานนำอาวุธเข้าไปในสถานบริการ ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นให้ลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกินห้าปี จึงห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคหนึ่ง จำเลยฎีกาว่าไม่ได้กระทำผิด เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย ส่วนความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่น โจทก์และโจทก์ร่วมมีโจทก์ร่วมเป็นประจักษ์พยานเบิกความว่า วันที่ 31 ธันวาคม 2551 เวลากลางคืน โจทก์ร่วมและนางสาววาสนา ซึ่งเป็นภริยาไปเที่ยวผับที่ร้าน กทม จนกระทั่งเข้าสู่วันที่ 1 มกราคม 2552 จึงพากันกลับ ระหว่างเดินไปที่ประตูทางออก มีคนเข้ามาเที่ยวเป็นจำนวนมากต้องเดินเบียดเสียดกัน จำเลยซึ่งอยู่ข้างหน้าเบี่ยงตัวหลบให้ภริยาโจทก์ร่วมเดินผ่านไปก่อน โจทก์ร่วมเดินตามแต่ไปกระแทกถูกจำเลยด้านหลัง จำเลยหันมาคว้ามือโจทก์ร่วมพาไปที่โต๊ะด้านหน้าบูธดีเจ ซึ่งมีนายสมพลพี่ชายจำเลยกับพวกนั่งอยู่ นายสมพลลุกขึ้นพูดว่า อะไร อะไร แล้วชกหน้าโจทก์ร่วม พวกจำเลยอีกคนซึ่งรูปร่างผอมเข้ามาช่วยชกต่อยจนโจทก์ร่วมล้มลง แล้วจำเลยกับพวกที่รูปร่างผอมแยกตัวไปยืนหน้าห้องน้ำหญิง ส่วนนายสมพลยืนอยู่ทางด้านขวาของบูธดีเจ โจทก์ร่วมใช้ขวดโซดาขว้างใส่จำเลยซึ่งอยู่ด้านหน้าแต่ไม่ถูก จึงเอี้ยวตัวกลับมาหยิบขวดโซดาที่อยู่บริเวณเคาน์เตอร์น้ำ มีเสียงปืนดังขึ้นจากทางขวาของบูธดีเจ กระสุนปืนยิงมาถูกโจทก์ร่วมบริเวณเอวด้านหลังล้มลงกับพื้น จากนั้นประมาณ 3 ถึง 5 นาที ภริยาโจทก์ร่วมเข้ามาช่วยนำโจทก์ร่วมส่งโรงพยาบาล เห็นว่า โจทก์ร่วมเบิกความในทำนองว่าจำเลยมิใช่คนร้ายเพราะขณะเกิดเหตุยืนอยู่บริเวณหน้าห้องน้ำหญิงซึ่งเป็นคนละทางกับเสียงปืนที่ดังขึ้น อันเป็นการขัดแย้งแตกต่างจากบันทึกคำให้การของผู้กล่าวหา ซึ่งโจทก์ร่วมให้การต่อพนักงานสอบสวนในฐานะผู้กล่าวหายืนยันว่าจำเลยเป็นคนร้ายที่ใช้อาวุธปืนยิงโจทก์ร่วม โดยมีรายละเอียดตั้งแต่โจทก์ร่วมเดินเบียดเสียดกับผู้ที่มาเที่ยวผับไปกระทบถูกจำเลยเป็นเหตุให้จำเลยไม่พอใจ เข้ามาชกต่อยโจทก์ร่วมโดยมีพวกของจำเลยช่วยทำร้าย ระหว่างนั้นโจทก์ร่วมเห็นจำเลยถือวัตถุสีดำคล้ายอาวุธปืนในมือจึงหมุนตัวกลับจะวิ่งหนีไปทางกลุ่มคนที่อยู่บริเวณหน้าห้องน้ำ แต่ยังไม่ทันวิ่งก็มีเสียงปืนดังขึ้น 1 นัด กระสุนปืนถูกโจทก์ร่วมบริเวณกลางหลังทะลุขาหนีบข้างขวาล้มลง คำให้การในชั้นสอบสวนของโจทก์ร่วมดังกล่าวทำขึ้นทันทีในวันเกิดเหตุโดยมีรายละเอียดเชื่อมโยงตามลำดับเหตุการณ์อย่างสมเหตุสมผล ยากที่โจทก์ร่วมจะตกแต่งเรื่องขึ้นปรักปรำให้ร้ายจำเลย ซึ่งบริเวณที่เกิดเหตุมีแสงสว่างจากหลอดไฟฟ้าที่บูธดีเจและพื้นที่ข้างเคียง ทั้งจำเลยไว้ผมสั้นทรงสกินเฮดต่างจากผู้อื่น โจทก์ร่วมย่อมจะเห็นและจำจำเลยได้ ในวันเดียวกันหลังเกิดเหตุ โจทก์ร่วมยังได้ชี้ยืนยันภาพถ่ายจำเลยว่า เป็นคนร้ายที่ใช้อาวุธปืนยิงโจทก์ร่วม สนับสนุนให้น่าเชื่อยิ่งขึ้นว่าโจทก์ร่วมให้การต่อพนักงานสอบสวนตามความจริงที่พบเห็น ส่วนสาเหตุที่เบิกความความแตกต่างกัน โจทก์ร่วมอ้างว่าเป็นเพราะภาพถ่ายประกอบสำนวนการสอบสวน ที่พนักงานสอบสวนนำมาให้ดูมีสีคล้ำคล้ายสีผิวของคนร้ายที่ชกต่อยโจทก์ร่วมแล้วแยกไปยืนอยู่ทางด้านขวาของบูธดีเจซึ่งเป็นทิศทางที่ได้ยินเสียงปืน จึงเข้าใจผิดว่าจำเลยเป็นคนร้ายดังกล่าวมาตลอด แต่ความจริงหลังชกต่อยแล้วจำเลยแยกตัวไปอยู่บริเวณหน้าห้องน้ำหญิง ซึ่งเป็นการกล่าวอ้างลอย ๆ ผิดวิสัยของการดูภาพถ่ายคนร้ายที่จะเน้นใบหน้าและลักษณะเด่นเป็นสำคัญ มิใช่ดูเพียงสีผิว ตามบันทึกคำให้การของผู้กล่าวหาและใบต่อคำให้การของผู้กล่าวหาเพิ่มเติม พนักงานสอบสวนยังสอบปากคำโจทก์ร่วมอีก 2 ครั้ง ในวันที่ 8 มีนาคม 2552 และวันที่ 4 กันยายน 2552 หากการสอบสวนครั้งแรกโจทก์ร่วมให้การผิดพลาดหรือเข้าใจข้อเท็จจริงใดผิดก็สามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงคำให้การนั้นได้ แต่โจทก์ร่วมหาได้กระทำไม่ จึงมีพิรุธไม่น่าเชื่อถือ นอกจากนี้ยังได้ความตามเอกสารดังกล่าวว่า หลังจากโจทก์ร่วมแจ้งความและให้การกล่าวหาจำเลยแล้ว ในเดือนกุมภาพันธ์ 2552 ฝ่ายจำเลยได้ติดต่อขอให้โจทก์ร่วมไม่ดำเนินคดีแก่จำเลยกับพวก 2 ครั้ง ครั้งสุดท้ายมีการเสนอชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ร่วมเป็นเงิน 900,000 บาท และวันที่ 24 มีนาคม 2552 ยังมีการทำบันทึกข้อตกลงข้อเท็จจริงในคดีพยายามฆ่าว่า โจทก์ร่วมได้ดูตัวจำเลยใหม่แล้วยืนยันว่าไม่ใช่คนร้ายที่ใช้อาวุธปืนยิงโจทก์ร่วม เนื่องจากขณะถูกยิงโจทก์ร่วมอยู่ในระหว่างชกต่อยกับจำเลย การชี้ภาพถ่ายจำเลยเป็นคนร้ายยิงโจทก์ร่วมเป็นการชี้ตัวผิด ซึ่งโจทก์ร่วมให้การต่อพนักงานสอบสวนไปแล้วว่าไม่ได้ตกลงยินยอมตามข้อเสนอของฝ่ายจำเลยและปฏิเสธว่าไม่ได้ทำบันทึกข้อตกลงข้อเท็จจริงในคดีพยายามฆ่า การที่โจทก์ร่วมมาเบิกความในคดีนี้หลังจากเกิดเหตุนานถึง 5 ปี โดยมีข้อเท็จจริงใหม่แตกต่างไปจากเดิมเช่นนี้ ย่อมจะมีปัจจัยอื่นมาแทรกแซงกดดันให้เบิกความบิดเบือนข้อเท็จจริงเพื่อช่วยเหลือจำเลย เชื่อว่า คำให้การในชั้นสอบสวนของโจทก์ร่วมเป็นความจริงยิ่งกว่าคำเบิกความในชั้นศาล แม้คำให้การในชั้นสอบสวนของโจทก์ร่วมจะเป็นพยานบอกเล่า แต่เมื่อพิจารณาตามสภาพ ลักษณะ แหล่งที่มา และข้อเท็จจริงแวดล้อม ซึ่งน่าจะพิสูจน์ความจริงได้ ประกอบกับนางสาววาสนา ภริยาโจทก์ร่วมเบิกความเป็นพยานสนับสนุนว่า ขณะเข้าไปดูโจทก์ร่วมพบจำเลยกับพวกวิ่งสวนออกมา และโจทก์ร่วมบอกว่าจำเลยเป็นคนร้ายที่ใช้อาวุธปืนยิงแล้ว ย่อมมีเหตุผลอันหนักแน่นให้รับฟังคำให้การในชั้นสอบสวนของโจทก์ร่วมได้ ที่จำเลยฎีกาว่า บันทึกคำให้การของผู้กล่าวหาเป็นพยานบอกเล่า ต้องห้ามมิให้รับฟังตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 226/3 นั้น เห็นว่า ข้อห้ามมิให้รับฟังพยานบอกเล่าตามบทมาตราดังกล่าวเป็นกรณีที่มีการอ้างพยานบอกเล่าต่อศาลโดยนำเสนอเพื่อพิสูจน์ความจริงแห่งข้อความที่บอกเล่านั้น คดีนี้โจทก์ร่วมมาเบิกความต่อศาลเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่รู้เห็นด้วยตนเองโดยตรง ถือเป็นประจักษ์พยาน แต่เบิกความกลับคำให้การในชั้นสอบสวนว่าจำเลยมิใช่คนร้ายที่ใช้อาวุธปืนยิงโจทก์ร่วม จึงเป็นกรณีนำสืบคำให้การในชั้นสอบสวนเพื่อพิสูจน์ว่า โจทก์ร่วมเล่าเหตุการณ์ให้พนักงานสอบสวนบันทึกไว้อย่างไร มิใช่เป็นการพิสูจน์ความจริงแห่งข้อความที่บอกเล่า อันจะต้องห้ามมิให้รับฟัง เช่นนี้ศาลจึงสามารถรับฟังบันทึกคำให้การในชั้นสอบสวนนั้นได้ในฐานะคำกล่าวนอกศาลที่ขัดแย้งกับคำเบิกความของโจทก์ร่วมเพื่อหักล้างคำเบิกความในชั้นศาล ส่วนที่จำเลยฎีกาว่า จำเลยไม่ได้ยิงโจทก์ร่วมในตำแหน่งอวัยวะสำคัญและเป็นการยิงเพียงครั้งเดียวนั้น เป็นกรณีที่จำเลยอ้างว่ามิได้มีเจตนาประสงค์ต่อผล แต่เมื่อจำเลยใช้อาวุธปืนซึ่งเป็นอาวุธร้ายแรงยิงบริเวณลำตัวของโจทก์ร่วมย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำนั้นได้ว่ากระสุนปืนอาจถูกอวัยวะส่วนสำคัญของร่างกายทำให้โจทก์ร่วมถึงแก่ความตายได้ กรณีถือว่าจำเลยมีเจตนาฆ่าโดยเล็งเห็นผลตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 59 พยานหลักฐานที่โจทก์และโจทก์ร่วมนำสืบมาฟังได้ว่า จำเลยใช้อาวุธปืนยิงโจทก์ร่วมโดยมีเจตนาฆ่า จำเลยลงมือกระทำความผิดไปตลอดแล้วแต่การกระทำนั้นไม่บรรลุผล จึงเป็นความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่น ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาลงโทษจำเลยในความผิดดังกล่าวนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share