คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1924/2522

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พระราชบัญญัติให้ใช้บรรพ 5 แห่ง ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ได้ตรวจชำระใหม่ พ.ศ.2519 มาตรา 5 บัญญัติว่า “บทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ได้ตรวจชำระใหม่ท้ายพระราชบัญญัตินี้ไม่กระทบกระเทือนถึงความสมบูรณ์ของการหมั้นการสมรส ฯลฯ”ดังนั้น ปัญหาว่าการสมรสของโจทก์หรือของจำเลยฝ่ายใดจะสมบูรณ์และมีสิทธิได้รับมรดกของสามีที่ตายจึงต้องวินิจฉัยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 เดิมจะนำบรรพ 5 ที่ตรวจชำระใหม่ซึ่งออกมาใช้บังคับขณะที่คดีอยู่ในระหว่างการพิจารณาขึ้นมาปรับแก่คดีหาได้ไม่
คำว่า “สิทธิ” ตามมาตรา 1494 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ซึ่งบัญญัติว่า “เหตุที่การสมรสถูกเพิกถอนไม่เป็นผลให้ชายหรือหญิงผู้สมรสโดยสุจริตเสียสิทธิที่ได้มาเพราะการสมรสนั้น” มีความหมายรวมถึงสิทธิในการรับมรดกด้วย ดังนั้น แม้การสมรสระหว่างโจทก์กับเจ้ามรดกจะเป็นโมฆะและต้องถูกเพิกถอนเพราะเจ้ามรดกมีจำเลยเป็นภรรยาอยู่ก่อนแล้วก็ตาม แต่เมื่อได้ความว่าโจทก์ทำการสมรสโดยสุจริตโจทก์ย่อมมีสิทธิได้รับมรดกของเจ้ามรดกตามมาตรา 1494 ดังกล่าว
ตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้น โจทก์จำเลยแถลงว่าการจดทะเบียนสมรสระหว่างเจ้ามรดกกับโจทก์จำเลยต่างก็สุจริต ขอให้ศาลวินิจฉัยชี้ขาดตามทะเบียนสมรสว่าของฝ่ายใดจะสมบูรณ์และมีสิทธิได้รับมรดกของเจ้ามรดกแล้วต่างฝ่ายไม่ติดใจสืบพยานบุคคลดังนี้ เป็นกรณีที่โจทก์จำเลยตกลงกันกำหนดประเด็นข้อพิพาทให้ศาลวินิจฉัยซึ่งเป็นการสละข้อต่อสู้ในประเด็นข้ออื่นตามคำฟ้องและคำให้การแล้วคดีจึงมีประเด็นข้อพิพาทเท่าที่คู่ความตกลงกำหนดไว้เท่านั้น จำเลยจะหยิบยกขึ้นกล่าวอ้างต่อมาว่า ทรัพย์ตามบัญชีทรัพย์ท้ายฟ้องไม่ใช่ทรัพย์มรดก หรือเป็นข้อเท็จจริงที่โจทก์จะต้องนำสืบหาได้ไม่ เมื่อศาลเห็นว่าโจทก์มีสิทธิได้รับมรดกก็วินิจฉัยต่อไปได้ว่าโจทก์มีสิทธิได้รับมรดกเพียงใด โดยพิจารณาจากข้อเท็จจริงตามคำฟ้องและคำให้การ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นภรรยาโดยชอบด้วยกฎหมายของนายประยูรโดยจดทะเบียนสมรสกัน จำเลยที่ 1 แต่งงานกับนายประยูรเมื่อ พ.ศ. 2478 แต่มิได้จดทะเบียนสมรส มีบุตรกับนายประยูร 2 คน จำเลยที่ 2 เป็นมารดาของนายประยูร ต่อมานายประยูรถึงแก่กรรมโดยมิได้ทำพินัยกรรม ระหว่างนายประยูรอยู่กินเป็นสามีภรรยากับจำเลยที่ 1 ได้ทำมาหากินร่วมกันเกิดทรัพย์หลายอย่างตามบัญชีทรัพย์ท้ายฟ้องรวมราคา 400,000 บาท จำเลยที่ 1 มีสิทธิในฐานะหุ้นส่วนครึ่งหนึ่ง อีกครึ่งหนึ่งเป็นมรดกของนายประยูรตกทอดแก่โจทก์และจำเลยที่ 2 ผู้เป็นทายาท แต่จำเลยที่ 1 ไม่ยอมแบ่งให้จึงขอให้ศาลบังคับ

จำเลยทั้งสองให้การว่า จำเลยที่ 1 เป็นภรรยาโดยชอบด้วยกฎหมายของเจ้ามรดกโดยจดทะเบียนสมรสกันเมื่อ พ.ศ. 2484 และยังไม่ได้หย่าขาดจากกันหากโจทก์จดทะเบียนกับเจ้ามรดกก็เป็นโมฆะ โจทก์จึงมิใช่ภรรยาโดยชอบด้วยกฎหมายไม่มีสิทธิได้รับมรดก ทรัพย์ตามบัญชีทรัพย์ท้ายฟ้องบางรายการไม่ใช่ทรัพย์มรดก และจำเลยที่ 1 ฟ้องแย้งขอให้ศาลพิพากษาว่าการจดทะเบียนสมรสระหว่างโจทก์กับเจ้ามรดกเป็นโมฆะจำเลยที่ 1 เป็นภรรยาโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ตาย เป็นทายาทซึ่งมีสิทธิรับมรดก

โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า โจทก์จดทะเบียนสมรสกับผู้ตายโดยสุจริตย่อมได้รับความคุ้มครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1494 ถือว่าการสมรสสมบูรณ์ตามกฎหมาย

ในวันนัดสืบพยานโจทก์ทั้งสองฝ่ายแถลงว่า การจดทะเบียนสมรสระหว่างเจ้ามรดกกับโจทก์และจำเลยต่างก็สุจริต ขอให้ศาลวินิจฉัยชี้ขาดตามทะเบียนสมรสว่า ของฝ่ายใดจะสมบูรณ์และมีสิทธิได้รับมรดกของเจ้ามรดก โดยทั้งสองฝ่ายไม่ติดใจสืบพยานบุคคล

ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า การจดทะเบียนสมรสครั้งที่ 2 ระหว่างเจ้ามรดกกับโจทก์เป็นโมฆะตามมาตรา 1490 พิพากษายกฟ้อง ให้จำเลยชนะคดีตามฟ้องแย้ง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 แบ่งทรัพย์ตามบัญชีท้ายฟ้องส่วนที่เป็นมรดกของผู้ตายให้โจทก์ 1 ใน 8 ส่วน หากการแบ่งไม่ตกลงกันให้ประมูลระหว่างคู่ความหรือขายทอดตลาดเอาเงินแบ่งให้โจทก์ตามส่วน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

จำเลยที่ 1 ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ในเบื้องต้นศาลฎีกาเห็นว่าที่ศาลอุทธรณ์หยิบยกประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บรรพ 5 ที่ได้ตรวจชำระใหม่ พ.ศ. 2519 ขึ้นมาปรับแก่คดีนี้เพราะกฎหมายดังกล่าวออกมาใช้บังคับขณะที่คดีอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์นั้น ศาลฎีกายังไม่เห็นพ้องด้วย เพราะตามพระราชบัญญัติให้ใช้บรรพ 5 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ทีได้ตรวจชำระใหม่ พ.ศ. 2519 มาตรา 5 บัญญัติว่า”บัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ได้ตรวจชำระใหม่ท้ายพระราชบัญญัตินี้ไม่กระทบกระเทือนถึงความสมบูรณ์ของการหมั้น การสมรส ฯลฯ” ดังนั้น ปัญหาตามประเด็นที่คู่ความตกลงกันกำหนดว่า การสมรสของโจทก์หรือของจำเลยฝ่ายใดจะสมบูรณ์และมีสิทธิได้รับมรดกจึงต้องวินิจฉัยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บรรพ 5 เดิม

สำหรับปัญหาว่า เมื่อการจดทะเบียนสมรสระหว่างโจทก์กับเจ้ามรดกเป็นโมฆะโจทก์จะมีสิทธิได้รับมรดกของนายประยูรเจ้ามรดกหรือไม่ ศาลฎีกาเห็นว่า แม้การสมรสระหว่างโจทก์กับเจ้ามรดกจะเป็นโมฆะและต้องถูกเพิกถอนก็ตาม แต่เมื่อได้ความว่าโจทก์ทำการสมรสโดยสุจริต โจทก์ย่อมมีสิทธิได้รับมรดกของนายประยูรเจ้ามรดก ตามนัยมาตรา 1494 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งบัญญัติว่า เหตุที่การสมรสถูกเพิกถอนไม่เป็นผลให้ชายหรือหญิงผู้สมรสโดยสุจริตเสียสิทธิที่ได้มาเพราะการสมรสนั้นเพราะคำว่า “สิทธิ” ตามมาตราดังกล่าวมีความหมายรวมถึงสิทธิในการรับมรดกด้วย ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผลของคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

จำเลยที่ 1 ฎีกาข้อต่อมาว่า ทรัพย์ตามบัญชีทรัพย์ท้ายฟ้องของโจทก์บางรายการไม่ใช่เป็นทรัพย์มรดกของเจ้ามรดก และทรัพย์ตามบัญชีทรัพย์ท้ายฟ้องเป็นข้อเท็จจริงที่จะต้องนำสืบให้ปรากฏว่าทรัพย์รายการใดเป็นมรดกของนายประยูรผู้ตายหรือไม่ ศาลฎีกาเห็นว่าตามรายการกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้น ลงวันที่ 23 กันยายน 2519 โจทก์จำเลยแถลงว่าการจดทะเบียนสมรสระหว่างเจ้ามรดกกับโจทก์จำเลยต่างก็สุจริต ขอให้ศาลวินิจฉัยชี้ขาดตามทะเบียนสมรสว่าของฝ่ายใดจะสมบูรณ์และมีสิทธิได้รับมรดกของเจ้ามรดก แล้วต่างฝ่ายไม่ติดใจสืบพยานบุคคล ดังนี้ เป็นกรณีที่โจทก์จำเลยตกลงกันกำหนดประเด็นข้อพิพาทให้ศาลวินิจฉัยซึ่งเป็นการสละข้อต่อสู้ในประเด็นข้ออื่นตามคำฟ้องและคำให้การแล้ว คดีคงมีประเด็นข้อพิพาทเท่าที่คู่ความตกลงกำหนดไว้เท่านั้น จำเลยจะหยิบยกขึ้นกล่าวอ้างต่อมาว่าทรัพย์ตามบัญชีทรัพย์ท้ายฟ้องไม่ใช่ทรัพย์มรดกหรือเป็นข้อเท็จจริงที่จะต้องนำสืบหาได้ไม่ เมื่อศาลอุทธรณ์เห็นว่าโจทก์มีสิทธิได้รับมรดกก็วินิจฉัยต่อไปได้ว่า โจทก์มีสิทธิรับมรดกเพียงใด โดยพิจารณาจากข้อเท็จจริงตามคำฟ้องและคำให้การ คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ในข้อนี้ชอบแล้ว

พิพากษายืน

Share