คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 282/2499

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่จำเลยบังคับขู่เข็ญจนผู้เสียหายมีความกลัวต้องสั่งเงิน(ธนบัติ)ให้และจำเลยได้รับไว้แล้ว ดังนี้ย่อมถือว่าเป็นความผิดฐานชิงทรัพย์สำเร็จแล้ว ส่วนการที่จำเลยกลับฉีกธนบัติเสียนั้นก็เป็นเรื่องที่มาเปลี่ยนเจตนาขึ้นในภายหลัง.

ย่อยาว

คดีนี้โจทก์ฟ้องว่าจเลยลักธนบัติฉบับละ ๑๐๐ บาท ๑ ฉบับของผู้เสียหาย ในการนี้ได้ขู่เข็ญจะทำร้ายผู้เสียหาย ๆ มีความหวาดกลัวจึงส่งธนบัติดังกล่าวแล้วให้จำเลย ขอให้ลงโทษ
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตาม ก.ม.อาญา ม.๒๙๘ ให้จำคุก ๔ ปี เพิ่มโทษตาม ม.๗๒ รวมเป็นโทษจำคุก ๕ ปี ๔ เดือน กับให้คืนหรือใช้ทรัพย์ ๑๐๐ บาท แต่มีความเห็นแย้ง
จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกาว่าตามข้อเท็จจริงที่โจทก์นำสืบมายังถือไม่ได้ว่าจะเลยมีผิดฐานชิงทรัพย์หรือลักทรัพย์
ศาลฎีกาปรึกษาแล้ว คงมีปัญหาแต่ว่าการที่จำเลยขู่เข็ญว่าจะทำร้าย บังคับให้ผู้เสียหายส่งเงินให้ ๕๐๐ บาท ผู้เสียหายมีความกลัวส่งให้เพียง ๑๐๐ บาท จำเลยรับแล้วกลับฉีกธนบัติ ๑๐๐ บาทนั้นเสีย จะถือว่าจำเลยมีผิดฐานชิงทรัพย์ดังฟ้องหรือไม่. เห็นว่าตามพฤติการเรื่องนี้การที่จำเลยได้รับไว้แล้วนับว่าเป็นความผิดฐานชิงทรัพย์สำเร็จ การที่จำเลยฉีกธนบัติเสียนั้นเป็นเรื่องเปลี่ยนเจตนาภายหลัง
จึงพิพากษายืน.

Share