แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ความรับผิดตามสัญญาประกันเป็นความรับผิดทางแพ่ง และค่าปรับที่ศาลสั่งให้ผู้ประกันชำระกรณีผิดสัญญาประกันก็เข้าลักษณะเป็นเบี้ยปรับตาม ป.พ.พ. มาตรา 379 ดังนั้น เมื่อศาลมีคำสั่งปรับผู้ประกัน และออกหมายแจ้งคำสั่งให้ผู้ประกันชำระค่าปรับภายใน 30 วัน การที่ผู้ร้องจะใช้สิทธิบังคับคดีย่อมต้องอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.พ. มาตรา 271 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 ซึ่งกำหนดให้เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาชอบที่จะร้องขอให้บังคับคดีได้ภายในสิบปีนับแต่วันที่มีคำพิพากษาหรือคำสั่ง หาใช่ว่าจะมีสิทธิขอบังคับคดีเมื่อใดก็ได้โดยไม่มีเวลาจำกัด
ย่อยาว
กรณีสืบเนื่องจากศาลชั้นต้นมีคำสั่งเมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2545 ให้ปรับผู้ประกันฐานผิดสัญญาไม่นำตัวจำเลยมาส่งศาลในชั้นฝากขังตามสัญญาประกันลงวันที่ 27 มิถุนายน 2545 เต็มวงเงิน 30,000 บาท วันที่ 13 สิงหาคม 2545 ผู้ประกันนำตัวจำเลยมาส่งศาลชั้นต้น และของดหรือลดค่าปรับ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ลดค่าปรับให้คงปรับเป็นเงิน 5,000 บาท แต่ผู้ประกันไม่ชำระ วันที่ 23 สิงหาคม 2545 โจทก์ฟ้องจำเลยในข้อหาเสพเมทแอมเฟตามีน จำเลยให้การรับสารภาพ ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาในวันเดียวกันให้จำคุกจำเลย 6 เดือน และปรับ 5,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ 2 ปี คดีถึงที่สุดแล้ว
วันที่ 20 ธันวาคม 2556 ผู้ร้องยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นว่า เมื่อเดือนพฤษภาคม 2556 ศาลชั้นต้นตั้งคณะทำงานปลดทำลายสำนวนและเอกสาร เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบตรวจพบว่า คดีนี้ยังไม่ได้ดำเนินการบังคับคดีเอาแก่ผู้ประกัน จึงส่งสำนวนให้งานบังคับคดีตรวจสอบ ปรากฏว่าล่วงเลยระยะเวลาบังคับคดี 10 ปี แล้ว ผู้ร้องเห็นว่า มีพฤติการณ์พิเศษและเหตุสุดวิสัย จึงขอให้ศาลชั้นต้นสั่งอนุญาตให้ขยายระยะเวลาบังคับคดีออกไปอีก 3 ปี นับแต่วันครบกำหนด
ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้วมีคำสั่งว่า เหตุที่ผู้ร้องไม่อาจบังคับคดีผู้ประกันได้ภายในเวลาที่กำหนด เกิดขึ้นในส่วนงานของผู้ร้องเอง กรณีจึงไม่มีพฤติการณ์พิเศษและเหตุสุดวิสัยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 23 จึงไม่อนุญาต ให้ยกคำร้อง
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่ผู้ร้องฎีกาว่า การบังคับคดีตามสัญญาประกันตามคำร้องเป็นกระบวนการพิจารณาทางอาญาโดยแท้ ผู้ร้องในฐานะเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของผู้ประกันจึงมีสิทธิขอบังคับคดีเอาจากหลักประกันเมื่อใดก็ได้โดยไม่ต้องอยู่ในบังคับเวลาสิบปีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งนั้น เห็นว่า ความรับผิดตามสัญญาประกันเป็นความรับผิดทางแพ่ง และค่าปรับที่ศาลสั่งให้ผู้ประกันชำระกรณีผิดสัญญาประกันก็เข้าลักษณะเป็นเบี้ยปรับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 379 ดังนั้น เมื่อศาลมีคำสั่งปรับผู้ประกัน และออกหมายแจ้งคำสั่งให้ผู้ประกันชำระค่าปรับภายใน 30 วัน การที่ผู้ร้องจะใช้สิทธิบังคับคดีย่อมต้องอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 271 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ซึ่งกำหนดให้เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาชอบที่จะร้องขอให้บังคับคดีได้ภายในสิบปีนับแต่วันที่มีคำพิพากษาหรือคำสั่ง หาใช่ว่าจะมีสิทธิขอบังคับคดีเมื่อใดก็ได้โดยไม่มีเวลาจำกัดดังที่ผู้ร้องฎีกา ฎีกาของผู้ร้องข้อนี้ฟังไม่ขึ้น ส่วนที่ผู้ร้องฎีกา กรณีมีเหตุสุดวิสัยที่ผู้ร้องจะขอขยายระยะเวลาการบังคับคดีตามสัญญาประกันนั้น เห็นว่า เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงซึ่งศาลอุทธรณ์ภาค 2 ได้วินิจฉัยข้อเท็จจริงดังกล่าวไว้โดยชอบด้วยเหตุผลแล้ว ศาลฎีกาจึงไม่รับคดีไว้พิจารณาพิพากษา ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 23 วรรคหนึ่ง
พิพากษายืน