แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การแสดงเจตนาลวงที่จะเป็นเหตุทำให้เป็นโมฆะตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 118 นั้น ต้องเป็นการแสดงเจตนาที่ทำขึ้นโดยความประสงค์ร่วมกันของคู่กรณีทั้งสองฝ่ายที่จะไม่ให้ผูกพันกัน การที่จำเลยที่ 1แสดงเจตนาทำนิติกรรมจดทะเบียนยกที่ดินให้จำเลยที่ 2 โดยแจ้งเท็จแก่เจ้าพนักงานที่ดินว่าสามีจำเลยที่ 1 ตายจำเลยที่ 1 ยังไม่มีสามีใหม่นั้น เป็นการแสดงเจตนาทำนิติกรรมยกที่ดินให้กันจริง ไม่ปรากฏว่าได้แสดงเจตนาลวงด้วยสมรู้กับคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งแต่อย่างใดจึงไม่เป็นโมฆะ
จำเลยที่ 1 เคยทวงถามเงินกู้จากผู้กู้หลังจากเจ้ามรดกตายโดยยอมลดจำนวนเงินกู้ให้ หรือให้ผู้กู้เปลี่ยนเป็นกู้จำเลยที่ 1 แทนแต่ผู้กู้ไม่ยอม และเมื่อโจทก์ซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกขอให้ส่งมอบสัญญากู้เงินดังกล่าวให้ จำเลยที่1 บิดพลิ้วโดยขอหักเป็นค่าทำศพเจ้ามรดกรูปเรื่องน่าจะเป็นเพราะจำเลยที่ 1 ในฐานะทายาทเข้าใจว่าตนมีสิทธิจะทำได้ และเป็นการใช้สิทธิขอหักกลบลบหนี้ ไม่พอฟังว่าปิดบังหรือยักย้ายทรัพย์มรดก
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นทายาทและเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย จำเลยที่ 1 เป็นภริยาใหม่ของผู้ตาย ผู้ตายถึงแก่ความตายโดยมิได้ทำพินัยกรรมไว้ มีทรัพย์มรดกหลายรายการที่จำเลยที่ 1 ปิดบังซ่อนเร้นไม่ยอมส่งมอบเข้ากองมรดก และบางรายการได้โอนให้แก่จำเลยที่ 2 ไปแล้ว จึงขอให้จำเลยที่ 1 ส่งมอบทรัพย์มรดกแก่โจทก์ ให้เพิกถอนนิติกรรมการจดทะเบียนยกให้ที่ดินระหว่างจำเลยที่ 1กับจำเลยที่ 2 และให้จำเลยทั้งสองส่งมอบที่ดินดังกล่าวแก่โจทก์เพื่อนำเข้ากองมรดก กับพิพากษาว่าจำเลยที่ 1 เป็นทายาทที่ถูกกำจัดไม่ให้รับมรดก
จำเลยทั้งสองให้การว่า ทรัพย์ที่โจทก์ฟ้องบางรายการเป็นสินส่วนตัวของจำเลยที่ 1 ทรัพย์ที่เป็นเงินฝากธนาคาร จำเลยที่ 1 ได้เบิกมาใช้ในการจัดงานศพของเจ้ามรดกหมดแล้ว ส่วนที่ดินที่โอนให้จำเลยที่ 2 นั้นเป็นที่ดินของจำเลยที่ 1 ยกให้จำเลยที่ 2 โดยเจ้ามรดกรู้เห็นยินยอม จำเลยที่ 1 มิได้ซ่อนเร้นหรือยักย้ายทรัพย์มรดก ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ส่งมอบที่ดินโฉนดที่ 818 พร้อมด้วยโฉนด และสัญญากู้เงินตามฟ้องให้แก่โจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดก คำขอนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายว่า ปัญหามีว่า จำเลยทั้งสองแจ้งเท็จต่อเจ้าพนักงานที่ดินในการที่จำเลยที่ 1 ทำนิติกรรมจดทะเบียนยกที่ดินโฉนดเลขที่ 8450 ให้จำเลยที่ 2 ว่านายผ่อน ยวงเกตุ สามีจำเลยที่ 1 ถึงแก่ความตาย จำเลยที่ 1 ยังไม่มีสามีใหม่ แต่ขณะนั้นนายอินเป็นสามีจำเลยที่ 1 และยังมีชีวิตอยู่ เป็นการแสดงเจตนาลวงต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ เพื่อให้เข้าใจผิด ซึ่งความจริงไม่เป็นเช่นนั้น นิติกรรมการให้เป็นโมฆะหรือไม่ ข้อนี้เห็นว่า การแสดงเจตนาลวงที่จะเป็นเหตุทำให้เป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 118 นั้น ต้องเป็นการแสดงเจตนาที่ทำขึ้นโดยประสงค์ร่วมกันของคู่กรณีทั้งสองฝ่ายที่จะไม่ให้ผูกพัน แต่กรณีการแสดงเจตนาทำนิติกรรมจดทะเบียนยกที่ดินโฉนดเลขที่ 8450 ให้จำเลยที่ 2 เป็นการแสดงเจตนาทำนิติกรรมยกที่ดินให้กันจริงโดยไม่ปรากฏว่าได้แสดงเจตนาลวงด้วยสมรู้กับคู่กรณีแต่อย่างใด การแสดงเจตนาทำนิติกรรมยกที่ดินให้ จึงไม่เป็นโมฆะ แต่ที่ดินโฉนดเลขที่ 8450 เป็นทรัพย์สินที่นายอินและจำเลยที่ 1 ได้มาระหว่างสมรส มิได้ระบุไว้เป็นสินเดิมหรือสินส่วนตัว จึงเป็นสินสมรสซึ่งนายอินและจำเลยที่ 1 ต่างมีส่วนเท่ากัน จำเลยที่ 1 ไม่มีอำนาจเอาส่วนของนายอินไปยกให้จำเลยที่ 2 โดยนายอินไม่ได้ให้ความยินยอม และปรากฏว่านายอินไม่ให้ความยินยอมแก่จำเลยที่ 1 ให้ยกส่วนของตนให้แก่จำเลยที่ 2นิติกรรมการยกให้ที่ดินโฉนดเลขที่ 8450 มีผลผูกพันเฉพาะส่วนของจำเลยที่ 1สำหรับส่วนของนายอินเป็นมรดกตกทอดแก่ทายาทโจทก์ฟ้องเรียกเข้ากองมรดกทั้งหมด ทางพิจารณาได้ความว่ากองมรดกมีสิทธิได้รับเพียงกึ่งหนึ่งเห็นสมควรให้กองมรดกได้รับไปตามสิทธิ แต่ไม่ปรากฏว่าที่ดินกึ่งหนึ่งส่วนใดเป็นมรดก ไม่อาจจะบังคับให้ส่งมอบได้
ปัญหาต่อมามีว่า จำเลยที่ 1 ปิดบังหรือยักย้ายทรัพย์มรดกตามคำขอท้ายฟ้องข้อ 2, 3, 4 และ 5 หรือไม่ กรณีสัญญากู้ตามคำขอท้ายฟ้องข้อ 2แม้จะฟังตามข้อนำสืบของโจทก์ว่า จำเลยที่ 1 เคยทวงถามเงินกู้จากผู้กู้หลังจากนายอินถึงแก่ความตายโดยยอมลดจำนวนเงินกู้ให้ หรือให้ผู้กู้เปลี่ยนสัญญากู้เป็นกู้จำเลยที่ 1 แทน น่าจะเป็นเพราะจำเลยที่ 1 ในฐานะทายาทเข้าใจว่าตนมีสิทธิจะทำได้ ที่โจทก์อ้างว่า เมื่อทนายโจทก์ขอให้ส่งมอบสัญญากู้เงินดังกล่าวและโฉนดที่ดินที่วางประกัน จำเลยที่ 1บิดพลิ้วขอหักเป็นค่าทำศพรูปเรื่องเป็นการใช้สิทธิขอหักกลบลบหนี้กับค่าใช้จ่ายจัดการทำศพที่จำเลยที่ 1 จ่ายไป ไม่พอฟังว่าปิดบังหรือยักย้ายทรัพย์มรดก
พิพากษาแก้เป็นว่า ที่ดินโฉนดที่ 8450 กึ่งหนึ่งเป็นมรดกของเจ้ามรดกให้เพิกถอนนิติกรรมการยกให้ที่ดินแปลงนี้ระหว่างจำเลยที่ 1 กับที่ 2 ในส่วนที่เป็นมรดก นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์