คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14399-14401/2553

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยเป็นสมาคมที่มิได้แสวงหากำไรทางเศรษฐกิจ จึงนำค่าชดเชยมาตรา 118 ถึงมาตรา 122 ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาบังคับใช้กับการเลิกจ้างโจทก์ทั้งสามไม่ได้ กฎกระทรวงดังกล่าวได้-บัญญัติยกเว้นเฉพาะ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 เท่านั้น มิได้บัญญัติยกเว้นกรณีจำเลยหรือนายจ้างซึ่งลูกจ้างทำงานที่มิได้แสวงหากำไรในทางเศรษฐกิจไม่ต้องชดใช้ค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 49 โจทก์ทั้งสามจึงฟ้องเรียกให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมได้

ย่อยาว

คดีทั้งสามสำนวนนี้ศาลแรงงานกลางสั่งให้รวมพิจารณาเป็นคดีเดียวกัน โดยให้เรียกโจทก์ทั้งสามสำนวนว่า โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 ตามลำดับและเรียกจำเลยทั้งสามสำนวนว่า จำเลย
โจทก์ทั้งสามสำนวนฟ้องและแก้ไขคำฟ้องเป็นใจความทำนองเดียวกัน ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชยจำนวน 65,000 บาท 60,000 บาท และ 16,500 บาท สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจำนวน 6,500 บาท 6,000 บาท และ 5,500 บาท ค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมจำนวน 390,000 บาท 360,000 บาท และ 330,000 บาท แก่โจทก์ทั้งสามตามลำดับ
จำเลยให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมแก่โจทก์ที่ 1 และที่ 2 คนละ 120,000 บาท แก่โจทก์ที่ 3 จำนวน 20,000 บาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฏีกาวินิจฉัยว่า พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 4 วรรคหนึ่งและวรรคสอง บัญญัติว่า “พระราชบัญญัตินี้มิให้ใช้บังคับแก่….นอกจากกรณีตามวรรคหนึ่ง จะออกกฎกระทรวงมิให้ใช้บังคับตามพระราชบัญญัตินี้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วนแก่นายจ้างประเภทหนึ่งประเภทใดก็ได้” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคมออกกฏกระทรวง (พ.ศ. 2541) ออกตามความในพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2541 ข้อ (3) ว่า “มิให้ใช้บทบัญญัติมาตรา … หมวด 11 ค่าชดเชย ตั้งแต่มาตรา 118 ถึงมาตรา 122 … บังคับแก่นายจ้างซึ่งจ้างลูกจ้างทำงานที่มิได้แสวงหากำไรในทางเศรษฐกิจ” เมื่อศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยเป็นสมาคมที่มิได้แสวงหากำไรในทางเศรษฐกิจ จึงนำค่าชดเชยมาตรา 118 ถึงมาตรา 122 ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาบังคับใช้กับการเลิกจ้างโจทก์ทั้งสามไม่ได้ กฎกระทรวงดังกล่าวได้บัญญัติยกเว้นเฉพาะพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 เท่านั้น มิได้บัญญัติให้ยกเว้นกรณีจำเลยหรือนายจ้างซึ่งลูกจ้างทำงานที่มิได้แสวงหากำไรในทางเศรษฐกิจไม่ต้องชดใช้ค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 49 ทั้งการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมกับการจ่ายค่าชดเชยเป็นคนละกรณีและบทบัญญัติของกฎหมายบัญญัติต่างหากจากกันเช่นนี้ ลูกจ้างจะได้ค่าชดเชยหรือไม่พิจารณาตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 118 และมาตรา 119 ส่วนการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมพิจารณาตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 49 เมื่อไม่มีกฎหมายบัญญัติจำกัดสิทธิของโจทก์ทั้งสามที่มีอยู่ตามกฎหมายและการแปลความกฎหมายให้เป็นการจำกัดสิทธิของโจทก์ทั้งสามย่อมไม่ชอบ ดังนั้น กฎกระทรวง (พ.ศ. 2541) ออกตามความในพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ลงวันที่ 19 สิงหาคม 2541 ข้อ (3) นำมาใช้บังคับกับการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 49 ไม่ได้ โจทก์ทั้งสามจึงฟ้องเรียกให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมได้ ที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยในประเด็นนี้มานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share